หนึ่งในข่าวด้านการศึกษาที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วงห้าปีที่ผ่านมา คือการผลักดันให้การเขียนโปรแกรมเป็นหลักสูตรขั้นพื้นฐานในโรงเรียน และมีการสร้างเครื่องมือ หรือ Tools สำหรับสอนเด็กๆ เขียนโปรแกรมขึ้นมามากมาย
ในสหรัฐอเมริกา… ข้อถกเถียงเรื่องที่จะให้เด็กทุกคนต้องได้เรียนเขียนโค๊ด ถูกถามหาความเหมาะสมของการบังคับให้เด็กทุกคนต้องเรียนเขียนโค๊ด หรือ เขียนโปรแกรมนั้นเหมาะสมหรือไม่ เมื่อฝ่ายหนึ่งมองว่าเด็กต้องเรียนเป็นพื้นฐานเพื่อตามโลกสมัยใหม่ให้ทัน และอีกฝ่ายมองว่าเด็กควรมีสิทธิ์ที่จะเลือกเรียนวิชาที่ตนสนใจ
ความเห็นที่แตกต่างนี้เกิดขึ้นมาจากการพยายามรักษาสมดุลของระบบการศึกษา ไม่ให้ก้าวก่ายการเรียนรู้ของนักเรียนจนเกินไป แต่ก็ยังสามารถให้ประโยชน์แก่ผู้เรียนได้
ปัญหาด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วโลก จึงเป็นประเด็นแหลมคมทิ่มแทงภาครัฐและเจ้านโยบายด้านการศึกษาในทุกประเทศหนักหน่วงกว่าในอดีตมากมาย เมื่อการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ท้าทายมนุษยชาติทุกมิติ
ในหนังสือชื่อ “Creative Schools หรือชื่อภาษาไทยคือ โรงเรียนบันดาลใจ” ก็พูดถึงปัญหาของระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วโลก ซึ่ง Sir Ken Robinson และ Lou Aronica สองผู้เขียนหนังสือ มองว่าระบบที่ใช้กันอยู่นั้นขาดสมดุล เพราะเคร่งครัดกับมาตรฐานกลางมากไป จนขัดขวางพัฒนาการของเด็ก กลายเป็นต้นเหตุของปัญหาการศึกษาในปัจจุบัน การเพิ่มรายวิชาบังคับโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมานั้นจะยิ่งทำให้ระบบการศึกษาเสียสมดุลหนักเข้าไปอีก
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2006 นักวิชาการด้านการศึกษานาม Sir Ken Robinson ได้ขึ้นเวที TED Talk และพูดถึงประเด็นด้านการศึกษาไว้ในหัวข้อ “Do schools kill creativity?” ประเด็นนี้ได้รับการพูดถึงอย่างมาก และกลายเป็นคลิปที่มียอดชมสูงที่สุดคลิปหนึ่งในเว็บไซต์ ted.com
Sir Ken Robinson สรุปว่า เด็กๆ ทุกคนต่างเกิดมามีพรสวรรค์ มีความคิดสร้างสรรค์ที่สูงล้น และมีความกระหายอยากจะเรียนรู้ แต่น่าเสียดายที่เมื่อเด็กๆ เข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว สิ่งเหล่านั้นกลับเหือดหายไป ทั้งที่สังคมให้ค่ากับมันเสมือนว่าเป็นของที่หายาก
ปี 2015… Sir Ken Robinson จึงร่วมงานกับ Lou Aronica เขียนหนังสือชื่อ “โรงเรียนบันดาลใจ” เพื่อต่อยอดประเด็นด้านการศึกษาที่พูดไปในครั้งนั้น โดยใช้ประสบการณ์จากการทำงานตลอดระยะเวลาหลายปี รวบรวมปัญหาของระบบการศึกษาทั่วโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นำเสนอโครงการการศึกษาและโรงเรียนที่สามารถสร้างกระบวนการศึกษารูปแบบใหม่ๆ ที่ดีขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งเสนอแนะรูปแบบการศึกษาในความเห็นของผู้เขียน
เนื้อหาในหนังสือครอบคลุมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ตั้งแต่ตัวระบบการศึกษาเองที่เกิดขึ้นในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม… ปัญหาที่เด็กนักเรียนต้องเผชิญในระบบการศึกษา… กระบวนการสอนของครู… บทบาทที่แท้จริงของครูใหญ่… ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน… หลักสูตรการศึกษา… การสอบและประเมินผลที่ต้องบอกมากกว่าเกรดและคะแนนสอบ และนโยบายของรัฐที่หวังดีแต่ดันไปขัดขวางศักยภาพของเด็กเสียเอง
เนื้อหาในหนังสือได้วิเคราะห์ถึงระบบการศึกษาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ที่เพิ่งจะเป็นรูปเป็นร่างในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นยุคสมัยที่ต้องการแรงงานฝีมือเป็นจำนวนมาก และรัฐมีรายได้มากพอจากการจัดเก็บภาษี จึงได้สร้างระบบการจัดการที่มีโครงสร้างแบบอุตสาหกรรม โดยจัดกลุ่มนักเรียนตามชั้นปี จัดแบ่งตารางเรียนสำหรับเด็กออกเป็นคาบๆ จัดการสอบเลื่อนชั้นเพื่อเรียนในระดับสูงขึ้น และสร้างมาตรฐานกลางเพื่อให้ทุกสถานศึกษาปฏิบัติตาม
ระบบแบบนี้จะประพฤติกับเด็กและตัดสินเด็กด้วยมาตรฐานเดียวกัน ไม่เหมาะสมกับความเป็นมนุษย์ที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง และมีความหลากหลาย
ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ Sir Ken Robinson ชี้ชัดว่า… ระบบการศึกษาซึ่งพัฒนามาจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือ ยุคอุตสาหกรรม 2.0 นั้น… ได้รับการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงโดยการ “สร้างระบบให้เข้มงวดมากขึ้นไปอีก”
หนังสือจึงได้นำเสนอประเด็นต่างๆ ด้วยมุมที่คนส่วนใหญ่มองข้ามไป โดยเฉพาะกรณีข้อสอบกลาง… ซึ่งหนังสือโจมตีประเด็นการสอบ PISA ว่าทำให้การศึกษาในประเทศหลงทิศทางไปจากที่ควรจะเป็นอย่างไร และพูดถึงว่าแม้แต่มหานครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนที่ครั้งหนึ่งเคยได้คะแนนสอบ PISA สูงที่สุดในโลก ก็ยังเอาใจออกห่างจากการสอบนี้
กรณีศึกษาและตัวอย่างในหนังสือ รวมทั้งโครงการต่างๆ และโรงเรียนที่หนังสือยกมาเป็นตัวอย่างแทรกในแต่ละบทนั้นก็น่าสนใจ ทั้งในแง่ของเบื้องหลังและผลลัพธ์ที่ได้
นอกจากนั้นยังบอกเล่าเส้นทางการพัฒนาของโรงเรียนเหล่านี้จนประสบความสำเร็จ รวมทั้งความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่ายที่ร่วมแรงสร้างการเปลี่ยนแปลง… ย้ำว่าสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยไม่รอการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก โดยเฉพาะภาครัฐ
โรงเรียนเหล่านั้นต่างก็สร้างสรรค์กระบวนการศึกษาในแบบของตัวเอง ไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว… และไม่เชื่อเรื่อง เสื้อฟรีไซส์ใส่ได้ทุกคน หรือโมเดล One Size, Fit All นั่นเอง
อ้างอิง