Constructionism Education

Constructionism Education… การเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ด้วยปัญญา

ปี พ.ศ. 2540… Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT ร่วมกับมูลนิธิศึกษาพัฒน์ ได้นำเอาหลักการ Constructionism ของ Professor Seymour Papert แห่ง The Media Lab of Massachusetts Institute of Technology ประเทศสหรัฐอเมริกา มาประยุกต์ใช้กับโรงเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ผ่านกรมการศึกษานอกโรงเรียน และกลุ่มผู้ที่สนใจปฏิรูปการเรียนรู้ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย จนถึงกลุ่มแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม

มูลนิธิไทยคมได้จัดตั้ง Constructionism Lab ซึ่งมี Internet ติดต่อได้ทั่วโลก ไว้ที่ศูนย์ กศน. ภาคเหนือ หรือ สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง 

ในคราวนั้น… มีการจัดการฝึกอบรมให้ครูและผู้บริหารโรงเรียนด้วยแนวทาง Constructionism ประมาณ 70 คน หลังจากนั้นมูลนิธิศึกษาพัฒน์และ กศน. ได้ออกไปติดตามผลและพบปะผู้ผ่านการฝึกอบรม ตามแผนการขยายผลในพื้นที่ต่างๆ ในปี 2542 พบว่า ผู้ผ่านการอบรมจำนวนมากมีความกระตือรือร้น ที่จะนำแนวทาง Constructionism ไปทดลองใช้ในสถานศึกษาของตน แต่ไม่สามารถขยายผลในโรงเรียนได้ เนื่องจากข้อจำกัดที่ขัดขวางการปฏิรูปการศึกษาในโรงเรียน เช่น ปัญหาการปรับตารางเรียน ให้มีคาบเรียนที่ยาวต่อเนื่องกันมากขึ้นสำหรับการทำโครงงาน ปัญหาการเชื่อมโยงวิชาต่างๆ ปัญหาวิธีการประเมินผลโครงงาน เป็นต้น และที่สำคัญที่สุดคือไม่สามารถเปลี่ยน Mindset ของครูและผู้บริหารส่วนใหญ่ได้ งานที่มูลนิธิศึกษาพัฒน์ ลงทุนลงแรงไปจึงไม่ได้ผล… และในขณะนั้น ยังไม่มีโรงเรียนใดที่จัดการเรียนการสอนในแนว Constructionism ที่สามารถนำมาใช้เป็นแบบอย่างและอ้างอิงได้

คณะผู้บริหารโครงการ Lighthouse มูลนิธิศึกษาพัฒน์ โดยอาจารย์พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา และคุณ แบงกอก เชาวน์ขวัญยืน จึงมองว่า… จะต้องมีโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนตามหลักการ Constructionism ที่มีรูปแบบชัดเจนเป็นตัวอย่าง เหมือนที่เรามีตัวอย่างของนักเรียนและชุมชน ที่ได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ คือการจะผลิตผู้เรียนที่ดีได้ จะต้องมีนักเรียนอย่างน้อยหนึ่งกลุ่ม ที่โรงเรียนใช้วิธีการเรียนการสอนในแนว Constructionism อย่างสมบูรณ์แบบ โดยเริ่มต้นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาเป็นต้นไป และลงลึกไปจนจบชั้นมัธยมศึกษา เพื่อให้นักเรียนกลุ่มนี้จะได้รับประสบการณ์ทางการศึกษาในแนวนี้อย่างลึกซึ้งและต่อเนื่องตลอดไป จนเกิดเป็นวัฒนธรรมในการเรียนรู้ขึ้นใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติทุกประการ

เนื่องจาก ประธานโครงการ Lighthouse… อาจารย์พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐเพียงแห่งเดียว ที่ออกนอกระบบราชการแล้วในขณะนั้น… จึงเห็นควรให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นภายในมหาวิทยาลัย โดยตั้งเป็นภาควิชาหนึ่งในมหาวิทยาลัย จะทำให้มีความคล่องตัวในการบริหารสูง และสามารถพัฒนาองค์กรให้กลายเป็นองค์กรการเรียนรู้ หรือ Learning Organization ได้ง่าย และในระยะยาวจะสามารถพัฒนาให้เป็นสถาบันผลิตครูยุคใหม่ และเป็นฐานความรู้ที่จะพัฒนา ไปเป็นสถาบันการเรียนรู้ หรือ Learning Institute ที่ทันสมัยได้ในอนาคต 

จึงริเริ่มดำเนินการก่อตั้งโรงเรียนดรุณสิกขาลัยให้เป็นโครงการโรงเรียนนำร่อง ตั้งแต่ต้นปี 2544 โดยได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิไทยคม มูลนิธิศึกษาพัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ The Media Lab of MIT

การเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ด้วยปัญญา หรือ Constructionism จึงเกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมีอาจารย์พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา รับหน้าที่เป็น “ครูใหญ่” การเรียนการสอนในแนวทางนี้ เป็นรูปแบบที่มุ่งเน้นให้นักเรียนเป็นผู้สร้างความรู้ขึ้นด้วยตนเอง่ ผ่านการลงมือสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาเช่น การเขียนหนังสือหนึ่งเล่ม ทำการทดลองวิทยาศาสตร์ การแสดงละคร การสร้างภาพยนตร์ หรือการเขียนคำสั่งควบคุมการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ เป็นต้น 

ซึ่งผู้อำนวยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ หรือที่เรียกว่า Facilitator นั้น จะทำหน้าที่สร้างบรรยากาศที่ให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิด มีความกระตือรือร้นและมีแรงจูงใจในการเรียน มีการสะท้อนความคิดให้กับครูและเพื่อนเพื่อปรับปรุงชิ้นงานหรือผลงานให้ดีขึ้น และมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้ของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา… ซึ่งโรงเรียนดรุณสิกขาลัยนั้น ได้มีการประยุกต์แนวความคิดจากทฤษฎี Constructionism ของ Professor Seymour Papert จาก MIT Media Lab ให้เหมาะสมกับธรรมชาติของผู้เรียนรู้ในสภาพสังคมและวัฒนธรรมไทย โดยแนวทางประยุกต์ที่ใช้นั้นจะดำเนินการตามแนวความคิดดังต่อไปนี้

1. การเรียนรู้ตามธรรมชาติจะเกิดจากทัศนคติของผู้เรียน… ถ้าผู้เรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียน จะทำให้การเรียนรู้เต็มไปด้วยความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา การเรียนรู้ที่เกิดมาจากการบังคับจะทำให้ผู้เรียนเกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเรียนรู้ ซึ่งอาจจะทำให้กระบวนการทางความคิดของผู้เรียนหยุดชะงัก หลังจากนั้น ผู้อำนวยการเรียนการสอน หรือ Facilitator จะบูรณาการ หรือ Integration องค์ความรู้ที่จำเป็นเข้าไประหว่างการทำโครงงานนั้นๆ จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจความหมายและสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่ได้เข้ากับสิ่งที่สนใจ

2. การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา หรือ Anywhere/Anytime Learning

3. สภาพแวดล้อมในการเรียนที่ดี หรือ Learning Environment จะทำให้การเรียนรู้นั้น เป็นไปอย่างมีสนุกสนาน และมีประสิทธิภาพ

4. การสร้างองค์ความรู้ หรือ New Knowledge นั้น จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าผู้เรียนไม่มีโอกาสในการนำเสนอผลงานที่สร้างให้กับผู้อื่น หรือ Show and Share การนำเสนอผลงานเป็นขั้นตอนในการช่วยตรวจสอบว่า ผลงานที่สร้างมานั้นมีความถูกต้องและครบถ้วนแล้วหรือไม่ อีกทั้งคำถามที่จะเกิดขึ้นจากการนำเสนอผลงานนั้น จะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความต้องการในการปรับปรุงผลงานต่อไปเรื่อยๆ

5. การเรียนรู้เป็นทีม หรือTeam Learning จะช่วยให้ผู้เรียนมีความสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆได้อย่างดีขึ้น อีกทั้งยังจะส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาความสามารถในการทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่น ซึ่งรูปแบบในการพัฒนาโปรแกรม (Applications) และเนื้อหาในการเรียนรู้ (Knowledge Content) นั้น ควรจะมีการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาแบบ Open Source Project ซึ่งต้องการการเชื่อมต่อกันเป็นระบบเน็ตเวิร์ค หรืออินเตอร์เน็ต

6. มีความคิดที่เป็นระบบ หรือ Systematic Thinking เนื่องจากองค์ความรู้ในปัจจุบันนั้น ได้มีการเปลี่ยนแนวความคิดจากองค์ความรู้แบบแยกส่วน มาเป็นองค์ความรู้แบบเป็นองค์รวมมากขึ้น ดังนั้น เครื่องมือที่จะช่วยในการเรียนรู้ จะต้องมีความสามารถในการสร้างผลงานในลักษณะของโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อให้ผู้เรียนมีความคิดที่เป็นระบบ หรือ Systematic Thinking และต้องมีความสามารถในการทำ Simulation ได้เพื่อพัฒนาการคิดอย่างเป็นองค์รวมของผู้เรียน หรือ Systems Thinking

กิจกรรมในห้องเรียนนั้นเน้นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติและการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม โดยประกอบด้วยกิจกรรมทั้ง 8 กิจกรรม คือ

  1. การวางแผนการเรียนรู้ หรือ Planning
  2. การสร้างกระบวนการกลุ่มและการเรียนรู้ร่วมกัน หรือ Collaborative and Teamwork
  3. การค้นหาข้อมูลที่สอดรับและสนับสนุนในหัวข้อที่นักเรียนสนใจ หรือ Data Searching
  4. การเชื่อมโยงหัวข้อการเรียนรู้เพื่อมองให้เห็นกระบวนการ กลไก และระบบ หรือ Data Linkage
  5. การจดบันทึกสิ่งที่ได้เรียนรู้ ทั้งเนื้อหาและเพื่อสะท้อนพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน หรือ Recording
  6. การฝึก หรือ Practice
  7. การประเมินตนเอง เพื่อพัฒนาชิ้นงานและพัฒนาพฤติกรรมการเรียนรู้ หรือ Self Evaluation
  8. การนำเสนอ เพื่อสะท้อนกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้ของตนเอง

อ้างอิง

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts