ทำของขาย… ทางออกแสนธรรมดาของคนขยันแบบไม่อายทำกิน และไม่หมิ่นเงินน้อย… ยังคงเป็นทางออกให้ทุกคนที่ต้องการทางออก ได้กำหนดจุดเริ่มต้นการเดินทางรอบใหม่ของอาชีพการงาน ที่หมายถึง แหล่งรายได้หมุนเวียนหล่อเลี้ยง ซึ่งจำเป็นสำหรับภาพในหัวของวันพรุ่งนี้ และวันถัดๆ ไปจากวันพรุ่งนี้ ที่คนส่วนใหญ่เรียกรวมๆ ว่าอนาคตก็ได้…
อาชีพการงานก็เหมือนแสงนำทางชีวิต และการทำของขายก็เป็นแสงนำทางที่สว่างไสวทรงพลังได้ เท่าๆ กับพลังกายพลังใจที่คนทำทุ่มเทเสมอ… ทุ่มเทมากก็สว่างโชติช่วงมาก… เพียงแต่การทุ่มเทดังว่า จำเป็นต้องทุ่มและเททั้งแรงกาย แรงใจและสติปัญญา…
และบทความชุดวิสาหกิจชุมชนและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ผมตั้งใจรวบรวมและเรียบเรียงพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับ การทำของขายในแนวทางอุตสาหกรรมในครอบครัว และในระดับวิสาหกิจชุมชนเป็นพื้นครับ… และตั้งใจเขียนตามข้อมูลอ้างอิงซึ่งออกแนววิชาการมากหน่อย เพื่อให้มีหลักวิชาบวกสาระและไอเดียตามความเหมาะสม… และบทความจำเป็นต้องนำเสนอแบบหลายตอน ต่อเนื่องทุกวันเสาร์ อ้างอิงตำราวิสาหกิจชุมชนจากผู้เชี่ยวชาญและครูอาจารย์หลายท่านที่ทำผลงานน่าสนใจเผยแพร่ไว้
คำว่า “วิสาหกิจชุมชน” ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 หมายถึง กิจการของ ชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการหรือบริการอื่นๆ ที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกัน และรวมตัวกันประกอบกิจการดังกล่าว ทั้งในรูปนิติบุคคลและไม่ใช่นิติบุคคล เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชนและระหว่างชุมชน ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนประกาศกำหนด
งานบริการวิชาการจากบทเรียนออนไลน์ชื่อ การจัดการผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ของอาจารย์ลำใย นียาทองหลาง ได้อธิบายลักษณะของวิสาหกิจชุมชนไว้ว่า
- ชุมชนหรือคนในชุมชนเป็นเจ้าของ โดยอาจมีคนนอกมีส่วนร่วมด้วยจากการถือหุ้นเพื่อการมีส่วนร่วม ร่วมมือ และให้ความช่วยเหลือ แต่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ
- ผลผลิตมาจากกระบวนการในชุมชน อาจนำวัตถุดิบมาจากภายนอกบ้างแต่เน้นการใช้ทรัพยากร ในท้องถิ่นให้มากที่สุด
- ริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นนวัตกรรมของชุมชน เพื่อการพัฒนาศักยภาพของชุมชน ซึ่งมีความรู้ภูมิปัญญา หากมีกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสม เกิดมีความเชื่อมั่นในตนเอง ก็จะริเริ่ม สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ด้วยตนเอง
- มีการประยุกต์ใช้ฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ทันสมัย ผสมผสานกับความรู้ภูมิปัญญาสากล จากที่อื่น
- มีการดำเนินการแบบบูรณาการเชื่อมโยงกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ แต่เป็นกิจกรรม ประสานผนึกกำลัง และเกื้อกูลกัน
- มีกระบวนการเรียนรู้เป็นหัวใจหลัก กล่าวคือ วิสาหกิจชุมชนจะต้องมีการเรียนรู้ การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ
- มีการพึ่งพาตนเองเป็นเป้าหมาย กล่าวคือ วิสาหกิจชุมชนมีเป้าหมายหลักที่สำคัญที่สุด คือให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้
นอกจากนั้น บทเรียนออนไลน์ชื่อ การจัดการผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ของอาจารย์ ลำใย นียาทองหลาง ยังแบ่งประเภทของวิสาหกิจชุมชน ตามการประกอบกิจการเป็นหลัก และ ยังแบ่งตามระดับการจัดการและขั้นตอนการประกอบการหรือพัฒนาสินค้าของวิสาหกิจชุมชน
โดยการแบ่งตามลักษณะการประกอบกิจการ จะได้… วิสาหกิจชุมชนพื้นฐาน ที่เป็นการผลิตเพื่อใช้ในท้องถิ่นเป็นหลัก หรือทำที่ไหนกินใช้ซื้อขายที่นั่น… และ วิสาหกิจชุมชนก้าวหน้า หรือ วิสาหกิจชุมชนที่สามารถนำผลผลิตออกสู่ตลาดใหญ่ มีเอกลักษณ์ท้องถิ่น เป็นลักษณะเฉพาะตัว มีคุณภาพระดับมาตรฐานสามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ทั่วไปได้ เช่น สินค้า OTOP ถือเป็นวิสาหกิจชุมชนก้าวหน้า
ส่วนการแบ่งตามระดับการจัดการ และ ขั้นตอนการประกอบการของวิสาหกิจชุมชน ได้แก่… วิสาหกิจระดับครอบครัว และ วิสาหกิจระดับชุมชนและเครือข่าย ซึ่งเป็นวิสาหกิจที่สมาชิกร่วมประกอบกิจการจากหลายๆ ครอบครัว
ประเด็นทุน… ทุนของวิสาหกิจชุมชนจะมีทั้งทุนที่เป็นเงินทุน และ ทุนที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญา ความรู้ วัฒนธรรม และพลังความเป็นพี่น้องและความไว้วางใจกันของสมาชิกชุมชน… โดยชุมชนวิสาหกิจจะใช้ทุนตนเองก่อตั้งเป็นหลัก… ส่วน “เงินทุน” เพิ่มเติมส่วนใหญ่จะอยู่ในความดูแลของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย หรือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือแม้แต่กองส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร… ซึ่งอาจจะรวมถึงสินเชื่อที่รัฐค้ำประกันตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์จากสถาบันการเงินด้วย
จุดใหญ่ใจความมีอยู่ว่า… วิสาหกิจชุมชนก็คือหน่วยธุรกิจหน่วยหนึ่ง ที่ยึดการผลิตเป็นหลัก… แต่ก็จำเป็นต้องหาหลักการตลาดให้ผลผลิตด้วยเหมือนกัน… ซึ่งห่วงโซ่การจัดการวิสาหกิจชุมชนที่ว่านี้ แท้จริงแล้วไม่ได้แตกต่างไปจากการประกอบกิจการของ SMEs เลยแม้แต่น้อย… โดยเฉพาะการขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชนที่ต้องการให้ยั่งยืน คุ้มค่าหรือแม้แต่เติบโตไปสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชนก้าวหน้า ออกสู่ตลาดภายนอกได้อย่างแท้จริง… และมีกำไร!!!
การจัดการวิสาหกิจชุมชน จึงต้องมีการวางแผนทุกขั้นตอนไม่ต่างจาก SMEs ตั้งแต่การผลิต… การสร้างห่วงโซ่คุณค่าที่เชื่อมโยงโซ่ทุกข้อเข้ากับผู้คนและพลังของชุมชนทั้งหมด… เพื่อให้ผลผลิตของชุมชน เปลี่ยนเป็นวงจรเศรษฐกิจ สร้างการเปลี่ยนไปสู่จุดที่เรียกว่า… อยู่ดีกินดีกว่าเดิมยิ่งๆ ขึ้นไป
เสาร์หน้าผมจะพาย้อนไปดู… การขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชนและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ที่ภาครัฐเคลื่อนไหวผลักดันมานานตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20… จนกลายเป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 และ คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน… เพื่อฉายภาพ “ลมใต้ปีก” สำหรับหลายๆ ท่านที่กำลังหันซ้ายหันขวา ท่ามกลางความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อนและคลุมเครือ หรือ VUCA อย่างยิ่งในห้วงเวลาที่… โควิด 19 ก็ยังวนเวียนไปได้ไปไหนไกล… ในขณะที่เศรษฐกิจขาลงก็ยังหาพื้นแข็งๆ ให้กระดอนกลับไม่ได้
ในทัศนของผมมองว่า… นี่หล่ะจังหวะดีงามของการเริ่มธุรกิจเล็กๆ หรือธุรกิจประเภท “ทำของขาย” แบบเน้นใช้ทักษะและภูมิปัญญา
โปรดติดตามและแบ่งปันแชร์ต่อด้วยครับ!
อ้างอิง