บทความก่อนหน้านี้ ผมนำเสนอขั้นตอนการออกแบบ e-Learning เพื่อยืนยันจุดยืนว่า… ผมสนับสนุนและส่งเสริมการปฏิรูปการศึกษาในแนวทาง Technology Based Education โดยมี eLearning เป็นแกนในการยกระดับการศึกษา โดยการคืนเวลาเดินทางมาเจอกันระหว่างครูอาจารย์และนักเรียน… รวมทั้งผิวจราจรและอากาศในเมืองใหญ่ ที่กลไกการศึกษาแบบขนคนมารวมกัน สร้างปัญหาทับถมให้สังคมหลายมิติ และสุดท้ายปัญหาหลายอย่างวนมาทำร้ายผู้คนถึงในสถานศึกษา อย่างกรณีการปิดโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเพื่อหยุดการแพร่เชื้อโรคระหว่างคนกับคน หรือแม้แต่การปิดสถานศึกษาเพราะคุณภาพอากาศในสถานศึกษาเลวร้ายทั้งฝุ่นละอองและควันพิษ
ผมเชื่อว่า eLearning จะดีกับพวกเราทุกคน เมื่อเราเข้าใจและเริ่มทำ eLearning บน Technology Based Education เต็มรูปแบบโดยมีทฤษฎีทางการศึกษาและจิตวิทยาการเรียนรู้ที่เชื่อถือได้ ช่วยให้ข้อสงสัยและประเด็นคาใจจนขาดความเชื่อมั่นเรื่อง eLearning ที่ยังเหลือเป็นข้อถกเถียงเรื่องดีกว่ายังไงด้อยกว่ายังไง…
Christopher Pappas ผู้ก่อตั้งเวบไซต์ elearningindustry.com และผู้เชี่ยวชาญด้าน Learning Design ที่ได้รับการยอมรับไม่ธรรมดาคนหนึ่ง ได้เขียนบทความเรื่อง Top 7 Instructional Design Theories & Models For Your Next eLearning Course เพื่อนำเสนอทฤษฎีการเรียนรู้สำคัญๆ 7 ทฤษฎีใหญ่ที่นักการศึกษาทั่วโลกรู้จักและยอมรับกันย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ให้นำมาปรับใช้เพื่อการออกแบบ eLearning Course ที่เชื่อถือได้
นั่นหมายความว่า… การออกแบบ eLearning Course ที่ดีจะไม่ง่ายเหมือนเตรียม PowerPoint ไปสอนทั้งหลักสูตรวันแล้ววันเล่าแล้วก็วัดผลด้วยการสอบ หลังจากสอนมาตลอดเทอมอย่างที่เป็นมา… แต่การทำหลักสูตรและบทเรียนเพื่อใช้แบบ eLearning จำเป็นต้องสร้างขึ้นโดยอ้างอิงปรัชญาการศึกษาที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ก่อน หรืออย่างน้อยก็ต้องสร้างขึ้นจากงานวิจัยที่อ้างอิงทฤษฎีและปรัชญาการเรียนรู้ที่เหมาะสม
แต่วันนี้ผมยังไม่ขอพูดถึงข้อเสนอ 7 Instructional Design Theories & Models ของ Christopher Pappas หรอกครับ… เพราะรายละเอียดจากบทความชิ้นนั้นไม่มีรายละเอียดมากพอจะแปลหรือพูดถึงให้เข้าใจได้ง่ายๆ… แต่ก็จะพยายามกล่าวถึงในจังหวะโอกาสที่เหมาะสมในคราวถัดไปครับ
และวันนี้… ผมจะพามารู้จักกับทฤษฎีการเรียนรู้ที่เหมาะกับการพัฒนา eLearning อย่างมากอีกหนึ่งทฤษฎี… และนักการศึกษาบ้านเราส่วนใหญ่รู้จักกันดีก็คือ… Constructivist Theory หรือ ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์
ผมลอกการบ้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา โสมาบุตร อาจารย์จากศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งผมเป็น Ghost Student ของอาจารย์มานาน ทั้งหนังสือ งานเขียนและบทความของอาจารย์… ผมอ่านไปเยอะมาก
Constructivist Theory เป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความรู้ของผู้เรียน โดย Keyword สำคัญอย่างคำว่า Construct ที่หมายถึงการสร้างความรู้เอง
Constructivist Theory หรือทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ เชื่อว่า… การเรียนรู้หรือการสร้างความรู้ เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในของผู้เรียน โดยที่ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ โดยการนำประสบการณ์หรือสิ่งที่พบเห็นในสิ่งแวดล้อมหรือสารสนเทศใหม่ที่ได้รับ มาเชื่อมโยงกับความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่เดิม สร้างเป็นความเข้าใจของตนเองจนกลายเป็น โครงสร้างทางปัญญา หรือ Cognitive Structure ที่เรียกว่า Schema หรือสกีมา… ที่หมายถึง โครงร่างความรู้… ซึ่งอาจมิใช่เป็นเพียงการจดจำสารสนเทศมาเท่านั้น แต่จะประกอบด้วยประสบการณ์เดิมหรือความรู้ความเข้าใจเดิม ถูกสร้างเป็นความรู้ความเข้าใจที่มีความหมายต่อตนเองขึ้นใหม่… โดยความรู้ใหม่ชุดเดียวกัน อาจจะสร้างความหมายที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล เพราะมีประสบการณ์หรือ ความรู้ความเข้าใจเดิมที่แตกต่างกันนั่นเอง
Constructivism หรือนักการศึกษาที่นิยมแนวคิดคอนสตรัคติวิสต์จะเชื่อว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการสร้างมากกว่าการรับความรู้… Constructivism จึงเน้นการสร้างความรู้ใหม่อย่างเหมาะสมของแต่ละบุคคล และเชื่อว่า… สิ่งแวดล้อมมีความสำคัญในการสร้างความหมายตามความเป็นจริง (Duffy and Cunningham, 1996)
Constructivism จึงนิยมจัดการเรียนการสอนด้วยหลักการที่สำคัญว่า… การเรียนรู้ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนลงมือกระทำเพื่อสร้างความรู้หรือเรียกว่า Actively Construct ไม่ใช่ Passive Receive ที่เป็นการรับข้อมูล หรือสารสนเทศโดยพยายามจดจำเท่านั้น ซึ่งแนวคิดการสร้างความรู้อ้างอิงรากฐานสำคัญจากรายงานการศึกษาวิจัยของนักจิตวิทยาและนักการศึกษาชื่อ Jean Piaget นักจิตวิทยาพัฒนาการชาวสวิส และ Lev Vygotsky นักจิตวิทยาการศึกษาชาวรัสเซีย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ Cognitive Constructivism หรือแนวคิดคอนสตรัคติวิสต์เชิงปัญญา และ Social Constructivism หรือแนวคิดคอนสตรัคติวิสต์เชิงสังคม
Cognitive Constructivism
มีรากฐานทางปรัชญาที่ว่าด้วย ความพยายามเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมกับประสบการณ์ใหม่ด้วยกระบวนการที่พิสูจน์อย่างมีเหตุผล เป็นความรู้ที่เกิดจากการไตร่ตรอง ซึ่งถือเป็นปรัชญาปฏิบัตินิยม ประกอบกับรากฐานทางจิตวิทยาการเรียนรู้ที่มีอิทธิพลต่อพื้นฐานตามแนวคิดของ Jean Piaget

9 August 1896 – 16 September 1980
ซึ่งจิตวิทยาการเรียนรู้ในแนวทางของ Jean Piaget ได้แบ่งออกเป็นสองส่วนเท่านั้นเองคือ อายุและลำดับขั้น หรือ Ages and Stages โดยอธิบายว่า… ผู้เรียนจะพัฒนาความสามารถทางการรู้คิด หรือ Cognitive Abilities ผ่านความเข้าใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดต่างกัน เมื่อมีอายุแตกต่างกัน… ซึ่งขั้นตอนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงอ้างอิงอายุให้ “สร้าง” โครงสร้างทางความรู้และปัญญา หรือ Schemas ผ่านประสบการณ์ด้วยตนเองนี้ ยังเชื่อว่า… Schemas หรือสกีมาที่สร้างเป็นโมเดลของสติปัญญา หรือ Mental Model… สามารถเปลี่ยนแปลงหรือ Change ได้… และขยาย หรือ Enlarge ได้… รวมทั้ง มีความซับซ้อนขึ้นได้ ผ่านกระบวนการการซึมซับ หรือ Assimilation และปรับเปลี่ยน หรือ Accommodation
การจัดการเรียนรู้ผ่าน Cognitive Constructivism จึงต้องจัดเตรียมสภาพแวดล้อมให้ผู้เรียนได้สำรวจ ค้นคว้าตามธรรมชาติ การสร้างสภาพแวดล้อม “กระตุ้นการอยากรู้อยากเห็นและเรียนรู้ด้วยตนเอง” จึงต้องสร้าง Schemas ผ่านการซึมซับและปรับเปลี่ยน หรือ Assimilation and Accommodation
Social Constructivism
Lev Vygotsky เจ้าของทฤษฎี Vygotsky’s Sociocultural Theory of Cognitive Development หรือ ทฤษฎีการเรียนรู้ผ่านสังคมวิทยาของวีก๊อทสกี เชื่อว่า… สังคมและวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือทางปัญญาที่จำเป็นสำหรับการพัฒนารูปแบบและคุณภาพของปัญญา… โดยเชื่อว่า… ผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีความอาวุโส เช่น พ่อแม่ครูอาจารย์ เป็นตัวเชื่อมสำหรับเครื่องมือทางสังคมวัฒนธรรมและภาษา ซึ่งเครื่องมือทางวัฒนธรรมเหล่านี้ ได้แก่ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม บริบททางสังคม และภาษา รวมทั้งข้อมูลดิจิตอลในปัจจุบันด้วย

November 17, 1896 – June 11, 1934
Lev Vygotsky จึงอธิบายว่า เด็กจะพัฒนาในกลุ่มของสังคมที่จัดขึ้น การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมควรจะเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกันมากกว่าการแยกผู้เรียนออกจากคนอื่นๆ
ครูตามแนวคิด Social Constructivism จึงควรสร้างบริบทสำหรับการเรียนรู้ ที่ผู้เรียนสามารถได้รับการส่งเสริมในกิจกรรมที่น่าสนใจ ซึ่งกระตุ้นและเอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ แทนที่ครูผู้สอนที่เคยเข้ามาอยู่ในกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับผู้เรียน… และต้องไม่ใช่การเฝ้ามอง สังเกตุ สำรวจและค้นหาคำตอบที่ต้องการจากผู้เรียน… แต่ครูหรือผู้สอนควรแนะนำเมื่อผู้เรียนประสบปัญหา กระตุ้นให้ผู้เรียนปฏิบัติงานร่วมกับกลุ่ม ทั้งการคิด การถามและการค้นหาคำตอบ ด้วยการกระตุ้น แนะนำ… ให้ผู้เรียนต่อสู้กับปัญหาอย่างท้าทาย เพื่อพาการรับรู้ไปอยู่ในสถานะที่เรียกว่า Real Life Situation หรือสถานะการณ์ในชีวิตจริง จนผู้เรียนสนใจ พึงใจและลงมือกระทำจนความรู้ความเข้าใจเติบใหญ่แบบที่เรียกว่า Cognitive Growth จนนำไปสู่การเรียนรู้
ผมขอตัดจบรายละเอียดของทฤษฎี Constructivist Theory ซึ่งเป็นรากฐานแนวคิด ให้ผู้เรียน “สร้างความรู้ให้ตัวเอง” มากกว่าจะสอนให้จำและทำให้ดู… ไปสู่การกระตุ้นผ่านประสบการณ์และสังคมตรงไปที่สมองของผู้เรียนเพื่อให้สร้างความรู้ในรูปแบบของตัวเองขึ้นมา… ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ถูกปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนที่เอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งมีการพูดถึงและส่งเสริมกันมากในแวดวงการศึกษาของไทยตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา… แต่การเอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลางโดยผู้สอนไม่ได้เปลี่ยนอะไร… ภาพสุดท้ายของคุณภาพการศึกษาประเทศไทยจึงวนในอ่าง เหมือนอยากออกเรือไปหาน่านน้ำใหม่ แต่ก็กลัวกลับฝั่งเดิมไม่ได้ เลยล่ามเรือไว้กับฝั่งเดิม แล้วก็ช่วยกันพายอยู่กับที่ จนเรือลำอื่นไปไกลกันหมดแล้ว
Constructivist Theory มีรายละเอียดลึกซึ้งที่สามารถตีความได้มากมาย ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมชาติของปรัชญาบริสุทธิ์ ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลง… แต่การประยุกต์ใช้ ยังไงๆ ก็ยังต้องพิจารณาร่วมกับบริบทและเนื้อหาสาระ ที่นักการศึกษาในศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องมองไปถึงบริบททางเทคโนโลยีที่ผมมองว่า… อาจจะถึงเวลาที่เราต้องทิ้งผู้สอนที่ทำทีลงเรือแต่แอบผูกเรือไว้กับฝั่ง ให้อยู่กับเรือลำเก่าที่พายวนไปวนมาอยู่นานจนเรือผุไปหมดแล้ว
ด้วยความเคารพครูทุกท่านครับ!
อ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/Jean_Piaget
https://en.wikipedia.org/wiki/Lev_Vygotsky
Constructivist Theory