CBL

Competency Based Learning… เปิดกว้างตามความสามารถของผู้เรียน #ReDucation

ทิศทางการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยที่กำลังผลักดันกันอยู่ตอนนี้… ชัดเจนแล้วว่าภายใต้การนำของคุณตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน ท่านเต็มที่กับ หลักสูตรฐานสมรรถนะ หรือ Competency Based Learning แม้จะเจอเสียงค้านและการต่อต้านสารพัดจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

ช่วงกลางเดือนสิงหาคม ปี 2021 ที่ผ่านมาก็ปรากฏข่าวความเคลื่อนไหวทักท้วงโดย “ชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์” ซึ่งประสานกับ “ชมรมครูภูธรแห่งประเทศไทย” ที่ข่าวว่ามีสมาชิกครูเป็นแสนที่พร้อมจะเคลื่อนไหวคัดค้านการปฏิรูปคราวนี้… โดยเฉพาะคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการที่ สพฐ.774/2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช…….(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ซึ่งไม่ปรากฏรายชื่อของผู้ใช้หลักสูตรโดยตรง เช่น ครูและบุคลากรทางการศึกษาอยู่ร่วมเป็นคณะกรรมการในสัดส่วนที่มากพอ เพื่อจะได้เสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรดังกล่าวให้เกิดประโยชน์มากที่สุด… ซึ่งหลายความเห็นมองว่าการจัดทำหลักสูตรแกนกลางในกรณีหลักสูตรฐานสมรรถนะ… คนคิดไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้คิด

โดยส่วนตัวผมเห็นด้วยกับพี่น้องครูที่ขอมีส่วนร่วมในฐานะคนอยู่หน้างาน… ซึ่งการเปิดกว้างอาจจะวุ่นวายล่าช้า แต่การเปลี่ยนแปลงคราวนี้ไม่มีเสียงค้านเรื่องประเด็นเป้าหมายที่การศึกษาหลักของชาติจะไป “หลักสูตรฐานสมรรถนะ หรือ Competency Based แทน หลักสูตรฐานสาระเนื้อหา หรือ Contents Based เท่าไหร่!

ข้อมูลในมือผมมีว่า… หลักสูตรฐานสมรรถนะของประเทศไทย จะกำหนดมาตรฐานสมรรถนะ หรือ Competency Standards ออกเป็น 2 มาตรฐาน คือ

  1. สมรรถนะหลัก หรือ Core Competency… มีลักษณะเป็นสมรรถนะข้ามวิชาหรือคร่อมวิชา คือเป็นสมรรถนะที่สามารถพัฒนาให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนได้ในสาระการเรียนรู้ต่างๆ ที่หลากหลาย หรือสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผู้เรียนให้เรียนรู้สาระต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น
  2. สมรรถนะเฉพาะทาง หรือ Specific Competency… เป็นสมรรถนะเฉพาะวิชา หรือ สาขาวิชาที่จำเป็นสำหรับวิชานั้นๆ

ซึ่งสมรรถนะทั้ง 2 ประเภทนั้น ไม่ว่าจะเป็นสมรรถนะหลัก หรือสมรรถนะเฉพาะ ต่างก็มีระดับตั้งแต่ง่ายไปยาก ซึ่งหลักสูตรจะกำหนดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แบบไต่ระดับ ไปตามระดับความสามารถของตน

คุณนรรัชต์ ฝันเชียร ได้เรียบเรียงรายละเอียดเบื้องต้นของข้อมูลหลักสูตรฐานสมรรถนะเผยแพร่ไว้ในเวบไซต์ trueplookpanya.com โดยชี้ให้เห็นจุดเด่นว่า… หลักสูตรฐานสมรรถนะมีจุดเด่นที่น่าสนใจอยู่หลายประการ เช่น

  1. ช่วยให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาสมรรถนะหลักที่สำคัญต่อการใช้ชีวิต การทำงาน และการเรียนรู้
  2. ช่วยให้เกิดการจัดการเรียนรู้ ที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะที่ต้องการ
  3. ช่วยลดสาระการเรียนรู้ที่ไม่จำเป็น อันส่งผลให้สถานศึกษามีพื้นที่และเวลาในการจัดการเรียนรู้อื่นที่เหมาะสมกับผู้เรียน วิถีชีวิตและชุมชนได้มากขึ้น
  4. ช่วยลดภาระและเวลาในการสอบตามตัวชี้วัดจำนวนมาก เพราะสามารถวัดและประเมินผลผู้เรียนด้วยการสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนที่แสดงให้เห็นถึงสมรรถนะหลัก

ส่วนกรอบสมรรถนะหลักของหลักสูตรฐานสมรรถนะ จะเป็นสมรรถนะขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนทุกคน ซึ่งจะเป็นสมรรถนะกลางที่เอื้อให้สถานศึกษาที่มีศักยภาพ… โดยในหลักสูตรฐานสมรรถนะ ได้กำหนดสมรรถนะหลักเบื้องต้นไว้ 10 สมรรถนะ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่ม 4 กลุ่ม คือ

1. คนไทยฉลาดรู้ หรือ Literate Thais  มี 4 สมรรถนะหลัก คือ

  1. ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร หรือ Thai Language for Communication
  2. คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน หรือ Mathematics in Everyday Life
  3. การสืบสอบทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์ หรือ Scientific Inquiry and Scientific Mind
  4. ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร หรือ English for Communication

2. ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร หรือ English for Communication

  1. ทักษะชีวิตและความเจริญแห่งตน หรือ Life Skills and Personal Growth
  2. ทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ หรือ Career Skills and Entrepreneurship

3. คนไทยสามารถสูง หรือ Smart Thais มี 2 สมรรถนะหลัก คือ

  1. ทักษะการคิดขั้นสูงและนวัตกรรม หรือ Higher Order Thinking Skills and Innovation
  2. การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล หรือ Media, Information and Digital Literacy หรือ MIDL

4. พลเมืองไทย ใส่ใจสังคม หรือ Active Thai Citizens มี 2 สมรรถนะหลัก คือ

  1. การทำงานแบบรวมพลัง เป็นทีม และมีภาวะผู้นำ หรือ Collaboration Teamwork and Leadership
  2. การเป็นพลเมืองตื่นรู้ที่มีสำนึกสากล หรือ Active Citizens with Global Mindedness

การนำหลักสูตรฐานสมรรถนะไปใช้… จะต้องดำเนินการผ่านการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะ หรือ Competency-Based Instruction หรือ CBI ที่มีลักษณะสำคัญ คือ เป็นการเรียนการสอนตามจุดประสงค์การเรียนรู้ เชิงสมรรถนะ หรือ Learning Competencies ที่สามารถสังเกตเห็นและวัดได้ ซึ่งการวัดและประเมินฐานสมรรถนะ จะเน้นการวัดผลการเรียนรู้จากการพฤติกรรมและการปฏิบัติ ที่สามารถแสดงออกให้เห็นถึงสมรรถนะนั้น ตามเกณฑ์ที่กำหนด

ส่วนแนวทางการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรฐานสมรรถนะ สามารถดำเนินการได้ 6 แนวทาง… ได้แก่

แนวทางที่ 1 : ใช้งานเดิม เสริมสมรรถนะ… เป็นการสอนตามปกติที่สอดแทรกสมรรถนะที่สอดคล้องกับการบทเรียนนั้นเข้าไป และ อาจปรับ หรือ สร้างสรรค์กิจกรรมต่อยอด เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาสมรรถนะนั้น

แนวทางที่ 2 ใช้งานเดิม ต่อเติมสมรรถนะ… เป็นการสอนตามปกติที่สอดแทรกสมรรถนะ ที่สอดคล้องกับการบทเรียนนั้นเข้าไป และ มีการเน้นสมรรถนะที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนใช้ความรู้ ทักษะได้จริงในสถานการณ์ที่หลากหลาย

แนวทางที่ 3 ใช้รูปแบบการเรียนรู้ สู่การพัฒนาสมรรถนะ… เป็นการสอนตามปกติที่มีการนำรูปแบบการเรียนรู้ที่ใช้เดิม มาวิเคราะห์เชื่อมโยงกับสมรรถนะที่สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนรู้และบทเรียน ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์พร้อมๆ กับการเกิดสมรรถนะ

แนวทางที่ 4 สมรรถนะเป็นฐาน ผสานตัวชี้วัด… เป็นการสอนโดยนำสมรรถนะและตัวชี้วัดที่สอดคล้องกัน มาออกแบบการสอนร่วมกัน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทั้งเนื้อหาสาระ และ ทักษะตามตัวชี้วัดที่กำหนด พร้อมๆ กับการพัฒนาสมรรถนะหลักที่จำเป็นต่อชีวิต

แนวทางที่ 5 บูรณาการผสานหลายสมรรถนะ… เป็นการสอนโดยนำสมรรถนะหลักทั้งสิบด้านเป็นตัวตั้ง แล้วออกแบบการสอนที่มีลักษณะเป็นหน่วยบูรณาการที่ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ และ เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวิชา หรือ กลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ

แนวทางที่ 6 สมรรถนะชีวิตในกิจวัตรประจำวัน… เป็นการสร้างสรรค์การเรียนรู้อย่างสอดคล้องสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตประจำวันปกติของนักเรียน สอดคล้องกับกิจกรรมต่างๆ ที่มักเกิดในโรงเรียน นับเป็นการฝึกพัฒนาสมรรถนะนั้นๆ ได้อย่างต่อเนื่อง

หลักสูตรฐานสมรรถนะเป็นหลักสูตรที่ถูกคิดค้นขึ้นใช้เพื่อแก้ไขปัญหาด้านเรียนรู้ของผู้เรียน และ ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีสมรรถนะที่เหมาะสมกับโลกในยุคสมัยใหม่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และ มีการแข่งขันกันสูงขึ้น ซึ่งถ้าหลักสูตรได้ถูกประยุกต์และนำมาใช้ในระบบการศึกษาได้อย่างเหมาะสม จะทำให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตัวเองให้มีสมรรถนะที่เหมาะสมต่อการพัฒนาตัวเองและประเทศชาติได้

รายละเอียดมีอีกเยอะครับ… บทสรุปจากอาจารย์นรรัชต์ ฝันเชียร ที่ผมคัดมาถือว่าสรุปได้รวบรัด แต่ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แล้ว และ ผมเชียร์ หลักสูตรฐานสมรรถนะ หรือ Competency Based Learning มานาน และ ผมเชื่อว่า… นี่เป็นจุดเริ่มต้นของ Personalized Learning ที่สามารถคืนเวลาและโอกาสให้เด็กๆ และ ครอบครัวได้มากขึ้น แทนที่โรงเรียน “ภาคบังคับ” จะเอาเวลาและทรัพยากรส่วนใหญ่ของเด็กและผู้ปกครองไปหมดโดยไร้ทางเลือกอย่างที่เป็นมา

อย่างไรก็ตาม… การจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยส่วนตัวคิดว่าเปิดกว้างกับช่วงเปลี่ยนผ่านเอาไว้ให้ทุกฝ่ายอย่างยืดหยุ่นถึง 6 แนวทาง ซึ่งพี่ๆ น้องๆ ฝั่งครูอาจารย์ที่กังวลเรื่องการปรับตัว และ เปลี่ยนแปลงไม่น่าจะมีอะไรยากเกินกว่าที่ท่านเปลี่ยนแปลงกับพัฒนาตัวเองตลอดมาอยู่แล้ว

References…

 

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts