กลยุทธ์ หรือ วิธีและแนวทางเพื่อทำเป้าหมายให้เป็นความสำเร็จ ซึ่งในทางเทคนิคแล้ว กลยุทธ์อาจจะอยู่ในรูปความพยายาม หรือ ไม่ก็อยู่ในรูปชั้นเชิงเล่ห์เหลี่ยม หรือ เทคนิคเฉพาะเพื่อให้เป้าหมายกลายเป็นความสำเร็จอย่างมีนัยยะสอดคล้องต่อ “แผนการใช้ความพยายาม หรือ ชั้นเชิงเล่ห์เหลี่ยม” อันถูกดำเนินการจนประสบความสำเร็จตามแผน
ในทางปฏิบัติ… กลยุทธ์ส่วนบุคคลซึ่งมีกลไกการดำเนินการหลักโดยคนๆ เดียว มักจะไม่มีอะไรซับซ้อนในขั้นการดำเนินการ เพราะเป็นการดำเนินการบนเป้าหมายที่ชัดเจนของคนขับเคลื่อน ซึ่งเป็นคนกำหนดเป้าหมาย เป็นคนวางแผน และ เป็นคนออกแบบกลยุทธ์ในตัวคนๆ เดียว… ถ้าทักษะพอ ทรัพยากรพอ รวมทั้งตัวแปรและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จ… มีพอ ความสำเร็จต่อเป้าหมายย่อมเกิดขึ้นได้ไม่ยาก
แต่ถ้าเป็นกลยุทธ์ระดับทีม หรือ องค์กรซึ่งมีคนหลายคนเข้ามาเกี่ยวข้อง… ก็หลีกไม่พ้นที่อะไรๆ ก็จะสลับซับซ้อนตั้งแต่ระดับ “สาดไอเดีย” รวบรวมแนวคิด ออกแบบ วางแผน เตรียมการ และ ดำเนินการจนเข้าใกล้เป้าหมาย หรือ พิชิตเป้าหมายในที่สุด… ซึ่งคนที่ทำงานร่วมทีมกันตั้งแต่ระดับวิ่งผลัด ไปจนถึงวางแผนตั้งอาณานิคมบนดวงจันทร์ไอโอที่โคจรรอบดาวพฤหัส… น้อยมากที่จะราบรื่นเป็นหนึ่งเดียว ถึงแม้ว่าท้ายที่สุดจะประสบความสำเร็จล้นเหลือเกินคาดก็ตาม
คนหรือทรัพยากรบุคคลจึงสำคัญกับความสำเร็จล้มเหลว บนบริบทที่ต่างก็เข้าร่วมทีมเพื่อรับผิดชอบหน้าที่ๆ ได้รับมอบหมาย ซึ่งทุกคนก็หวังว่า “งานในหน้าที่และความรับผิดชอบของตนจะราบรื่น” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งในทีมและองค์กร ในทุกเป้าหมายและวัตถุประสงค์เหมือนกันหมดทุกที่
กลยุทธ์ในมุมมองของทฤษฎีองค์กรจึงมองผ่าน “งาน และ หน้าที่” ในระดับต่างๆ ที่สมาชิกทีมรับผิดชอบอยู่ และ ปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับบริบทของ “คน งาน และ หน้าที่ เพื่อเป้าหมายองค์กร ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันแน่นอน”
ระดับกลยุทธ์ หรือ Strategic Levels จึงเป็นประเด็นใหญ่ในการจัดการองค์กรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยสิ้นเปลืองทรัพยากรน้อยที่สุด ประสบความสำเร็จตอบทุกตัวชี้วัดสูงสุด… ซึ่งทฤษฎีองค์กรได้จัดระดับกลยุทธ์เอาไว้ 3 ระดับหลักๆ คือ
1. Corporate Level Strategy หรือ กลยุทธ์ระดับองค์กร
เป็นกลยุทธ์ระดับมหภาคที่ครอบคลุมทุกแง่มุมในการดำเนินธุรกิจ และเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของทุกองค์กร… ที่ “ควรต้อง” กำหนดขึ้นก่อนเริ่มธุรกิจเพราะจะช่วยทำให้เห็น “วิสัยทัศน์ที่ชัดเจน และ เป็นเค้าโครงที่จะขยายความในรายละเอียดในระดับอื่นๆ ต่อไป”
กลยุทธ์ระดับองค์กรจะฝังแนวทางการตัดสินใจเรื่องหลักๆ เอาไว้เป็นแนวทางให้ผู้นำองค์กร และ ทีมสามารถใช้อ้างอิงการตัดสินใจและการดำเนินการในระดับต่างๆ ได้ค่อนข้างชัดเจน… การไม่มี หรือ ละเลยที่จะกำหนดให้มีกลยุทธ์ระดับองค์กร จึงลดทอนประสิทธิภาพการตัดสินใจในระดับต่างๆ จนเกิดการรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจ รวมทั้งการใช้ทรัพยากรไปเพื่อถ่ายทอดข้อมูลและการตัดสินใจอย่างสูญเปล่ามากมาย
2. Business Strategy Level หรือ กลยุทธ์ระดับธุรกิจ
เป็นกลยุทธ์ที่สร้างขึ้นเพื่อ “แปลงวิสัยทัศน์ หรือ เป้าหมายของกลยุทธ์ระดับองค์กร” ให้มีความจำเพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น ขั้นตอน รายละเอียด วิธีการเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย… โดยเฉพาะในกรณีที่มีการแตกหน่วยธุรกิจ หรือ BU หรือ Business Unit ออกไปมากกว่าหนึ่งสาย กลยุทธ์ระดับธุรกิจจะช่วยให้เห็นความสอดคล้องและความเชื่อมโยงของธุรกิจสายต่างๆ ที่มีกับกลยุทธ์ระดับองค์กรได้ชัดเจนขึ้น การลงรายละเอียดในขั้นปฏิบัติการ เช่น การวางแผนทรัพยากร การใช้กำลังคนให้เหมาะสม ก็เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ระดับธุรกิจ
3. Functional Strategy Level หรือ กลยุทธ์ระดับปฏิบัติ
เป็นกลยุทธ์ที่ต้องใช้ในงานประจำวัน ซึ่งต้องจัดทำเพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรกำลังมุ่งไปสู่เป้าหมาย เป็นฐานล่างสุดของการจัดทำกลยุทธ์ แต่ก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะเป็นตัวชี้ขาดความสำเร็จหรือล้มเหลวในการทำธุรกิจ… ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นการกำหนดกลยุทธ์และออกแบบการทำงานตามภาระหน้าที่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเชื่อมโยงกับกลยุทธ์ระดับธุรกิจ และ ระดับองค์กร
ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… การกำหนดกลยุทธ์ในแต่ละระดับ สำหรับทฤษฎีการจัดการยุคใหม่ซึ่งแนะนำให้ “กระจายการตัดสินใจ ไปพร้อมๆ กับการกระจายหน้าที่ความรับผิดชอบ” เพื่อให้องค์กรถูกเกลี่ยการตัดสินใจ ไปไว้ในกลไกเดียวกับที่ต้องใช้ประโยชน์จากการตัดสินใจนั้น… ซึ่งการกำหนด “แนวทางการตัดสินใจสอดไว้เป็นกลยุทธ์” ในแต่ละระดับที่รองลงมาจาก Corporate Level Strategy หรือ กลยุทธ์ระดับองค์กร จึงเป็นทางเลือกที่จำเป็นในการจัดการองค์กร… เว้นแต่ผู้นำองค์กรอยากถืออำนาจการตัดสินใจไว้คนเดียวบนที่สูง… คนเดียว!!!
References…