เป้าหมายหรือเรื่องที่อยากให้เกิดขึ้นในอนาคต ตั้งแต่อยากกินอะไร อยากได้อะไร อยากใช้อะไรหรืออยากมีอยากเป็นอะไร ซึ่ง “ความอยาก” นี่เองที่ทำให้เกิดจุดอ้างอิงขึ้นสองจุดทันทีคือ จุดบนสถานะปัจจุบัน กับ จุดในอนาคตที่อยาก… โดยมี “ช่องว่าง” ระหว่างจุดสถานะปัจจุบันไปจนถึงจุดในอนาคตให้ต้องเติมเป็นเส้นทางหรือเงื่อนไขให้ครบ เพื่อให้สิ่งที่อยากหรืออีกชื่อเรียกหนึ่งคือ “เป้าหมาย” ถูกพิชิตให้หายอยากหรือ ประสบความสำเร็จนั่นเอง
ประเด็นก็คือ… “ช่องว่างระหว่างจุดสถานะปัจจุบันไปจนถึงจุดในอนาคต” ก็มีชื่อเรียกที่สองเหมือนกัน โดยพื้นที่ทั้งหมดในช่องว่างระหว่างสองจุดนี้ ถูกเรียกโดยทั่วไปว่า “ปัญหา”
ลองนึกว่าท่านอยากกินเป็ดย่าง MK ตอนอยู่บ้านคนเดียว… ปัญหาคือ ต้องออกจากบ้านไปกินที่ MK หรือไม่ก็หาคนไปรับเป็ดจาก MK มาส่งให้กินที่บ้าน… ช่องว่างที่เรียกว่าปัญหาตรงนี้เองที่ทำให้สตาร์ทอัพรับส่งอาหารแข่งกันเกิด จนคนอยากกินเปิด MK สามารถนั่งรอที่บ้านก็ได้
เมื่อขยับขอบเขตปัญหาจากเรื่องอยากส่วนตัว มาเป็นความอยากระดับธุรกิจหรือองค์กร ซึ่งต้องพึ่งหลายคนมาช่วยสะสาง “ความอยากร่วมกัน หรือ เป้าหมายร่วมกัน” โดยมีช่องว่างที่เป็นปัญหาต้องจัดการร่วมกันด้วย…โดยธรรมชาติของปัญหาที่มีคนเกี่ยวข้องหลายคน ปัญหาก็จะซับซ้อนกว่า ในขณะเดียวกัน วิธีและแนวทางจัดการปัญหาก็จะมีมากกว่าด้วย
ประเด็นสำคัญก็คือว่า… ทุกๆ ช่องว่างจากปัจจุบันถึงอนาคตที่อยากให้เกิดสิ่งใดก็ตามแต่ เราสามารถสร้างสรรค์วิธีหรือแนวทางสะสางจัดการปัญหาได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องรู้วิธีและใช้เครื่องมือให้ถูกวิธี โดยเฉพาะเครื่องมือที่สามารถสร้างทางเลือกและมุมมองที่แตกต่างและหลากหลาย ให้เรามีข้อมูลชัดเจนในการตัดสินใจ ซึ่งแนวทางและเครื่องมือที่จะแนะนำท่านต่อไปนี้มีชื่อว่า… Creative Problem Solving หรือ หลักการรับมือกับปัญหาอย่างสร้างสรรค์
ทำไมต้องแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
อย่างที่เกริ่นไปว่า วิธีแก้ปัญหาหนึ่งๆ หรือวิธีสะสางอุปสรรคจากสถานะ ณ จุดปัจจุบันให้ถึงจุดสมอยากได้นั้น มักจะมีวิธีมากมายให้เลือกใช้ เหมือนตัวอย่างความอยากกินเป็ดย่าง MK ซึ่งเดินทางไปกินที่ร้านก็ได้ หรือสั่ง Grab มาส่งที่บ้านก็ได้ หรือชวนเพื่อนมารับที่บ้านไปกินด้วยกันที่ร้านก็ได้ หรือขอให้เพื่อนแวะซื้อที่ร้านมากินด้วยกันที่บ้านก็ได้… โดยทางเลือกมากมายที่คิดออกและทำได้เหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้การแก้ปัญหาเรื่องหนึ่งๆ มีมิติอย่างน่าสนใจจาก “ทางเลือกอันหลากหลาย” ถ้ายิ่งเป็นปัญหาซับซ้อนเกี่ยวข้องกับขั้นตอนกระบวนการและคนหลายคนด้วยแล้ว… การมีทางเลือกเพื่อปิดช่องว่างระหว่างสถานะ ณ จุดปัจจุบันถึงเป้าหมายอันหลากหลาย จะยิ่งสำคัญต่อผลลัพธ์ โดยเฉพาะในระดับองค์กรและธุรกิจที่มักจะต้องเปรียบเทียบและแข่งขันกับความก้าวหน้าเติบโตของกิจการ รวมทั้งเปรียบเทียบท้าทายกับคู่แข่งและพันธมิตรอีกมาก
การหาทางแก้ปัญหาให้ได้หลากหลายหนทาง จึงสำคัญกับทางเลือกที่ต้อง “ตัดสินใจ” ซึ่งเป็นงานหลักก่อนการดำเนินการทุกอย่าง… ไม่ว่าทางเลือกเหล่านั้นจะสร้างด้วยชุดความคิด หรือ Mindset และมุมมองว่าเป็นปัญหาหรือไม่ก็ตาม… แต่ถ้ามี “เป้าหมาย” หรือ มี “อยาก” ในกิจธุระที่ต้องสะสางแล้วหละก็… ให้ถือว่าเรามีปัญหาต้องสะสางกันแล้ว
เทคนิคและเครื่องมือใช้แก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ หรือ Creative Problem Solving หรือ CPS นั้น… โดยทั่วไปจะเป็นการสร้างทางเลือกในการจัดการให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งต้องการ “ทางเลือกที่ดีที่สุด” อย่างน้อยหนึ่งแนวทางเพื่อเอาไปดำเนินการ โดยเลือกจากทางเลือกที่ถูกออกแบบด้วย “แนวคิดหลากหลาย หรือ Ideas” ซึ่งมีเทคนิคหลักๆ ที่แนะนำกันทั่วไปประกอบด้วย
- Mental State Shift and Cognitive Reframing หรือ การปรับเปลี่ยนระดับจิตสำนึกและกรอบการตีความใหม่… เป็นเทคนิคการเปลี่ยน “จุดสนใจ หรือ Focus” จากจุดเดิมที่ชี้นำปัญหาและแนวทางแก้ไขอยู่เดิม ซึ่งปัญหาที่ต้องออกแรงคิดหาทางออกส่วนใหญ่ มักจะมีจุดสนใจหรือจุดโฟกัสที่ดึงดูดแนวทางแก้ไขให้ติดอยู่กับ “ทางเลือกที่ยังเห็นจุดด้อยเต็มไปหมด” แต่หลายครั้งการเปลี่ยนมุมมองเพื่อหาทางเลือกใหม่มักจะไม่ง่าย แม้จะพยายามมองหาจุดโฟกัสใหม่ ซึ่งโดยธรรมชาติก็มักจะมีจุดโฟกัสหลายจุดให้เห็นอยู่ แต่ “ความเชื่อระดับจิตสำนึก” มักจะเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ล่วงหน้าไปแล้ว… การใช้เทคนิคเปลี่ยนจุดโฟกัสหาทางออกจากปัญหา จึงไม่ได้เริ่มต้นที่หาจุดโฟกัสใหม่ แต่ต้องเริ่มที่การปรับความเชื่อระดับจิตสำนึกให้ได้ก่อน
- Multiple Idea Facilitation หรือ เปิดทางให้แนวคิดหลากหลาย… แนวคิดหลากหลายอาศัย “ความเชื่อหลากหลาย” ซึ่งต้องเปิดกว้างและยอมรับความเห็นต่าง โดยเฉพาะแนวทางสะสางปัญหาและเป้าหมายในองค์กรหรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคนหลายคน ตั้งแต่ระดับครอบครัวขึ้นไป การสร้างแนวคิด หรือ Ideas ให้ได้ทางเลือกที่แตกต่างหลายแนวทาง จะมาจากคนคิดต่างและคนเชื่อต่างหลายคนช่วยกันระดมความคิดทั้งสิ้น องค์กรหรือทีมที่อยากสะสางอะไรอย่างสร้างสรรค์ จึงต้องเปิดทางเลือกให้หลากหลาย โดยเฉพาะการคละคนจากหลายความเชื่อและที่มาให้ได้…
- Inducing a Change of Perspective หรือ เพิ่มมุมมอง… มุมมองปัญหามีผลโดยตรงกับการทำความเข้าใจปัญหา ซึ่งความเข้าใจต่อปัญหาก็มีผลโดยตรงต่อจุดหรือประเด็นที่จะโฟกัส ความเชื่อและแนวคิดที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน… การเปลี่ยนมุมมองง่ายๆ อย่างพิจารณามุมมองด้านดีแล้ว ก็ไปพิจารณามุมมองด้านไม่ดีบ้าง… ได้เห็นมุมมองผลกระทบแล้ว ก็ปรับไปมองจากมุมผลประโยชน์บ้าง ซึ่งมุมมองต่างๆ เหล่านี้ หลายกรณีจะผลิตข้อมูลช่วยตัดสินใจชนิดอยู่คนละขั้วได้เลย… การคิดแก้ปัญหาโดยไม่เปลี่ยนมุมมองให้ได้มากที่สุด จึงทำลายโอกาสอย่างน่าเสียดายอย่างชัดเจน
รายละเอียดแนวคิดในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์นั้น เป็นแนวคิดที่มีมาและใช้อย่างกว้างขวางในวงการโฆษณามาตั้งแต่ยุค 50 โดยแนวคิดหลักถูกเผยแพร่โดยนักธุรกิจโฆษณาชื่อ Alex Faickney Osborn เจ้าของแนวคิด Creative Problem Solving หรือ CPS และแนวคิด Brainstorming ผ่านหนังสือ Applied Imagination: Principles and Procedures of Creative Problem Solving ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในปี 1953… และถือเป็นตำราคลาสสิกของคนวงการโฆษณาที่พลาดไม่ได้แม้ในปัจจุบัน
โดยส่วนตัวผมรู้จัก Alex F. Osborn จาก Creative Education Foundation ซึ่งเป็นองค์กรที่ Osborn ตั้งขึ้นร่วมกับนักการศึกษาและนักทฤษฎีคิดสร้างสรรค์ หรือ Creativity Theorist ชื่อ Sidney J. Parnes เพื่อเผยแพร่และนำใช้ เครื่องมือและเทคนิคความคิดสร้างสรรค์ ที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งแบบมืออาชีพและส่วนตัว ตั้งแต่การทำวิจัยโดยมีแนวทางคิดสร้างสรรค์ ถูกประยุกต์ใช้เพื่อการแก้ปัญหาและพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาหนังสือตำราและสื่อการสอน ไปจนถึงการพัฒนาโปรแกรมการศึกษาที่ครอบคลุมถึงความคิดสร้างสรรค์สำหรับนักวิชาการและเยาวชน… ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังมีหลักสูตรอบรมอยู่
ท่านที่ยังแยกไม่ออกระหว่าง “ความคิดสร้างสรรค์” กับ “ความคิดแผลงๆ ประหลาดๆ” ผมแนะนำหนังสือของ Alex F. Osborn ครับ แม้จะเก่าหน่อย… แต่ผมเชื่อว่าจะทำให้ท่านเข้าใจอย่างชัดเจนว่า… ความคิดสร้างสรรค์คือความคิดที่คัดสรรจากความคิดหลายแบบในการแก้ปัญหาๆ หนึ่ง ในขณะที่ความคิดแผลงๆ หรือความคิดประหลาดๆ จะเป็นความคิดเดียวที่พยายามจะคิดไม่ให้เหมือนคนอื่นมากกว่า ซึ่งอาจจะแก้ปัญหาได้หรือสร้างปัญหาเพิ่มก็ได้
ส่วนปัญหาการนำใช้ CPS หรือ Creative Problem Solving ตั้งแต่ระดับครอบครัว ทีมและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจซับซ้อนหรือตัดสินใจร่วมกันหลายคนนั้น… ส่วนใหญ่จะแพ้ก็แต่ Fixed Mindset ของคนมีสิทธิ์ตัดสินใจขั้นสุดท้าย ซึ่งความเชื่อระดับจิตสำนึก หรือ Mental State ของคนมีสิทธิ์ตัดสินใจขั้นสุดท้าย มักจะขวางประตูเพื่อคัดกรอง หรือ Stage Gate โดยไม่เปลี่ยนแปลงอะไร… ทำให้บ่อยครั้งเกิดเหตุการณ์ “ข้อสรุปที่ตกลงในที่ประชุม” ไร้ค่าและไม่มีความหมายอะไรในทางปฏิบัติ… จนทำลายความคิดสร้างสรรค์ หรือแนวทางการแก้ปัญหาด้วยความคิดสร้างสรรค์ไปหมดสิ้น… เพราะแนวคิดและแนวทางหลากหลายเป็นเพียงพิธีกรรมให้แนวคิดเดียวที่ถูกเลือกตั้งแต่ต้นไปแล้วจาก “คนมีสิทธิ์ตัดสินใจขั้นสุดท้าย… คนนั้น” เท่านั้นเอง
การปกป้องความคิดสร้างสรรค์จึงมีทางเดียวคือ Mental Shift หรือยกจิตสำนึกออกมาจากจุดเดิมเพื่อให้ความเชื่อเปลี่ยน หรือไม่ก็ยกย้ายคนที่ไม่ยอมเปลี่ยนอะไรออกไปจากการตัดสินใจ… องค์กรยุคใหม่จึงหาทางทำลายด่านคัดกรอง หรือ Stage Gate ให้เหลือน้อยที่สุดจนใกล้ศุนย์
ตามนั้นครับ!
References…