Personalized Education

Competency Based Assessment And Personalized Learning… ทดสอบและเรียนรู้แบบปรับเหมาะเฉพาะคน #ReDucation

ข้ออ้างเรื่อง “ความไม่พร้อม” อันถือเป็นปัญหาอุปสรรคของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ตั้งแต่ปัญหาเด็กและผู้ปกครองขาดแคลน… ครูอาจารย์ขาดทักษะ โดยเฉพาะทักษะดิจิทัลขั้นประยุกต์ รวมทั้งผู้บริหารกับนักการศึกษาที่ดูแลนโยบายและกำกับทิศทาง ซึ่งใช้ความไม่พร้อมมาผูกติดกับ “พัฒนาการ” แบบให้คนแข็งแรงถูกมัดติดกับคนเดินไม่ไหว แล้วเชื่อว่าจะเป็นธรรมกับคนอ่อนแอซึ่งควรได้โอกาสเดินไปพร้อมๆ กัน… ซึ่งก็ดีงามล้นเหลือที่คิดแบบนั้น แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่า… วิธีนั้นก็ไม่ได้แก้ปัญหาอื่นๆ ที่เหลืออีกมากเช่นกัน โดยเฉพาะ “การละเมิดโอกาสของคนที่พร้อม” 

โดยส่วนตัว… ผมเชื่อมานานแล้วว่า การจัดรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อ “สำเนาความรู้” ที่กำหนดไว้ไปให้ผู้เรียนทุกคนให้ได้เท่าๆ กันนั้นเป็นเรื่องยาก ซึ่งยากทั้งสาระ หรือ Contents และ ยากทั้งบริบท หรือ Context

John L. Holland เจ้าของทฤษฎี Person Environment Fit หรือ P-E Fit ซึ่งอธิบายถึง “ทางเลือก และ สภาพแวดล้อมที่อยากเลือกของผู้เรียน” ซึ่ง John L. Holland สำรวจวิจัยพบแนวโน้มที่ผู้เรียนจะเน้นการเลือกทักษะวิชาที่นำไปสู่ “การเลือกเรียนตามบุคลิกภาพ และ จุดมุ่งหมายการประกอบอาชีพ” จนพบแนวทางสำคัญแนวทางหนึ่งในบริบททางการศึกษาอิงจิตวิทยาการเรียนรู้ และ ถูกยกให้เป็นทฤษฎีการเรียนรู้หลักอีกหนึ่งแนวทางของศตวรรษนี้

การกำหนดหลักสูตรแบบ One Size Fit Alls เพื่อให้ผู้เรียนได้อะไรเหมือนๆ กัน… ซึ่งไม่ได้ง่ายจริงเหมือนทำแกงหนึ่งหม้อเพื่อให้ทุกคนกินอิ่มเท่าๆ กันโดยตักให้เท่าๆ กัน ทั้งๆ ที่มีคนตัวโตกินจุปนอยู่กับคนตัวเล็กกินน้อย แถมทุกคนมีลิ้นรับรสเผ็ดเค็มเปรี้ยวหวานไม่เหมือนกัน… จะให้ทุกคนอิ่มเหมือนกัน อร่อยเหมือนกัน และ ได้คุณค่าทางโภชนาการเท่าเทียมกันก็คงยาก

การเปิดประเด็นแนวทางการเรียนการสอนแบบปรับเหมาะเฉพาะคน หรือ Personalized Learning รวมทั้งการทำ Adaptive Learning เต็มระบบเพื่อให้การเรียนการสอนแบบปรับเหมาะเฉพาะคนเกิดขึ้นได้จริง จึงเป็นทางออกเดียวที่ “ดูดีที่สุด” ในวันที่เทคโนโลยีทางการศึกษามีเพียงพอ

Personalized Learning

ความเคลื่อนไหวในแนวทาง Adaptive Learning และ Personalized Learning ที่ชัดเจนที่สุดเท่าที่ข้อมูลในมือผมมีเป็นของ The National Association of State Boards of Education หรือ NASBE หรือ สมาคมการศึกษาแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ที่ผลักดันแนวคิดเทคโนโลยีการศึกษาผ่านวิสัยทัศน์ที่ระบุชัดเจนว่า จะต้อง… Delivering the right content to the right person at the proper time in the most appropriate way, any time, any place, any path, and any pace… ส่งมอบเนื้อหาสาระความรู้ให้ถูกคน ในเวลาที่เหมาะควร ด้วยวิธีที่เหมาะเจาะ ทุกเวลา ทุกสถานที่ ทุกแนวทางและทุกย่างก้าว… ซึ่งสั้นกระชับและชัดเจนในแบบวิสัยทัศน์ชั้นเลิศที่อธิบายทุกอย่างในตัวไว้หมดแล้ว… เพียงแต่ในรายละเอียดจะเป็นข้อมูลบนบริบททางการศึกษาของสหรัฐอเมริกาล้วนๆ ระดับข้อกฏหมายและนโยบายซึ่งเหมาะกับการทำรายงานศึกษาเชิงลึกมากกว่า ซึ่งผมขอข้ามรายละเอียด

ส่วนคำถามว่าควรจะเริ่ม Adaptive Learning และ Personalized Learning ตรงไหนและทำอย่างไร ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน… เพียงแต่ต้องเริ่มต้นที่ผู้เรียน ด้วยการเอา “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการเริ่มต้น” โดยเฉพาะการเริ่มจาก Persona ของผู้เรียน และ เอาใจใส่รายละเอียดของเส้นทางการศึกษาของผู้เรียนบนข้อเท็จจริงทั้งเชิงศักยภาพ และ เป้าประสงค์ของผู้เรียนโดยตรง พร้อมกับการใช้ “กรอบการประเมินตามความสามารถ หรือ Competency Based Assessment” ที่สอดคล้องเป็นธรรมกับ Persona ของผู้เรียน

การอ้างความเท่าเทียมทางการศึกษาอิงความไม่พร้อมเชิงทรัพยากรที่เกิดขึ้นในหลายบริบท… แต่ใช้กรอบการประเมินแบบเดียวโดยไม่สนใจโปรไฟล์ หรือ Profile ของผู้เรียน จึงเป็นการเอ่ยอ้างความเท่าเทียมโดยไม่ใส่ใจความเลื่อมล้ำที่สำคัญใหญ่หลวงที่เกิดบนกรอบการประเมินความรู้ ตั้งแต่เกณฑ์การให้คะแนนเก็บ ไปจนถึงการตัดเกรดส่งคะแนนออกเอกสารรับรองจบการศึกษา

สรุปว่า… สุดทางของการปฏิรูปการศึกษาที่ควรตั้งเป้ามากที่สุดคือการทำ Personalized Learning ให้หลักสูตรและบริบทการเรียนการสอนอ้างอิง Persona ของผู้เรียน… ซึ่งประเด็นความเป็นธรรมและความเท่าเทียมจะเกิดขึ้นหลังจากบริบททางการศึกษา “ถูกตีความใหม่” เพื่อไม่ให้คำว่า “ความเป็นธรรมและความเท่าเทียม” กลายเป็นอุปสรรคของการศึกษาเสียเอง โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้เรียนที่อ่อนไหวและด้อยโอกาสอยู่แล้ว… 

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts