sharing knowledge

Collaborative Learning

ปี 2020 เป็นปีที่ “ระบอบการศึกษาดั้งเดิม” ถูกท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่มีโครงข่าย Internet เป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนแปลง เราได้เห็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ เข้ากับการเรียนการสอน จนเห็นแนวทางที่ “ระบบการศึกษา” ในปัจจุบัน จะเปลี่ยนและแปรสภาพไปในทิศทางไหน

ซึ่งข้อสรุปเรื่องทิศมุ่งและทางไปย่อมหนีไม่พ้น Internet และ Contents นั่นเอง… แต่รูปแบบการพัฒนาและประยุกต์ใช้ “ระบบการศึกษา” จากนี้ไป… การผสม หรือ Blended ภายในระบบการศึกษาใหม่ ที่กำลังจะขับเคลื่อนสังคมโลกไปสู่ระบอบการศึกษาใหม่ จึงจำเป็นต้องพึ่งวิสัยทัศน์และจินตนาการของนักการศึกษารุ่นเรา… รุ่นที่รับผิดชอบการเปลี่ยนแปลงตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ที่กำลังร่อนเอา “ทรัพยากรทางการศึกษาที่สำคัญ” แยกออกมาจาก “ทรัพยากรที่ขาดคุณสมบัติหรือหมดอายุใช้งาน” เพื่อลดพลังงานที่ต้องใช้ในการเปลี่ยนแปลง

ประเด็นเรื่อง Internet ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของหลายสิ่ง… ทิศทางและพัฒนาการคงมีแต่ดีขึ้น ทรงประสิทธิภาพขึ้น ครอบคลุมแบ่งปันได้ทั่วถึงมากขึ้น จนความเลื่อมล้ำด้านโครงข่ายอินเตอร์เน็ตพื้นฐาน เหลือเพียงประเด็นทางเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ เหมือนปัญหาไฟฟ้าดับเพราะต้นไม่ใหญ่ล้มทับหม้อแปลงไฟฟ้าใกล้บ้าน… มากกว่าจะเป็นปัญหาเชิงนโยบายแบบ มีหรือไม่มี กับ คิดจะทำให้มี หรือไร้ปัญญาจะทำให้มี… อะไรทำนองนี้

ส่วนประเด็น Contents หรือ Education Contents รวมทั้งระบบจัดการ Contents ตั้งแต่ผลิต–แจกจ่าย–นำใช้ ที่นักการศึกษาและนักวิชาการส่วนหนึ่งเพิ่งจะตื่นมาเจอความจริงว่า… Education Contents ที่มีอยู่… ช่างดูเข็ญใจเกินกว่าจะขับเคลื่อนการศึกษาบนแกนของเทคโนโลยีอย่างที่คิดฝันหรือวางแผนได้… และแนวคิดเพื่อสร้างทางเลือกและทางลัด ตรงเข้าหาทรัพยากรทางการศึกษาที่เป็น Contents หรือ Digital Contents จึงถูกคิดขึ้นหลายแนวทาง 

การปัดฝุ่นต่อยอดแนวคิดของวีกอตสกี หรือ Lev Vygotsky ว่าด้วย Zone of Proximal Development หรือ ZPD ซึ่งเป็นแนวทางเชิงจิตวิทยาสังคมที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมพัฒนาการ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ… การเรียนรู้ผ่านพื้นที่การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเมื่อคนสองคน หรือหลายคนมาเจอกัน

Center for Teaching Innovation ของ Cornell University ได้เผยแพร่แนวคิดเรื่อง Collaborative Learning หรือ Peer Learning หรือ Peer Instruction ที่มองการขับเคลื่อนระบบการศึกษา ผ่านการเลือกพันธมิตรและกลุ่ม ที่มีจุดร่วมด้านการศึกษา ทั้ง “จุดร่วมด้วยแกนปัญหา และ จุดร่วมด้วยแกนโอกาส”

Center for Teaching Innovation ของ Cornell University อ้างงานวิจัยที่ทำในนักศึกษาผ่านโมเดล Peer Instruction ด้วยระเบียบวิธีวิจัย ในการให้นักศึกษาจับคู่ หรือเข้ากลุ่มย่อยเพื่อเรียนรู้ผ่านการจัดการปัญหา… ซึ่งวิธีการที่นักศึกษาช่วยกันทำความเข้าใจประเด็นที่คลาดเคลื่อนให้ถูกต้องโดยการสอนและเรียนรู้จากกัน หรือเรียนรู้ร่วมกัน หรือผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน… มีประโยชน์มากมายต่อกลไกการเรียนรู้ เช่น

  • ได้พัฒนาความคิดระดับสูง หรือ Higher-level Thinking… พัฒนาทักษะการสื่อสารด้วยการพูดคุยสนทนา หรือ Oral Communication Skill… การจัดการตนเอง หรือ Self-management และ ทักษะผู้นำ หรือ Leadership Skills
  • ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับคณาจารย์
  • รักษาจำนวนนักศึกษาไว้กับหลักสูตรได้มากขึ้น… นักศึกษารู้สึกภูมิใจเห็นคุณค่าตัวเอง หรือ มี Self-esteem… และมีความรับผิดชอบ
  • เปิดรับและเข้าใจมุมมองที่หลากหลาย
  • มีความพร้อมด้านสังคมและการจ้างงานในชีวิตจริง

เอกสารของ Cornell University มีข้อเสนอแนะในประเด็นที่ควรพิจารณาร่วมกัน เมื่อต้องสร้างบรรยากาศ Collaborative Learning ได้แก่

  • แนะนำภาระงานตั้งแต่ต้นเทอม เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าคู่หรือจัดกลุ่มให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมาย
  • กำหนดหลักเกณฑ์พื้นฐาน   สำหรับการมีส่วนร่วมและการเข้าร่วม
  • วางแผนขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน หรือมี Action Plan ที่ปฏิบัติได้ และอาจมีการนำซอฟท์แวร์ประเภท Task Management มาแนะนำให้นักศึกษาได้นำไปใช้บริหารเป้าหมายตามแผน
  • อธิบายให้นักศึกษาเข้าใจอย่างถี่ถ้วนว่า กลุ่มหรือการอภิปรายในกลุ่ม จะดำเนินการอย่างไรและประเมินให้คะแนนนักศึกษาอย่างไร
  • ช่วยเหลือนักศึกษาในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นเพื่อให้ประสบความสำเร็จ เช่นใช้แบบฝึกการสร้างทีม หรือ Team-building Exercises… รวมทั้งแนะนำเทคนิคการประเมินสะท้อนตนเอง หรือการฝึกทำ Self-reflection ที่จำเป็นทั้งต่อการประเมินตนเอง และการ Feedback เพื่อนในกลุ่ม
  • พิจารณาใช้แนวปฏิบัติที่เป็นข้อตกลงแบบลายลักษณ์อักษร หรือมีเอกสารอ้างอิงแนวทาง ไม่ตกลงปากเปล่า
  • เปิดเวทีให้มีการประเมินตนเอง หรือ   Self -assessment  และ  การประเมินจากเพื่อนในกลุ่ม หรือ Peer  Assessment

ที่สรุปมาทั้งหมดเกี่ยวกับ Collaborative Learning หรือ Peer-to-Peer Learning ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีและพัฒนามาหลายสิบปีแล้วเช่นกัน และการนำใช้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ผ่านการทำโครงการ หรืองานกลุ่ม ก็มีกลิ่นอายของ Collaborative Learning ในมิตินี้อยู่แล้ว… ส่วนมากน้อยแหลมคมอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับครูอาจารย์เป็นส่วนใหญ่ 

ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… โจทย์เรื่องระบอบและระบบการศึกษาที่ผมเกริ่นนำในตอนต้น… เป็นคนละประเด็นกันกับการผลักดันให้นักศึกษารวมตัว ช่วยเหลือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกันมาก… โดยเฉพาะประเด็น “ช่วยเหลือนักศึกษาในการพัฒนาทักษะที่จำเป็น” ให้สมาชิกกลุ่มที่นักศึกษาสร้างขึ้น มีศักยภาพเพียงพอในการพัฒนาโอกาสการเรียนรู้ที่เชื่อมั่นได้… องค์กรการศึกษา หรือ มหาวิทยาลัยต้อง “จัดเตรียมทรัพยากรในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้นักศึกษา” ก่อนอื่น

ซึ่งในเบื้องต้น… Contents ด้านการศึกษาที่จำเป็นอย่าง บทเรียนดิจิตอล และคู่มือการใช้งานเครื่องมือ Digital Collaborative Learning และการฝึกอบรม Soft Skills ในฐานะ Peer Learning Member… และทรัพยากรอื่นๆ ที่ส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ ที่พัฒนาเข้าหาดิจิตอล และ eLearning เต็มรูปแบบในเวลาอันใกล้นี้

ประเด็นที่ผมพูดถึง จึงเป็นการจับคู่ หรือรวมกลุ่มขององค์กรการศึกษาระดับสถาบัน เพื่อทำ Learning Resource Sharing หรือ LRS ในหลายๆ มิติ… ตอนหน้ามาตามดูรายละเอียดและแนวทางด้วยกันครับ!

อ้างอิง

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts