Creative Commons หรือ CC หรืองานสร้างสรรค์เสรี เป็นองค์กรไม่แสวงกำไร หรือ Nonprofit Organization ก่อตั้งโดย Larry Lessig โดยมีพันธกิจเพื่อพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาระดับสาธารณะที่สามารถแบ่งปันและใช้ร่วมกันได้โดยไม่ละเมิด
CC จึงเป็นแนวทางการความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ที่เจ้าของหรือผู้สร้างสรรค์ ยินดีแบ่งปันโดยไม่ถูกละเมิด อ้างสิทธิ์ หรือนำไปหาผลประโยชน์โดยมิชอบ… ซึ่งผู้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเองก็เชื่อมั่นได้ว่า สามารถนำใช้ทรัพย์สินทางปัญญาที่ CC ให้ โดยไม่มีข้อถือสิทธิ์อ้างอิงผลประโยชน์ตอบแทนเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต… ที่คาดไม่ถึง
CC จึงถูกสร้างขึ้นภายใต้ความเชื่อที่ว่า… เงื่อนไขลิขสิทธิ์ที่ดีไม่ใช่ระบบที่ปกป้องคุ้มครองเจ้าของลิขสิทธิ์โดยเด็ดขาดเพียงอย่างเดียว… แต่ควรเป็นระบบที่สร้างสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือผู้สร้างสรรค์ โดยส่งเสริมให้บุคคลอื่นนำงานนั้นไปใช้ประโยชน์ และสร้างสรรค์ชิ้นงานใหม่… ในขณะที่ผู้สร้างงานก็ปกป้องลิขสิทธิ์ของตนเองได้ตามเงื่อนไขการสงวนสิทธิ์ แต่ก็อนุญาตให้คนอื่นใช้งานชิ้นนั้นภายใต้เงื่อนไขที่ผู้สร้างงานเป็นคนกำหนดเอง
ประเทศไทยร่วมพัฒนา CC โดยความร่วมมือของ สำนักกฎหมายธรรมนิติ… สถาบัน Change Fusion และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยปรับให้เข้ากับกฎหมายลิขสิทธิ์ไทย
จนสามารถใช้บังคับได้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นกฏหมายลิขสิทธิ์ฉบับที่ 4 แล้ว… CC ไทยเปิดตัวเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2552 เป็นลำดับที่ 51 ของโลก
แต่เดิมการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจะมีเพียง 2 ประเภท คือ ให้มีลิขสิทธิ์คุ้มครอง 100 เปอร์เซ็นต์ หรือ Copyright กับ ไม่มีลิขสิทธิ์ หรือ Public Domain เท่านั้น… CC จึงเป็นนวัตกรรมด้านการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีหลักการสำคัญคือ ยอมรับสิทธิของผู้สร้างโดยการแจ้งที่มา หรือ Attribution… ไม่ใช้เพื่อการค้า หรือ Noncommercial… ไม่แก้ไขต้นฉบับ หรือ No Derivative Works และ ให้ใช้สัญญาอนุญาตแบบเดียวกัน หรือ Share Alike
สาระสำคัญโดยละเอียดของ CC จึงประกอบด้วยเงื่อนไขสัญญาอนุญาต 6 รูปแบบประกอบด้วย
- CC-BY หรือ อ้างอิงแหล่งที่มา
- CC-BY-SA หรือ อ้างอิงแหล่งที่มา ให้อนุญาตต่อไปแบบเดียวกัน
- CC-BY-ND อ้างอิงแหล่งที่มา ห้ามดัดแปลง
- CC-BY-NC อ้างอิงแหล่งที่มา ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า
- CC-BY-NC-SA อ้างอิงแหล่งที่มา ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า และให้อนุญาตต่อไปแบบเดียวกัน
- CC-BY-NC-ND อ้างอิงแหล่งที่มา ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า และห้ามดัดแปลง
โดยทางเทคนิคแล้ว Creative Commons ใช้เพื่อประกาศการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เราสร้างสรรค์ขึ้น และต้องการแบ่งปันเผยแพร่ โดยไม่ให้ถูกละเมิดด้วยวิธีการ “ดัดแปลงอีกเล็กน้อย” ด้วยการยินยอมให้ใช้ประโยชน์ภายใต้เงื่อนไขที่ประกาศไว้… ซึ่งการละเมิดเงื่อนไขที่ประกาศไว้ ก็ยังถือว่า “ละเมิดลิขสิทธิ์” ได้เหมือนเดิมเช่น ประกาศ NC ห้ามใช้เพื่อการค้า แต่คนใช้เอาไปค้าขายทำกำไรเฉยเลย… ก็สามารถฟ้องร้องเรียกส่วนแบ่งการละเมิดได้เช่นเดิม
ในกรณีงานสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมการศึกษา ซึ่งปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งที่ไม่สามารถนำแบบเรียนจากหนังสือรูปเล่ม มาทำบทเรียนดิจิตอลได้ทันทีล้วนเป็นประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ยินยอมก็ทำอะไรอื่นไม่ได้… การปฏิรูปการศึกษาของไทยจึงปฏิรูปโดยการเพิ่มน้ำหนักในกระเป๋านักเรียนที่ขนไปขนกลับเช้าเย็นยิ่งกว่าเดิมตลอดยี่สิบกว่าปีมานี้… แน่นอนว่าไม่ใช่ความผิดของฝ่ายไหน เพราะบรรยากาศทั้งหมดไม่ได้เอื้อประโยชน์ร่วมกันแบบ Win-Win จนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เลือกจะรักษาธรรมเนียมและรูปแบบเดิมๆ ดีกว่าผลักดันเปลี่ยนแปลงที่โอกาสจะเกิด No-Win Situation หรือ Lose-Lose Situation ที่กระทบเด็กๆ ให้เจอ Total Lose ในท้ายที่สุด
ส่วนกรณีการพัฒนา OER หรือ Open Education Resource สายดิจิตอลที่กำลังมาแรงและทับถมกลืนกิน หรือ Disrupted ทรัพยากรส่งเสริมการศึกษาแบบเก่าทั้งหมด… แถมมาพร้อมสัญญาอนุญาตแบบ CC ที่ผลงานลิขสิทธิ์ในโลกเก่า ต่างถือสิทธิ์คุ้มครองได้ไม่ทั่วถึงครอบคลุมอีกแล้ว…
คำถามคือ จังหวะนี้เป็นโอกาสหรืออุปสรรค ของการพัฒนาทรัพยากรทางการศึกษาแบบเปิดแล้วแบ่งปัน?… และคำถามใหญ่คือ สถาบันหลักที่ดูแลทรัพยากรทางการศึกษาของชาติควรทำอะไรเรื่องนี้หน่อยมั๊ย?
อ้างอิง
http://www.salforest.com/glossary/creative-commons