เมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ที่ผ่านมา… สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร. ได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การขับเคลื่อนตามกรอบการประเมินบรรยากาศของการดำเนินธุรกิจและการลงทุน หรือ Business Enabling Environment หรือ BEE ของธนาคารโลก ด้านแรงงาน” โดย ก.พ.ร. ได้เชิญภาคเอกชนเข้าร่วมเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับรายงาน BEE และ ความก้าวหน้าในการดำเนินการของภาครัฐ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในวาระที่ธนาคารโลกกำลังจะเข้าประเมิน “ความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือ Doing Business” ซึ่งได้สร้างการเปลี่ยนแปลง และ เป็นแรงกระตุ้นให้ภาครัฐปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวทางใหม่ของธนาคารโลก ในการประเมินบรรยากาศแวดล้อมของการดำเนินธุรกิจ และ การลงทุน หรือ Business Enabling Environment หรือ BEE โดยประเทศไทยจะถูกประเมินในรายงานฉบับที่ 3 ซึ่งจะเริ่มเก็บข้อมูลในช่วงเดือนตุลาคม 2024 ถึง ตุลาคม 2025 และ ประกาศลำดับในเดือนเมษายน 2026
Business Enabling Environment หรือ BEE แนวทางใหม่จะมีการประเมินเพิ่มเติมจากกรอบเดิมอีก 2 ด้าน ได้แก่ ด้านแรงงาน หรือ Labor และ ด้านการแข่งขันทางการตลาด หรือ Market Competition และ รายงาน BEE แนวทางใหม่ยังเพิ่มประเด็นสำคัญ หรือ Critical Themes อีก 3 ประเด็น ที่เป็นทิศทางการประกอบธุรกิจในอนาคต ได้แก่… การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ หรือ Digital Adoption… ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental Sustainability และ ความเสมอภาคทางเพศ หรือ Gender Equality
BEE ด้านแรงงาน หรือ Labor จะวางกรอบการประเมินด้านแรงงานผ่านตัวชี้วัด 3 ตัวชี้วัดย่อย ได้แก่…
- ตัวชี้วัดการกำกับดูแล โดยจะประเมินด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิแรงงาน การจ้างงาน และ ความเสมอภาคทางเพศ
- ตัวชี้วัดการบริการของภาครัฐ จะประเมินการบริการของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านแรงงานตั้งแต่การเข้าถึงแรงงานจนถึงการจัดการกรณีพิพาท และ
- ตัวชี้วัดด้านประสิทธิภาพ ซึ่งจะประเมินขั้นตอน ระยะเวลา ค่าใช้จ่ายของการจัดการด้านแรงงาน
การนำเสนอข้อมูล และ ความเคลื่อนไหวด้านการเผยแพร่ข้อมูล Business Enabling Environment หรือ BEE แนวทางใหม่ของธนาคารโลกเพราะว่า… ตลาดแรงงานที่เคยเป็นประเด็นท้องถิ่นของแต่ละประเทศ และ แยกเป็นภูมิภาค กำลังจะหลอมรวมเป็นตลาดเดียวคือ “ตลาดแรงงานโลก” โดยมีบรรยากาศในการออกระเบียบดึงดูด “แรงงานทักษะสูง” ของประเทศต่างๆ เคลื่อนไหวช่วงชิงคนเก่งเข้าประเทศ เพื่อไปเป็นรากฐานในการขับเคลื่อน GDP ยุคใหม่ที่ต้องใช้วิทยาการ และ เทคโนโลยีในทุกๆ ด้านที่หาได้จาก “แรงงานทักษะสูง” เท่านั้น… แรงงานทักษะสูงที่ว่าจึงเป็นที่ต้องการ และ ขาดแคลนอย่างน่าสนใจ
รายงานผลการศึกษาด้านแรงงานทักษะสูงจากบริษัทที่ปรึกษาองค์กรชั้นนำระดับโลก รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยอย่าง Korn Ferry ในปี 2019 ชี้ว่า… ผู้นำองค์กรธุรกิจในประเทศไทยต่างวิตกกังวลว่า แรงงานทักษะสูงที่มีจำนวนลดลง จะส่งผลกระทบถึงการเติบโตทางธุรกิจในอนาคตระยะกลาง… ซึ่งการศึกษาครั้งนี้ เป็นการสำรวจผู้นำองค์กรในระดับผู้บริหารจำนวน 1,550 คน จากองค์กรธุรกิจมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ใน 2019 จากอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และ เอเชียแปซิฟิก ซึ่งรายงานผลการศึกษาจะให้ความสำคัญที่ “แรงงานทักษะสูง” ที่คาดว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนแบบเฉียบพลัน… โดยปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงานของประเทศไทย อาจส่งผลกระทบถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสูงถึง 6.4% ในปี 2030… ซึ่งรายงานของ Korn Ferry ยังคาดการณ์ว่า ทั่วโลกจะเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานทักษะสูงถึง 85.2 ล้านคนภายในปี 2030 โดยในช่วงต้นปี 2020 พบภาวะการขาดดุลแรงงานอาจขึ้นไปแตะที่ 20.3 ล้านคนแล้ว
ประเด็นก็คือ… แรงงานทักษะสูงขาดแคลนแน่นอนแล้วในปัจจุบัน โดยเฉพาะแรงงานฝั่งดิจิทัลที่องค์กรใหญ่ๆ ใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการจูงใจ และ จัดจ้าง ทั้งเพื่อ “ดึงตัว” แรงงานทักษะสูงเข้ามาช่วยงาน และ เพื่อปกป้องการถูกล่าหัว หรือ HeadHunting จาก Headhunter หรือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสรรหาคนเก่งทักษะสูงให้องค์กรที่กล้าจ่ายไม่อั้น… ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาต่อการพัฒนา และ ขับเคลื่อนกลยุทธ์ดิจิทัลองค์กรอย่างมากในปัจจุบัน
ภาวะขาดแคลนแรงงานทักษะสูงที่เกิดขึ้น ทำให้องค์กรส่วนใหญ่ที่กำลังต้องการคนทำงานเก่งๆ ต่างหันไปหา “การฝึกอบรมภายในองค์กร หรือ Corporate Training” เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรจะไม่ “ขาดคน” จนการขับเคลื่อนการเติบโตสะดุดลง… โดยมีรายงานจากศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ปี 2022 ที่ศึกษาแรงกดดันจากปัญหาด้านทักษะแรงงาน และ สังคมสูงอายุ ที่ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องยกระดับศักยภาพแรงงานเร่งด่วน โดยเฉพาะในภาวะที่องค์กรธุรกิจเผชิญปัจจัยท้าทายจากการขาดแคลนแรงงานด้านต่างๆ โดยมี “การฝึกอบรมภายในองค์กร หรือ Corporate Training” เป็นกลยุทธ์หลักในการเติมเต็มแรงงานทักษะสูง และ แรงงานขาดแคลนจากสังคมผู้สูงอายุที่คนเก่งรุ่นก่อนๆ ต่างก็แก่เฒ่าพ้นวัยทำงานไป… ซึ่งการสำรวจของ Krungthai COMPASS ปี 2022 พบว่า ประเทศไทยมี “ผู้ประกอบการในธุรกิจฝึกอบรมในองค์กร” อยู่ประมาณ 5,100 ราย โดยมีมูลค่าทางการตลาดราว 20,000 ล้านบาท โดยยังวิเคราะห์พบแนวโน้มที่สามารถเติบโตถึงระดับ 60,800 ล้านบาท ภายในปี 2027 หรือ เติบโตเฉลี่ยถึง 26.4% ต่อปีอีกด้วย
ที่จะบอกก็คือ… ธุรกิจฝึกอบรมภายในองค์กร หรือ Corporate Training ถือเป็นธุรกิจการศึกษารูปแบบใหม่ที่แตกต่างออกไปจากรูปแบบสถาบันการศึกษาดั้งเดิมที่เป็นโรงเรียน–วิทยาลัย–มหาวิทยาลัยอย่างชัดเจน… และ ธุรกิจฝึกอบรมภายในองค์กรในปัจจุบันถือว่าเติบโตเร็วมากทั่วโลก โดยพบการขยายตัวครอบคลุมการพัฒนาทักษะแรงงานในองค์กรแทบจะครบทุกด้านผ่านโปรแกรมฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนทักษะ หรือ Up-Skill และ โปรแกรมการเรียนรู้ทักษะใหม่ หรือ New-Skill… ซึ่งองค์กรในยุคปฏิรูปอุตสาหกรรมยุคที่ 4 ที่เรียกว่า Digital Revolution ต้องการถึงขั้น Un-Learn หรือ ลืมที่เคยเรียนมาก่อน เพื่อ Re-Learn หรือ เรียนรู้ทักษะใหม่หมด ที่องค์กรยุคใหม่ต้องจัดการทักษะของบุคคลากรมากกว่าการ Re-Skill และ เข้าแคมป์ Retreat ปีละครั้งสองครั้งเหมือนในอดีต
สิ่งที่จะเกิดขึ้นในโอกาสอันใกล้นี้จึงเป็นไปได้ว่า… โมเดลสถาบันการศึกษาดั้งเดิมที่เคยเป็นโรงเรียน–วิทยาลัย–มหาวิทยาลัยในอนาคตอันใกล้นี้ก็น่าจะเข้ามาในธุรกิจฝึกอบรมภายในองค์กร หรือ Corporate Training กันมากขึ้น… ในขณะที่การเรียนการสอนด้วยกรอบวิชาการแบบเก่าของสถาบันการศึกษาระดับเตรียมทักษะแรงงานก็น่าจะต้องปรับเปลี่ยนอะไรกันอีกมาก… ซึ่งเร็วเกินไปที่จะบอกว่าต้องเปลี่ยนอะไร–อย่างไร–เมื่อไหร่ในตอนนี้
References…