Target Ladder

Creative Problems Solving

ความคิดสร้างสรรค์… คำเท่ห์ๆ ที่ใครก็ตามที่หยิบยกมาพูดถึง มักจะดูดีและดึงดูดผู้คนให้สนใจได้เสมอ ทั้งๆ ที่ในทางปฏิบัติ… การทำตามแนวคิดสร้างสรรค์ มักจะมีราคาที่ต้องจ่ายเป็นความบกพร่องผิดพลาดก่อนเสมอเป็นส่วนใหญ่

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร คนส่วนใหญ่ก็ยังอยากทำอะไรๆ อย่างสร้างสรรค์ ให้เข้าตาผู้พบเห็น ทั้งเพื่อให้งานหรือกิจธุระทั้งหลาย ลุล่วงผ่านพ้นเสร็จสิ้นในขณะที่รู้สึกได้ว่า… มีบางสิ่งหรือหลายสิ่ง ถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากทักษะประสบการณ์ ความรู้ความสามารถและสติปัญญา

ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ความคิดสร้างสรรค์เชื่อมโยงกับปัญหาอย่างยากที่จะแกะออกจากกันได้… หรืออีกนัยหนึ่งจะเรียกได้ว่า ความคิดสร้างสรรค์มาจากโจทย์ปัญหาที่ต้องการคำตอบด้วยแนวทางวิธีการและกระบวนการใหม่ๆ นั่นเอง

นั่นหมายความว่า คนที่ไม่กลัวปัญหามีแนวโน้มจะเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าคนที่นิยมหยิบจับคำตอบสำเร็จรูปมาใช้จัดการปัญหา… และนั่นหมายความว่า ใครก็ตามที่สามารถสร้างทางเลือกในการแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง ได้มากกว่าทางเลือกในการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ซึ่งจะมีทางเลือกมากมายเกินหนึ่งทางเลือกมาให้เลือกใช้จัดการปัญหาเสมอ

โดยส่วนตัวถ้ามีใครมาขอคำชี้แนะเรื่องความคิดสร้างสรรค์ คำแนะนำง่ายๆ ที่ผมมักจะใช้เสมอก็คือ จงเริ่มต้นที่คิดหาทางเลือกของคำตอบหลายๆ คำตอบมาให้โจทย์ หรือหาคำตอบและทางเลือก มาอธิบายประเด็นปัญหาที่ต้องสะสาง… แต่ก็มีบ้างที่หลายท่านจริงจังถึงขั้นขอแนวทางที่เป็นหลักเป็นการเพื่อนำไปใช้หาทางจัดการปัญหาในหลายๆ กรณีที่อาจจะไม่ง่ายต่อการสะสาง… และต่อไปนี้คือ ขั้นตอนการคิดสร้างสรรค์เพื่อจัดการปัญหา หรือ Creative Problems Solving Process หรือ CPSP Model ที่ผมแนะนำให้เอาไปใช้เป็นแนวทาง

  1. Clarify and Identify The Problem หรือการพิจารณาปัญหาให้เห็นชัดเจน ถูกต้องและแยกประเด็นต่างๆ ออกจากกันให้ได้มากที่สุด เพื่อระบุประเด็นปัญหาให้สามารถจัดการได้เฉพาะประเด็นไป
  2. Research The Problem หรือศึกษาปัญหาให้ลึกด้วยการใช้ทั้งข้อมูลและข้อเท็จจริงมาร่วมวิเคราะห์ในระดับเดียวกับการค้นคว้าวิจัยได้ยิ่งดี เพราะขั้นตอนระดับการวิจัยจะพาเราเข้าถึง “ด้านอื่นๆ” ของปัญหา ที่ข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ค้นพบ จะบอกทางควรไปและไม่ควรไปให้ได้แน่นอนเป็นอย่างน้อย
  3. Formulate Creative Challenges หรือระบุเป้าหมายเชิงสร้างสรรค์ที่ท้าทาย ซึ่งเป้าหมายจะได้มาจาก “ความต้องการสูงสุด” หากการแก้ปัญหานั้นๆ เสร็จสิ้น แม้ว่าจะเป็นไปได้ยากและท้าทายแค่ไหน
  4. Generate Ideas หรือสร้างทางเลือกให้ได้มากที่สุด ซึ่งเครื่องมือการสร้างและจัดกลุมแนวคิดที่ดีที่สุดเท่าที่มีการแนะนำใช้กันอย่างกว้างขวางก็คือ POST-IT NOTE 
  5. Combine and Evaluate The Ideas หรือรวบรวมและประเมินแนวคิดหรือไอเดียที่คิดได้ และเขียนใส่ POST-IT NOTE เอาไว้ในขั้นที่ 4… ไอเดียไหนรวมกันได้ ก็ย้ายมาแปะข้างๆ กัน… ไอเดียไหนไม่เวิร์คก็ย้ายไปไว้นอกการพิจารณาเสีย
  6. Draw Up An Action Plan หรือ เชื่อมโยงไอเดียให้เป็นแผนการทำงานที่เห็นภาพชัดเจนที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้
  7. Do it!… มีแผนแล้วก็ลุยซิครับ! รออะไร?

ไม่อธิบายตีฟูแต่ละประเด็นให้วุ่นวายยืดยาวกว่าแล้วน๊ะครับ… ซึ่งในความเป็นจริง หรือในโลกความจริงก็ไม่มีใครมานั่งคิดสร้างสรรค์ตามขั้นตอนกันนักหรอก

เอาเป็นว่า ถ้าท่านสามารถหาทางเลือกในการแก้ปัญหาได้มากกว่าปัญหาที่เจอ… โดยส่วนตัวผมถือว่าแนวทางเหล่านั้นสร้างสรรค์อยู่แล้ว… และถือเป็นคำตอบที่สร้างสรรค์ขึ้นจากแนวคิดและสติปัญญา ที่มีข้อมูลความรู้และประสบการณ์หนุนหลังเพียงพอแล้ว… ปัญหาจริงๆ ของการขาดไอเดียสร้างสรรค์ จึงไม่ได้อยู่ที่ความยากง่ายของปัญหา… เพราะทั้งหมดของความยาก อยู่ที่ข้อมูลความรู้และประสบการณ์ทุนเดิมที่มีอยู่และเกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นๆ ต่างหาก… 

แต่ข่าวดีก็คือ สามารถใช้ข้อมูลความรู้และประสบการณ์จากมันสมองหลายๆ ก้อนจากหลายๆ คนช่วยกันสะสางหาทางผลิตแนวคิดหรือไอเดียมากๆ ได้เสมอ

สุดท้ายแล้ว… จึงเหลือเงื่อนไขเพียง 2 กรณีที่จะพาความคิดสร้างสรรค์ไปเจอทางตันก็คือ… จนปัญญากับจนเพื่อนเท่านั้นเองครับ!

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *