Computer Based Instructional Design…

การออกแบบ CBI หรือ Computer Based Instruction… แท้จริงแล้วก็คือ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ใส่เนื้อหาบทเรียนที่ต้องการสอน โดยคำนึงถึง “ความแตกต่างของผู้เรียน” ในทุกมิติ และใช้ความแตกต่างนั้นมาสร้างฟังก์ชั่น หรือ เงื่อนไขการใช้บทเรียน อ้างอิงวัตถุประสงค์การเรียน… บทเรียน หรือ Lesson… หน่วยการเรียนรู้ หรือ Learning Module… และ LO หรือ Learning Outcome ให้ครบถ้วนที่สุด

ด้วยเหตุที่การทำ CBI คือการเขียนโปรแกรมแบบหนึ่งนี้เอง… ท่านที่ได้สัมผัสกับนักพัฒนา CBI ระดับมีประสบการณ์ขึ้นไปจนถึงระดับผู้เชี่ยวชาญ จึงได้เห็น “ทักษะศึกษานิเทศก์ที่เขียนโปรแกรมเป็น” กันแทบทั้งสิ้น

ท่านกำลังอ่านบทความชุด… ทฤษฎีการศึกษาผู้ใหญ่ ซึ่งเรียบเรียงขึ้นเผยแพร่เป็นชุดความรู้แบบหลายตอน อ้างอิงหนังสือชื่อ The Adult Learner: The definitive classic in adult education and human resource development ของ Malcolm S. Knowles และคณะ… และตอนนี้เป็นประเด็น แนวทางการนำใช้ทฤษฎีการศึกษาผู้ใหญ่ ในแนวทางที่ 6 จาก 6 แนวทางหลัก… และยังอยู่กับเนื้อหาในหัวข้อ Effective Technology-Based Adult Learning ที่ทิ้งค้างไว้จากตอน Instructional Strategy Design For CBI ครับ

โดยตัวทฤษฎีสำคัญที่จะใช้ทำหรือใช้พัฒนา CBI หรือ Computer Based Instruction นั้น… จะอ้างอิง Conceptual Model of Effective Computer-Based Instruction for Adults ของ Elwood F. Holton และคณะ… ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ปี 2006 ในหัวข้อ  Blended Delivery Strategies for Competency-Based Training

Conceptual Model of Effective Computer-Based Instruction for Adults ของ Elwood F. Holton

หลังจากเราเตรียม IS หรือ Instructional Strategy ผ่านขบวนการ Instructional Design ทั้ง 3 ส่วนซึ่งอธิบายไว้ในบทความตอน Instructional Strategy Design For CBI แล้ว…  ก็มาถึงงานออกแบบ CBI ซึ่งเป็นทรัพยากรหลัก ที่จำเป็นในการจัดการเรียนการสอนแบบ Technology Based Education และเป็นผลผลิตสำคัญในการเรียนรู้การใช้ Conceptual Model of Effective Computer-Based Instruction for Adults ของ Elwood F. Holton ด้วย

Linda H. Lewis เจ้าของงานตีพิมพ์ชิ้นสำคัญหัวข้อ Computer Enriched Instruction และ Resources on Adult Development ซึ่งนักเทคโนโลยีการศึกษาสาย CBI ใช้อ้างอิงทั่วโลก ได้อธิบายสิ่งสำคัญต่อเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ของ CBI ไว้ว่า… CBI จะต้องมีคุณสมบัติ หรือ Features ที่เอื้อต่อโอกาสในการแก้ปัญหาด้วยตัวผู้เรียนเอง… ให้ข้อเสนอแนะอย่างยืดยุ่น… มีรายละเอียดเพียงพอ… มีลำดับการนำเสนอภาพและกราฟิกที่ออกแบบมาอย่างดี… ให้อิสระผู้เรียนได้ควบคุมกิจกรรมการเรียนด้วยตนเอง… มีช่วงเวลาการรอในขณะโต้ตอบกับผู้เรียนอย่างเหมาะสม

ประเด็นคุณสมบัติ หรือ Features ของ CBI ที่แนะนำโดย Linda H. Lewis… ซึ่งมีรายละเอียดมากมายให้ตีความและปรับใช้เป็นรายกรณีได้อีกมากไม่ต่างจากทฤษฎีฐาน หรือ Grounded Theory อื่นๆ ที่ต้องศึกษาทำความเข้าใจย้อนถึงปรัชญาของหลักคิดก่อนการประยุกต์ใช้… ซึ่งผมขออนุญาตข้ามไปก่อนในบทความนี้ เพื่อให้เนื้อหาตรงเข้าถึงส่วนสำคัญเพื่อใช้พัฒนา CBI… ให้ได้ทรัพยากรทางการศึกษา ที่โดดเด่นยิ่งกว่าการสอนตัวต่อตัวเป็นไหนๆ อันประกอบด้วย…  Instructional Control หรือ การควบคุมกลไกการเรียนการสอน … Instructional Support หรือ การสนับสนุนช่วยเหลือในการเรียนการสอน… Screen Design หรือ การออกแบบหน้าจอ… และ Practice Strategy หรือ กลยุทธ์การฝึกฝนทบทวน

Instructional Control หรือ การควบคุมกลไกการเรียนการสอน

โดยหลักการพัฒนา CBI ทั่วไป… จะใช้ Instructional Control เพียง 3 รูปแบบได้แก่… ให้โปรแกรม CBI ที่พัฒนาขึ้นนำทาง หรือ ชี้แนะผู้เรียนโดยตรง… ให้ผู้เรียนเลือกตัวเลือกที่เหมาะกับตนเอง… และ ใช้ความสามารถทางตรรกะ หรือ Logic ของโปรแกรม CBI เปิดตัวเลือกอย่างยืดยุ่นให้ผู้เรียน

หนังสือชื่อ Model-Centered Instruction, the Design and the Designer ของ Andrew S. Gibbons ได้สรุปประเด็นกลไกควบคุมโปรแกรม CBI ที่ชาญฉลาดผ่านตรรกะชั้นเลิศไว้ว่า… การตอบสนองต่อผู้เรียนผ่าน CBI ที่ผู้เรียนปรับแต่งได้หรือ โปรแกรม CBI ชุดนั้นชาญฉลาดจนโน้มน้าวท้าทายผู้เรียนได้ ส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสองเท่า

Instructional Support หรือ การสนับสนุนช่วยเหลือในการเรียนการสอน

Sigmund Tobias เจ้าของผลงานชื่อ When Do Instructional Methods Make a Difference ได้พูดถึง Instructional Support ไว้ว่า… การสนับสนุนการเรียนการสอนสำหรับผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่ในระหว่างกระบวนการเรียนรู้ผ่าน CBI นั้น… มีความสำคัญต่อผลการเรียนรู้จนบรรลุวัตถุประสงค์ใน CBI ชุดนั้นอย่างมีนัยยะสำคัญ… การสนับสนุนการเรียนการสอน ช่วยเพิ่มความเข้าใจในเนื้อหา การอธิบายตัวอย่าง คำศัพท์เฉพาะ รวมทั้งขั้นตอนการช่วยเหลือ การให้คำแนะนำติชมและการฝึกฝนทบทวนเพิ่มเติม… เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาการเรียน ซึ่งยังเป็นเรื่องยากจะเข้าใจสำหรับผู้เรียนที่รู้และเข้าใจไม่มาก

กรณีของการให้คำชี้แนะติชม หรือ Feedback… ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการศึกษามากมาย ล้วนเห็นและเสนอแนะตรงกันให้ใช้ Feedback ในลักษณะคำติชมที่ประเมิน หรือ ปรับแก้ไขเกี่ยวกับการเลือกตัวเลือกต่างๆ ในบทเรียน CBI ของผู้เรียน… ยิ่งผู้เรียนจำเป็นต้องเรียนรู้หน่วยการเรียนที่ยากๆ ด้วยแล้ว… การให้คำชี้แนะที่ดี จะกระตุ้นผู้เรียนให้เรียนรู้ได้เร็วและมีประสิทธิภาพอย่างมาก

Screen Design หรือ การออกแบบหน้าจอ

การเรียนรู้ผ่าน CBI ซึ่งหมายถึง “การนั่งเรียนผ่านจอภาพนั้น…” จำเป็นต้องพึ่งเทคนิคด้านศิลปะ… จิตวิทยา และประสาทวิทยาหลายมิติ เพื่อให้ความรู้แต่ละส่วน ที่บรรจุลง CBI ชุดหนึ่งๆ ประกอบกันขึ้นเป็น Learning Module หรือ หน่วยการเรียนรู้ ที่ต้องการสื่อความให้ผู้เรียนเข้าใจ… ถูกนำเสนอเป็นข้อมูลบนจอเพื่อสื่อสารกับผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ที่หมายถึง ข้อมูลบนจอที่ผู้เรียนได้สัมผัสทั้งที่เห็น ได้ยินและโต้ตอบ… ต้องพาผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ ตามที่ออกแบบ CBI ชุดนั้นมา

ในปัจจุบัน… ศาสตร์ของการออกแบบหน้าจอถูกเรียกใหม่ว่า User Experience Design หรือ UX หรือ การออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้… ซึ่งถือเป็นศาสตร์และศิลป์ที่มีพัฒนาการคลอบคลุมการทำงานออกแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือ แอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ทั้งหมด… และ CBI ก็เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์แบบหนึ่งที่ต้องอ้างอิง UX Design เช่นกัน… และศาสตร์ด้าน UX ต้องเรียนทุกท่านตรงไปตรงมาว่า มีมิติให้ทำความเข้าใจและเรียนรู้เหมือนหลุดเข้าไปอีกมิติหนึ่งก็ไม่ปาน… ผมขอติดไว้ก่อนและยืนยันว่าจะเขียนถึงอย่างละเอียดในอนาคตแน่นอน

Practice Strategy หรือ กลยุทธ์การฝึกฝนทบทวน

การทบทวนบทเรียนให้ผู้เรียน รวมถึงการวัดความรู้ของผู้เรียน… ถือเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบ CBI ที่ต้องมั่นใจว่า… ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจตามวัตถุประสงค์… การวัดประเมินความรู้ของผู้เรียน และการสร้างทางเลือกให้ได้ฝึกฝนทบทวนแบบต่างๆ ให้ผู้เรียน เช่น การทำแบบฝึกหัดเพิ่ม การเรียนซ้ำ การเสนอให้พบอาจารย์ที่ปรึกษา และแนวทางอื่นๆ อีกมาก… ล้วนต้องเตรียมไว้ทุกทางเลือก เพื่อผู้เรียนทุกคนที่ต้องใช้ CBI ที่กำลังออกแบบ… ซึ่ง CBI หรือ Computer Based Instruction สามารถสร้างทางเลือกเพื่อสนับสนุนผู้เรียนให้ได้ฝึกฝนทบทวนได้หลากหลาย ผ่านตรรกะ หรือ Logic ที่ออกแบบได้ตั้งแต่ขั้นเตรียมพัฒนา CBI… หลักการและเอกสารอ้างอิงประเด็นนี้ผมขอข้ามไปเพราะผมถือว่า… Practice Strategy เป็นส่วนหนึ่งที่สัมพันธ์กับ LO หรือ Learning Outcome โดยตรงอยู่แล้ว

ตอนหน้ามาทำความเข้าใจกับ ขั้นของการเตรียมส่วนสนับสนุน หรือ Support แบบต่างๆ ใน Conceptual Model of Effective Computer-Based Instruction for Adults ของ Elwood F. Holton ซึ่งเป็นผู้แต่งหนังสือสบทบเล่มสำคัญที่ผมและทุกท่านกำลังเรียนรู้ไปด้วยกันคือ… The Adult Learner: The definitive classic in adult education and human resource development นั่นเอง

อ้างอิง

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts