โลกใบนี้มีเรื่องมากมายที่คนๆ หนึ่ง หรือ คนเพียงหนึ่งคนไม่สามารถจะสะสางสร้างทำบางสิ่งบางอย่างโดยลำพังได้ ซึ่งการจะผลักดันสิ่งที่ทำคนเดียวไม่ได้ ให้เป็นไปได้!… ย่อมต้องอาศัยการร่วมแรงจากคนอื่น ซึ่งคนอื่นที่สนใจจะร่วมแรงก็จะมีกลไกการตัดสินใจส่วนตัวในประเด็นที่ต้อง “ร่วมมือ” เพื่อสะสางเป้าประสงค์ หรือ Objective ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด โดยมักจะมีทางเลือก หรือ ตัวเลือกของการตัดสินใจภายใต้กรอบเกณฑ์ หรือ Criteria Framework เป็นกรอบเดียวกัน
ในชีวิตจริง… การตัดสินใจร่วมกันเกิดขึ้นตลอดเวลาบนความสัมพันธ์ของทุกคนที่มีสายสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันเสมอ เช่นเรื่องการตัดสินใจร่วมกันของพ่อแม่ลูกในการเลือกร้านอาหาร/เมนูอาหาร… การทำงานร่วมกันของทีม ไปจนถึงการประชุมผู้ถือหุ้นที่มีหุ้นส่วนสองฝ่ายกำลังแข่งขันกันครอบครองกิจการ… รวมทั้งการประชุมพร้อมองค์ประชุมที่มาจากหลากหลายที่มา… ซึ่งการร่วมกันเสนอทางเลือก หรือ Alternative Choice เพื่อหาข้อสรุปเป็นทางเลือกที่ “ตัดสินใจตรงกัน” ที่ถือว่า “เป็นผลการตัดสินใจร่วมกัน” ด้วย
ประเด็นก็คือ… การตัดสินใจร่วมกันในระดับเลือกร้านอาหาร หรือ เลือกเมนูอันเป็นเพียงกิจวัตรรายคาบจะไม่มีอะไรซับซ้อนเหมือนการตัดสินใจร่วมกันในระดับองค์กร หรือ การหารือเพื่อตัดสินใจร่วมกันในระดับยุทธศาสตร์ต่างๆ ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวข้องบน “ผลประโยชน์” ทั้งของส่วนบุคคล และหรือ องค์กร ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันซับซ้อนกว่า
ธรรมเนียม หรือ Culture การตัดสินใจร่วมกันในระดับองค์กร หรือ ระดับยุทธศาสตร์ ซึ่งมีคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญ หรือ Key Persons หลายคนจนต้องใช้ “การสื่อสารแบบกลุ่ม และ การตัดสินใจแบบกลุ่ม” เป็นแนวทางหลักในการจัดการ ซึ่งจะเรียกว่าการประชุม หรือเรียกว่าการหารือก็ตามแต่… สุดท้ายที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้ไปคือ “ทางเลือก” ที่คนส่วนใหญ่ในกลุ่ม “ตัดสินใจเลือกร่วมกัน หรือ เหมือนกัน” ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด “มักจะต้องยอมรับ” ผลการตัดสินใจนั้นโดยปริยายเสมอ
ปัญหาก็คือ… ผลการตัดสินใจแบบกลุ่ม โดยเฉพาะผลการตัดสินใจร่วมกันในหลายกรณีไม่ได้จบลงง่ายเหมือนการเลือกร้านอาหาร และ บ่อยครั้งที่กลุ่มไม่สามารถตัดสินใจอะไรตอนนั้นได้ ซึ่งก็มักจะกระทบ “ผลประโยชน์” ของฝ่ายที่ตั้งความหวังกับผลการตัดสินใจในวาระนั้นไว้อย่างสำคัญ
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ… วาระการตัดสินใจแบบกลุ่ม หรือ ประเด็นการตัดสินใจร่วมกันมักจะเกี่ยวข้องกับ “ผู้นำกลุ่ม” ไม่ว่าจะนำในบทบาทผู้นำ หรือแม้แต่นำในบทบาทแต่งตั้งเฉพาะกรณี อย่างการถูกมอบหมายให้เป็นประธานในที่ประชุมบางวาระ… ซึ่งถือเป็นผู้นำในการหาข้อสรุปจากการตัดสินใจร่วมกัน โดยผลลัพธ์การตัดสินใจมักนำไปสู่ความสำเร็จ หรือ ล้มเหลว หรือแม้กระทั่งเลื่อนเวลาที่จะล้มเหลวออกไป… และถือเป็นผลงานของผู้นำการผลิต “ผลการตัดสินใจร่วมกัน” ในวาระนั้นด้วย
การเป็นประธานในที่ประชุม หรือ แม้แต่การเป็นผู้บริหารระดับบนในองค์กรโดยไม่ใส่ใจ “ผลการตัดสินใจร่วมกัน” ทั้งภายในทีม หรือ ในองค์กรของตน และ ทั้งกับคู่ค้าหรือพันธมิตรนอกองค์กร… ซึ่งต้อง “อำนวย” โอกาสให้เกิดการตัดสินใจที่ทีม หรือ องค์กรได้รับโอกาส และ ผลประโยชน์ที่ดีที่สุด ให้ได้มากที่สุด!
ศาสตร์ที่ว่าด้วยการตัดสินใจแบบกลุ่ม และ การผลักดันผลการตัดสินใจร่วมกัน… ถือเป็นศาสตร์ที่มีการใช้ศิลปะการสื่อสารชั้นสูง และ การบริหารความสัมพันธ์ขั้นเทพ แทรกอยู่ในทุกบริบท ซึ่งละเอียดอ่อนและต้องการทักษะทางอารมณ์ หรือ Soft Skills ประกอบการสื่อสารและสายสัมพันธ์เสมอ
ส่วนเทคนิค… เครื่องมือ และ ร้อยอันพันอย่างที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันผลการตัดสินใจร่วมกัน ขอข้ามไปโอกาสหน้าครับ!
References…