เสียงวิจารณ์จากภายใน หรือ Critical Inner Voice หรือเสียงสะท้อนตัวเอง… มักจะเป็นเสียงความคิดด้านลบ จากทัศนคติ ข้อมูล ความเชื่อจนกลายเป็นข้อสรุปที่บั่นทอนทุกเรื่อง… ทั้งตัวตน… ความสามารถและการยอมรับจากคนอื่น ซึ่งเสียงเหล่านี้จะสงสัยและพาเราไปสู่ การปฏิเสธคุณค่าในตัวเอง การวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง หรือ Self-criticism… และมีภาวะเสพติดเสียงสะท้อนจากภายในบางด้าน จนนำไปสู่พฤติกรรมแปลกๆ สำหรับทุกคนรอบตัว
Sidney J. Blatt ศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาจาก Yale University ได้เคยเสนอทฤษฎีเอาไว้ในหนังสือ Polarities of Experience ซึ่งอธิบาย ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความเป็นตัวของตัวเอง… โดย Sidney J. Blatt ระบุว่า การปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น และ การปฏิสัมพันธ์กับตนเองทั้ง 2 มิตินี้ เป็นที่มาของบุคลิกภาพ และพัฒนาการไปตลอดชีวิตคนๆ นั้นเสมอ โดยเฉพาะการพัฒนาอัตลักษณ์ส่วนตนและการนิยามตนเอง เทียบเคียงกับปฏิสัมพันธ์ที่เคยมีประสบการณ์ร่วมกับบุคคลอื่น นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ตนเองจนกลายเป็นเสียงสะท้อนจากภายใน
ประเด็นก็คือ… เสียงวิจารณ์จากภายใน มักจะไม่ตรงไปตรงมากับข้อเท็จจริงในหลายๆ กรณี ซึ่งหลายกรณีสร้างปัญหามากมายให้ทั้งตัวเองและคนรอบข้าง… ทั้งที่ตัวเองคิดเองเออเอง และตัวเองคิดว่าคนอื่นคิดกับตัวเอง… ซึ่งทางออกในเรื่องนี้คือการฝึกให้รู้เท่าทันเสียงพูดคุยจากทัศนคติภายในให้ชัด
ต่อไปนี้เป็นแนวทางทุเลาเสียงวิจารณ์จากภายในพอสังเขปครับ…
1. ฟังเสียงที่เกิดขึ้นว่ากำลังกลั่นแกล้งเราหรือไม่
รู้ให้ได้ว่าเสียงวิจารณ์ภายในเหล่านั้นกำลังบอกอะไรเรา… หลักๆ ในกรณีนี้ให้เข้าใจให้ได้ว่าเราใส่ใจอะไร หมกมุ่นกับอะไร และความคิดหรือทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องที่เรากำลังหมกมุ่น สนใจ… ส่งเสริมหรือทำลายความเชื่อมั่นภาคภูมิใจในตัวเอง เช่น เราเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบ หรือ Perfectionism และคิดว่างานหรือธุระที่กำลังทำอยู่มันแย่ มันห่วย มันไม่เข้าท่า… แต่ก็ไม่มีคำแนะนำว่า ไอ้ที่ไม่แย่ ไม่ห่วยและเข้าท่า มันต้องทำยังไง สุดท้ายก็เลยไม่ทำอะไรและงานที่กำลังทำอยู่ก็เลยห่วยจริงๆ ถึงขั้นไม่มีงานเป็นชิ้นเป็นอันก็มี
การคุยกับตัวร้ายในหัว… ก็ไม่ต่างจากการคุยกับตัวแสบที่โผล่มาตัวเป็นๆ และ เริ่มต้นสนทนาด้วยการ Bully หรือกลั่นแกล้งรังแกนั่นแหละ… วิธีง่ายที่สุดที่จะจัดการก็คือ ตั้งคำถามกลับ… กับเสียงที่ลอยมาเพื่อทำลายความเชื่อมั่นของเราเอาคำตอบหรือท่าทีชัดๆ มา
2. หาที่มาของเสียงหรือประเด็นแบบนั้นว่าเกิดกับเราตั้งแต่เมื่อไหร่และอย่างไร
โดยปกติ… ชีวิตประจำวันของคนเราทุกคนคงเจอทั้งเรื่องดี เรื่องร้าย เรื่องย่ำแย่และเรื่องหนักหนาสาหัสเกินจะคาดคิดและรับไหวก็ย่อมมีในบางช่วงบางตอนของชีวิต… หลายกรณีจึงเกิด “ปม” ติดความคิดและทัศนคติของเรา วนเวียนอยู่ในสมองและจิตใจ จนกลายเป็นตัวตนและบุคลิกภาพ
ประเด็นก็คือ… ถ้าปมนั้นพาเราย่ำแย่ตกต่ำ หรือหน่วงรั้งด้านดีและสร้างสรรค์ในตัวเราจนไม่เหลืออะไรแล้วหล่ะก็… การกลับไปแก้ “ปม” ควรเป็นทางเลือกแรกๆ ที่จะจัดการ
3. ถกเถียงโต้แย้งและแก้ไขอย่างสร้างสรรค์ด้วยตัวเอง
การวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง หรือ Self-criticism ก็ไม่ต่างจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้แต่ถูกต่อว่านินทาซึ่งหน้าจากคนอื่น… เราโต้แย้งได้ พิสูจน์ให้ชัดก็ได้ถ้าจำเป็น หรือตอบโต้ด้วยการไม่ใส่ใจก็ได้… เพราะสาระสำคัญจริงๆ ของการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ได้อยู่ที่เสียงวิจารณ์ แต่อยู่ที่เราจะทำอย่างไรกับประเด็นที่ถูกวิจารณ์ต่างหาก…
4. ทำความเข้าใจกับ “ประเด็น” ที่กำลังเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง
การ “ถูก” วิพากษ์วิจารณ์ “จากตนเอง” รวมทั้งการตำหนิตนเอง ถ้าเป็นเรื่องสำคัญที่กระทบด้านดีของชีวิต… เสียงวิพากษ์นั้นย่อมมีค่าควรใส่ใจ และควรมองหาวิธีจัดการ “ประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์” นั้น… ซึ่งหลายกรณีจะเป็นกลไกการแก้ปัญหา ที่สร้างประโยชน์โดยตรงต่อเราเองทั้งสิ้น… การทำความเข้าใจจริงๆ จึงถือเป็นโอกาสสำคัญของการสร้างประโยชน์และความหมายให้ตนเอง
5. เปลี่ยนแปลง
ปกติคนเราเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาเสมอ… ทัศนคติที่มีต่อตัวเองขั้นวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง หรือ Self-criticism ก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเหมือนอายุและสมรรถภาพทางกาย ที่แปรเปลี่ยนตลอดเวลาเช่นกัน… ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า การสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ทัศนคติ ได้เติบโตเป็นบวกกับตัวเอง อันเป็นประเด็นภายในที่ต้องหาเทคนิคให้ตัวเอง “เปลี่ยน” ไปสู่ทัศนคติที่เติบโตเป็นทัศนคติเชิงบวกให้ได้
ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… เสียงวิจารณ์จากภายใน หรือ Critical Inner Voice มีความสัมพันธ์โดยตรงกับภาวะซึมเศร้า หรือ Depression… ซึ่งหากมีมากและเกิดขึ้นประจำ… การใส่ใจอาการและการเยียวยาควรค้นหาสาเหตุและจัดการไปตามความเหมาะสม หรือปรึกษาจิตแพทย์ทันที
อ้างอิง