Maker Space

Creative Learning Spaces

ในประเด็น CBL หรือ  Creativity Based Learning ซึ่งอาจารย์ ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ ในฐานะนักวิชากอิสระท่านหนึ่งที่เคลื่อนไหวเรื่อง CBL มานาน… ท่านเคยสรุปเอาไว้ในหลายเวทีที่ไปบรรยาย หรือแม้แต่เขียนถึงเอาไว้ว่า… การสอนแบบสร้างสรรค์เป็นฐาน หรือ CBL หรือ Creativity Based Learning นั้น จะเป็นการสอนเพื่อสร้างทักษะแห่งอนาคตโดยตรง นอกจากเด็กจะได้ฝึกคิดวิเคราะห์แล้ว พวกเขายังได้ฝึกฝนทักษะในการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม ทักษะในการเรียนรู้ และที่สำคัญที่สุด คือทักษะในการคิดสร้างสรรค์จะเปิดกรอบทุกด้านให้เด็กๆ ได้สร้างสรรค์สิ่งที่ครูเองก็คิดไม่ถึงมากมาย

คำว่า Creativity หรือความคิดสร้างสรรค์เป็นคำใหญ่ ที่แทบจะหานิยามตายตัวไม่ได้ด้วยซ้ำว่างานสร้างสรรค์ ที่มาจากความคิดสร้างสรรค์มีหน้าตาหรือองค์ประกอบอย่างไร… บทความเรื่อง CBL… Creativity Based Learning ที่กล่าวถึงรายละเอียดทั่วไปเกี่ยวกับการเรียนการสอนในบรรยากาศสร้างสรรค์ และเนื้อความได้อ้างถึงงานของ Dr. Susan M. Brookhart ที่อธิบายคุณสมบัติ 4 อย่างที่จำแนกผลงานสร้างสรรค์ออกจากผลงานทั่วไปได้แก่ Originality หรือ มีความเป็นตัวตนและเป็นต้นฉบับ… High Quality หรือ มีคุณภาพกว่า… Variety หรือ มีความหลากหลาย… Novelty หรือมีความแปลกใหม่และน่าตื่นตาตื่นใจ

ประเด็นก็คือ… ความคิดสร้างสรรค์เป็นทักษะ เมื่อเป็นทักษะก็แปลว่าฝึกได้ และทุกคำแนะนำตรงไปพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กๆ โดยเฉพาะโรงเรียน ที่ได้เวลาของเด็กๆ 5 วันต่อสัปดาห์ไปตลอดช่วงวัยแห่งการบ่มเพาะทักษะและภูมิรู้

Nicholas Provenzano ผู้เขียนหนังสือ The Maker Mentality (The Nerdy Teacher Presents) สองเล่ม และยังเป็น Founder หรือผู้ก่อตั้งเวบไซต์  thenerdyteacher.com และ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายพื้นที่สร้างสรรค์ หรือ Maker Space แห่งโรงเรียนมัธยม Liggett School หรือ University Liggett School ในเมือง Grosse Pointe Woods มลรัฐ Michigan ประเทศสหรัฐอเมริกา… ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1878

Nicholas Provenzano ได้แชร์แนวทางการสร้างเสริมความคิดสร้างสรรค์ในโรงเรียน Project Based Learning แห่งนี้ว่า… พื้นที่สร้างสรรค์ หรือ Maker Space เป็นห้องแยกส่วนออกมาจากห้องเรียนปกติ จะมีอุปกรณ์ทั้งไฮเทคช่วยงานสร้างสรรค์อย่าง เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เครื่องพิมพ์เลเซอร์ ไว้ช่วยประดิษฐ์ชิ้นงานต้นแบบของนักเรียน… และยังมีของใช้ไร้เทคโนโลยีแต่ดีกับจินตนาการอย่าง LEGO ลูกโป่ง ดินน้ำมัน ไม้อัด เชือก กาว กระดาษแข็ง ดินสอสี ไวท์บอร์ด… เอาไว้ให้นักเรียน “เชื่อมโยง” จินตนาการ ความคิดหรือมุมมองของเด็กๆ เข้ากับเนื้อหาที่เรียนได้ทุกวิชา… แม้แต่วิชาวรรณคดี เมื่อเด็กๆ ได้เรียนและรู้เรื่องราวในวรรณคดีแล้ว แทนที่ Nicholas Provenzano จะไปออกข้อสอบถามว่าใครเป็นใครในวรรณคดี หรือแม้แต่ใครคิดอย่างไรในวรรณคดี… Nicholas Provenzano ให้เด็กๆ ไปที่ Maker Space และทำชิ้นงานตามจินตนาการขึ้นมา และนำชิ้นงานมาเล่าเชื่อมโยงกับประเด็นในวรรณคดีเพื่อตีความและสื่อสารในแบบของตัวเอง

หลักสำคัญของ Maker Space ซึ่งเป็นพื้นที่สร้างสรรค์หรือ Creativity Space ของโรงเรียนมัธยม Liggett School ก็คือ การเชื่อมโยงไอเดียและแปลงไอเดียไปสู่นวัตกรรมใหม่ในมุมมองใหม่… นั่นทำให้ Creativity Space ไม่ได้หมายถึงเพียงแต่ห้องที่มี 3D Printer ให้ใช้เท่านั้น แต่อาจเป็นแค่กล่องที่มีกาวกับกรรไกก็ได้… หรือกระดาษกับพู่กันกับหมึกอินเดียขวดเดียวก็ได้… เพราะหลักใหญ่ก็คือการได้ต่อยอดไอเดียเพื่อสื่อสารออกไปให้บรรลุวัตถุประสงค์ และเรื่องเล่าที่อยากส่งมอบบอกต่อ

ประเด็นก็คือ… ผลลัพธ์จากจินตนาการของเด็กเหล่านี้ ไม่สามารถใช้วิธีประเมินแบบดั้งเดิมอย่างการทดสอบความจำ หรือการวิเคราะห์พูดคุยกลวงๆ โดยขาดแรงผลักดันจากจินตนาการส่วนตัวของเจ้าของไอเดียหรือผลงานได้

คำถามคือ… แล้วจะประเมินหรือสอบวัดผลงานเหล่านี้อย่างไร?

เครื่องมือประเมินผลงานสร้างสรรค์ที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดมีชื่อว่า… Feedback หรือความคิดเห็นเชิงชี้แนะ ผ่านมุมมองสร้างสรรค์ของคนที่ได้เห็นผลงานและไอเดียแฝงในชิ้นงาน แม้ไอเดียแฝงเหล่านั้นจะถูกใส่ไว้อย่างจงใจ หรือเกิดขึ้นโดยเจ้าของผลงานคาดไม่ถึงก็ได้

ถึงตรงนี้… Creative Learning Space จึงเป็นพื้นที่จินตนาการล้วนๆ ที่ผู้เรียนหรือคนฝึกทักษะสร้างสรรค์ ได้ฝึกต่อยอดไอเดียจากโจทย์ ไปสู่ Originality ใหม่… ด้วยคุณภาพใหม่… เพิ่มความหลากหลายและสร้างความตื่นตาตื่นใจ… ภายใต้ Feedback ที่สร้างสรรค์และเต็มไปด้วยจินตนาการในระดับใกล้เคียงกัน

อ้างอิง

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts