ความพยายามในการควบคุมการรีไซเคิลขยะในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนหนึ่งได้กลายมาเป็นปัญหา “การนำเข้าขยะพิษและปนเปื้อน” เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบให้โรงงานรีไซเคิล ซึ่งเป็นการรีไซเคิลเฉพาะส่วนที่ขายได้และมีราคา ในขณะที่ของเหลืออื่นๆ ที่ขายไม่ได้ ก็ได้กลายเป็นขยะปริมาณมหาศาลอันเป็นต้นเหตุของมลพิษซับซ้อนซึ่งปนเปื้อนหน้าดิน แหล่งน้ำ และ อากาศที่เราหายใจ
ปัญหาใหญ่ที่สุดในกรณีการนำเข้าขยะเพื่อรีไซเคิลของประเทศไทยก็คือ การนำเข้าขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า เพื่อแยกชิ้นส่วนขาย… ซึ่งมีผู้ประกอบการจัดหาและนำเข้ากันเป็นระบบมานาน โดยมีการขายเหมาเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าให้กับพ่อค้าของเก่ารายย่อยเอาไปแยกส่วน และส่วนใหญ่จะเน้นแยกส่วนเอาเฉพาะโลหะมีค่า และ พลาสติกบางจำพวกไปขายต่อ โดยเฉพาะทองแดงจากสายไฟซึ่งมีมากที่สุดในซากเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า นอกจากนั้นก็มีเหล็ก อลูมิเนียม รวมทั้งทองคำจากไมโครชิปและแผงอิเลคทรอนิคส์เก่า… โดยขั้นตอนการแยกขยะรีไซเคิล และ การทิ้งของเหลือทั้งหมดนั่นเองที่ทำให้การรีไซเคิลอันน่าจะช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมได้กลับสูญเปล่า แถมยังทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศอย่างสาหัสยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะการเผาฉนวนสายไฟฟ้าทุกแบบ เพื่อเอาลวดทองแดงไปขาย รวมทั้งการเผาซากเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนอื่นๆ ที่ขายไม่ได้ทั้งหมดด้วย
เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา… คุณวราวุธ ศิลปอาชา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ไปเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ “การไม่รับซื้อวัสดุมีค่าจากการเผาซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์” ระหว่างกรมควบคุมมลพิษ และภาคีเครือข่าย ทั้งภาคราชการ สมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมและองค์กรเอกชน และผู้ประกอบการในธุรกิจรับซื้อทองแดงหรือรับซื้อวัสดุมีค่าทั่วประเทศ… ณ สำนักงานกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ข้อมูลจากการปาฐกถาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความว่า… ปี 2564 ประเทศไทยมีปริมาณซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นประมาณ 435,000 ตัน ถูกเก็บรวบรวมไปกำจัดอย่างถูกต้องเพียง 70 ตัน เท่านั้น… โดยซากผลิตภัณฑ์ที่มีค่าส่วนใหญ่จะถูกขายให้ซาเล้ง รถเร่ หรือ ร้านรับซื้อของเก่า ส่วนซากผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีค่าจะถูกทิ้งรวมกับขยะชุมชนทั่วไป ทั้งนี้ นโยบายของรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้มีระบบเก็บรวบรวมและกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลของชุมชน รวมถึงมูลฝอยติดเชื้อ ของเสียอันตรายและกากอุตสาหกรรม อย่างถูกต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล สามารถนำกลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านอื่นๆ ได้สอดคล้องกับนโยบาย BCG ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจแนว โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การปกป้องสิ่งแวดล้อม และ การลดปัญหาโลกร้อน… ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ถือว่าเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์แต่เป็นขยะที่ยังมีวัสดุที่มีค่า สามารถนำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีมูลค่าสูง เช่น ทองแดงที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลหรือหลอมเพื่อนำกลับไปผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า ธุรกิจก่อสร้าง เครื่องจักร และ ยานยนต์… แต่ทั้งนี้วิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งวัสดุมีค่าก็ต้องเป็นวิธีการที่ถูกต้องด้วย ไม่อย่างนั้นแทนที่จะเป็นประโยชน์กลับนำไปสู่การสร้างปัญหามลพิษอื่นเพิ่มขึ้นมา ซึ่งนำมาสู่การลงนามบันทึกความร่วมมือในวันนี้ คือ ผู้ประกอบการยินดีที่จะร่วมมือไม่รับซื้อวัสดุมีค่าที่มาจากการเผา เริ่มจากผลิตภัณฑ์ทองแดงที่มาจากการเผาสายไฟ เพราะการไม่รับซื้อจะเป็นการตัดวงจรการเผาที่ดีที่สุด เป็นการใช้ความร่วมมือแทนการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมจะร่วมเป็นหูเป็นตาไม่ให้มีการแอบซื้อ
นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังคำนึงถึงความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอื่นอย่างต่อเนื่องที่จะสนับสนุนชุมชน ผู้ถอดแยก ในเรื่ององค์ความรู้ เครื่องมือ เทคโนโลยี เพื่อให้การประกอบกิจการถอดแยกซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม… การออกข้อบัญญัติท้องถิ่นห้ามเผาในที่โล่ง ออกข้อบังคับการประกอบกิจการที่ถูกต้อง ทำให้แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กจากการเผา ป้องกันการแพร่กระจายสารอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของผู้ถอดแยกและประชาชน ซึ่งต้องขอบคุณกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ที่จะซักซ้อมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ และยังร่วมสนับสนุนการยกระดับอาชีพให้กับชุมชน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กล่าวสรุปในตอนท้ายอีกว่า… วันนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องขอความร่วมมือจากร้านรับซื้อของเก่า จากศูนย์รับซื้อ จากโรงงานหลอมโลหะ จากโรงงานรีไซเคิลว่า ซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่นำมาถอดแยกเพื่อให้ได้วัสดุที่มีค่า ล้วนแต่มีต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องเสียไปทั้งนั้น ยิ่งเป็นสิ่งของที่มีสารอันตราย สารเคมีเป็นองค์ประกอบ ความเป็นอันตรายก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น และ ส่งผลกระทบกับประชาชนหากมีการจัดการไม่ถูกต้อง การขับเคลื่อนการดำเนินงานในเรื่องนี้จะประสบผลสำเร็จได้จึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา



ความจริง… ปัญหาเรื่องเผาสายไฟเอาทองแดงไปขายไม่ใช่เรื่องใหม่ และ ยังเป็นปัญหาสังคมซับซ้อนเกี่ยวกับ “ลวดทองแดงของเก่า” ตั้งแต่อาชญากรรมลักขโมยตัดสายไฟ ไปจนถึงโกดังของเก่านำเข้า ซึ่งห่วงโซ่ในระบบค้าทองแดงรีไซเคิลมีด้านมืดมากกว่าด้านดีมานาน… เอาใจช่วยทุกฝ่ายที่พยายาม และ หวังว่าจะพอช่วยอะไรได้อีกหน่อย ซึ่งถือว่าเริมต้นมาถูกทางถึงแม้จะยังเหลือการบ้านอีกยาวไกลสำหรับการติดตามของเก่าและขยะผิดกฎหมายที่กำลังเป็นปัญหาทั่วโลก
References…