ความกล้าหาญ หรือ Courage ที่คนส่วนใหญ่พูดถึงและเข้าใจนั้น ในทางเทคนิคมักจะถูกมองผ่านการตัดสินใจจนเป็นบทสรุปที่เห็นความเสียสละไม่น้อยของใครบางคนอย่างชัดเจน ท่ามกลางความกลัวและความเสี่ยงที่ค่อนข้างชัดเจนด้วย… ซึ่งมักจะชัดเจนถึงขั้นเรียกว่าเป็น “คุณธรรมอันสูงส่ง หรือ Highly Prized Virtue” เลยก็ว่าได้… ความกล้าหาญในฐานะคุณธรรมสำคัญข้อหนึ่งนี้ จึงไม่ใช่คำกล่าวเกินเลยแต่อย่างใด เพราะส่วนสำคัญที่สุดของความกล้าหาญที่แท้ จะเป็นความสามารถและการตัดสินใจจัดการความกลัวจนเอาชนะได้ในขั้นที่เห็นผลลัพธ์ที่มีคุณค่ามากกว่า
Nelson Mandela เคยกล่าวถึงความกลัวไว้ว่า… I learned that courage was not the absence of fear, but the triumph over it. The brave man is not he who does not feel afraid, but he who conquers that fear. ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ว่าความกล้าหาญไม่ใช่การหมดสิ้นความกลัว แต่เป็นชัยชนะที่อยู่เหนือความกลัว ผู้กล้าจึงไม่ใช่คนที่ไม่รู้จักกลัว แต่จะเป็นผู้พิชิตความกลัวนั้น
ส่วนที่น่าสนใจที่สุดก็คือ การมีความกล้าถึงขั้นเรียกว่ากล้าหาญ จะช่วยให้ “การตัดสินใจ” ตอบสนองต่อความเสี่ยง และ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้เหมาะสม และ บรรลุวัตถุประสงค์เชิงบวกได้ดีกว่า… เพราะในทางเทคนิคแล้ว การจะก้าวข้ามความกลัวจนไปถึงความกล้าหาญทุกกรณี… จะต้องผ่านการไตร่ตรองปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งจะรวมถึงการการชั่งตวงอัตราส่วนระหว่าง “ความเสี่ยง และ ผลตอบแทน หรือ Risks and Rewards” ค่อนข้างละเอียดเสมอ
นั่นหมายความว่า… ความกล้าหาญจะช่วยให้คนๆ หนึ่งสามารถ “ไล่ล่าสิ่งสำคัญของชีวิตในขณะนั้นได้ดีกว่า” ด้วยความเชื่อมั่นในตนเองที่สูงกว่า ภายใต้เหตุและผลที่สามารถประเมินได้ค่อนข้างชัดเจนถึงความเสี่ยงที่ยังรบกวนจิตใจให้เห็นเป็นความกลัวอยู่ พร้อมๆ กับประเมินได้ค่อนข้างชัดเจนถึงผลตอบแทนเมื่อ “ปัจจัยที่น่ากลัว” ถูกจัดการได้เรียบร้อย
บทความของ Sherri Gordon เรื่อง 7 Ways to Feel More Courageous ได้พูดถึงประโยชน์ของความกล้าหาญในนิยามของเป็นคนที่สามารถเอาชนะความกลัวเป็นว่า…
- ความกล้าท่ามกลางความกลัวสามารถสร้างความมั่นใจให้คนๆ นั้นได้
- ความกล้าเพิ่มมุมมองที่ต่างออกไป
- การทำให้ความกล้าหาญเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนหรือบุคลิกภาพ สามารถส่งต่อความกล้าหาญถึงคนอื่นๆ ที่ใกล้ชิดได้
- การเลือกก้าวออกจากพื้นที่สุขสบาย หรือ Comfort Zone ด้วยความกล้าหาญ จะทำให้กลายเป็นคนรอบรู้ และ เปิดโลกกว้างต่อประสบการณ์ใหม่ที่มีแต่ประโยชน์เป็นส่วนใหญ่
- ความกล้ามักจะนำความสำเร็จมาให้เจ้าตัวยิ่งกว่าเดิม เพราะความกล้าเป็นรากฐานของการตัดสินใจที่จะไล่ตามความฝัน และ ไขว่คว้าโอกาสต่างๆ ที่ความสำเร็จยังไกลเกินเอื้อมในเวลานั้น
- การยอมรับความกล้าหาญให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จะช่วยเพิ่มความรู้สึกเป็นสุขได้มากกว่าเดิม
ประเด็นก็คือ… ความกล้าหาญเป็นการตัดสินใจที่จะเผชิญหน้ากับความเสี่ยงภายใต้ความกลัวที่เจ้าตัวรู้จัก และ เข้าใจอย่างดี… แต่เป็นคนละเรื่องกับการตัดสินใจ “กล้าเสี่ยงแบบนักพนัน” ที่มีเพียงได้กับเสีย “โดยไม่ได้เรียนรู้อะไร” นอกจาก “เสียไป–ได้มา” ของเดิมพันที่วางลงไปเสี่ยงโดยสมัครใจและรักที่จะพนัน… กล้าเสี่ยง กับ กล้าหาญในหลายๆ บริบทจึงเป็นคนละเรื่องที่เปรียบเทียบกันไม่ได้
อย่างไรก็ตาม… ความกล้าในบริบทของคนส่วนใหญ่เกิดขึ้นเรื่อยๆ และ สม่ำเสมอตามวาระโอกาสที่จะต้องตัดสินใจ ซึ่งก่อนการตัดสินใจอาจจะต้องกล้าคิด… กล้าพูด… กล้าทำ… กล้ายอมรับความล้มเหลว… กล้าออกจาก Comfort Zone… กล้าตัดสินใจด้วยข้อมูลและสติปัญญา… กล้าเสียสละ รวมทั้งกล้าเสี่ยงเพื่อเพิ่มโอกาสการเปลี่ยนแปลง และ ความกล้าในอีกหลายๆ บริบท… ซึ่งถ้าสามารถใช้ความกล้าได้มากกว่าหนึ่งอย่าง ทั้งเพื่อนำการตัดสินใจ และ ดำเนินการตามการตัดสินใจไปแล้ว… ความกล้าหลายๆ อย่างในกรณีเดียวกันก็มักจะรวมเป็น “ความกล้าหาญ หรือ Courage”ได้… การใช้ความกล้าอย่างเดียวแบบคนกล้าพูด หลายกรณีจึงกลายเป็นพวกปากกล้าขาสั่น ซึ่งไม่เห็นความกล้าหาญอะไรเลยจากคนแบบนั้น… หรือการใช้ความกล้าลงมือทำอย่างเดียว บางครั้งก็ได้เห็นความล้มเหลวแบบหมดท่า ที่ไม่เห็นแววว่าคนๆ นั้นจะลุกขึ้นมาสู้ใหม่อีกครั้ง… หรือกรณีการใช้ความกล้าเสี่ยงอย่างเดียวในหลายกรณี ก็มักจะได้เห็นจุดจบอันโง่เขลาของบางคนอย่างน่าเสียดายเมื่อถูกความเสี่ยงกลืนกินจนล่มจม
ความกล้าที่ไม่รู้จักความกลัวดีพอ และ ไม่สามารถรวบรวม “ความกล้า” ให้หนักแน่นจนเป็น “ความกล้าหาญ หรือ Courage” ได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับความเสี่ยงมากพอ… จึงเป็นได้เพียงความกล้าที่หวังพึ่งอะไรไม่ได้มาก
References…