ในการพัฒนาองค์กรซึ่งทุกๆ องค์กรมักจะมีธรรมเนียม หรือ วัฒนธรรม หรือ Culture ขององค์กรที่สมาชิก “รู้ และ ปฏิบัติโดยปริยาย” ว่าอะไรต้องทำอย่างไรตอนไหน โดยหลายองค์กรมีวัฒนธรรมการทำงานที่น่าสนใจในแบบของตน ซึ่งส่วนใหญ่มีแนวปฏิบัติจนกลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กรได้ตั้งแต่การจัดสรรเวลากินข้าว เข้าห้องน้ำ วิธีพูดคุยทักทายลูกค้า การเตรียมข้อมูล การเดินเอกสาร การนัดประชุม… รวมทั้งการตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ และ ไม่เคยเกิดมาก่อน… ซึ่งทุกสิ่งที่ทุกคนในองค์ทำมา และ ดำเนินไปมักจะมีวัฒนธรรมองค์กรเป็นรากฐานอยู่แทบทั้งสิ้น การเปลี่ยนแปลงองค์กรทั้งเพื่อข้ามผ่านปัญหาอุปสรรค และ เพื่อการบุกเบิกโอกาสใหม่ๆ ที่ท้าทายจึงถูกแนะนำให้พิจารณาวัฒนธรรม หรือ Culture ขององค์กรก่อนเสมอ…
เพราะวัฒนธรรมองค์กรคือรากเหง้าที่ล่อเลี้ยงการมีอยู่ขององค์กรมาจนถึงปัจจุบัน และ การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรมักจะเป็นเรื่องยากที่สุดของทุกๆ องค์กรเสมอ… โดยเฉพาะองค์กรเก่าแก่ที่อยู่มานาน และ มีคนเก่า–คนแก่ทำงานแบบเดิมๆ มานานด้วยความภาคภูมิ และ คุ้นชินกับธรรมเนียม หรือ วัฒนธรรมเก่าของที่นั่น
ประเด็นก็คือ วัฒนธรรมองค์กรถูกใครสั่งให้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถึงแม้คนสั่งจะเป็นคนมีอำนาจวาสนา หรือ บุญหนักศักดิ์ใหญ่แค่ไหน… เพราะวัฒนธรรมองค์กรอันเป็นแนวปฏิบัติที่ทำกันมาจนชิน มักจะมี “ความรับผิดชอบ และ ความสำเร็จล้มเหลว” ของพนักงาน และ สมาชิกทีมที่ไม่อยาก “เสี่ยง” ให้ตัวเองล้มเหลวจากคำสั่งของใคร…
โดยเฉพาะการถูกสั่งให้ทำอะไรที่ฝืน “ความรู้สึกเสี่ยง” ของพนักงานแบบผู้นำเผด็จการ สุดท้ายก็มักจะกลายเป็นความขัดแย้งในองค์กรลุกลามเป็นปัญหาซ้ำซ้อนได้อีกมาก… การคิดจะเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรที่ทุกคนเข้าใจดีว่าจำเป็นอย่างยิ่งบนความท้าทายในปัจจุบัน จึงต้องวางแผน เตรียมการ และ สื่อสารให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจความเสี่ยงของวัฒนธรรมเก่า และ โอกาสในวัฒนธรรมใหม่หลังการเปลี่ยนแปลง… ซึ่งผู้นำองค์กรต้องทำหลายอย่างเพื่อลดแรงเสียดทานการเปลี่ยนผ่านนี้… โดยเฉพาะการออกแบบวัฒนธรรมองค์กรแนวทางใหม่บนเครื่องมือสื่อสารที่ทรงพลังต่อการรับรู้… ซึ่ง Gustavo Razzetti จาก Fearless Culture Design ได้แนะนำ Culture Design Canvas ในการออกแบบวัฒนธรรมองค์กร
Culture Design Canvas เป็นแผนภาพที่พัฒนาบนตาราง 9 ช่อง 10 ตัวแปรเพื่อใช้อธิบายภาพรวมของวัฒนธรรมองค์กรบนผืนผ้าใบชิ้นเดียว หรือ กระดาษแผ่นเดียว… โดยแต่ละช่องทั้ง 9 จะมีไว้เพื่อบรรจุ “คำอธิบายขนาดสั้น” ของตัวแปรวัฒนธรรมองค์กรในแต่ละด้าน ซึ่งมีอยู่ 10 ด้านที่เกี่ยวพันกันเป็นภาพรวม… การอธิบายทุกด้านลงในภาพเดียวกันแบบนี้จะทำให้ทุก “เห็นภาพ” ความสอดคล้อง หรือแม้แต่ ความย้อนแย้งของวัฒนธรรมองค์กรของตนที่คิด ทำ และ ดำเนินการอยู่… ซึ่งจะทำให้ค้นพบสิ่งที่เป็นอยู่ และ ควรจะเป็นไป… โดยทุกคนในองค์กรจะขัดแย้ง และ ถกเถียงน้อยลงจาก “ภาพรวม” เดียวกันที่มองเห็นพร้อมกัน และ ช่วยกันปรับแต่งด้วยเหตุด้วยผลได้ด้วยกัน
Culture Design Canvas เปล่า
ตัวอ่าง Culture Design Canvas ของ ZAPPOS
Culture Design Canvas โดย Gustavo Razzetti จาก Fearless Culture Design ทั้ง 9 ช่องประกอบไปด้วย
- Purpose หรือ วัตถุประสงค์ขององค์กร… ใช้อธิบายความสำคัญขององค์กร และ การต้องมีอยู่ขององค์กร เช่น ความสำคัญของการมีอยู่ของ Google ก็เพื่อจะจัดระเบียบข้อมูลช่วยคนทั้งโลก เป็นต้น
- Core Values หรือ ค่านิยมหลัก… ค่านิยมจะใช้อธิบายความคิด และ พฤติกรรมที่องค์กรคาดหวังจากทุกคนภายใต้ภาพ “คิดแบบนี้ ทำแบบนี้ คือ ที่สุดของพวกเรา”
- Priorities หรือ หลักสำคัญ หรือ เป้าหมายแรกสุด… จะใช้อธิบายกลยุทธ์หลักที่จะนำทางให้โฟกัสและทุ่มเททรัพยากรขององค์กรเพื่อเป้าหมายความสำเร็จนั้น
- Behaviors หรือ พฤติกรรม… จะใช้อธิบายพฤติกรรม และหรือ แนวปฏิบัติที่ยอมรับได้ และ ยอมรับไม่ได้… ส่งเสริม และ ต่อต้าน…
- Psychological Safety หรือ ปัจจัยความปลอดภัยทางใจ… จะใช้อธิบายปัจจัย และหรือ ภาวะที่สมาชิกทีมจะก่อความเสี่ยงต่อความทุกข์สุขในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่คุกคามความปลอดภัยต่อความคิดจิตใจของสมาชิกทีม
- Feedback หรือ คำติชม… จะมีไว้อธิบาย “ธรรมเนียมการติชม” เพื่อส่งเสริมการสื่อสารกันด้วยข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเปิดเผยจุดบอด การปรับปรุงพฤติกรรม และ ปรับปรุงการทำงานเป็นทีมที่ทุกคนสำคัญจนต้องร่วมแรงกัน
- Rituals หรือ พิธีกรรม… จะใช้อธิบายกิจกรรมกลุ่มของสมาชิกองค์กรที่มีไว้เพื่อส่งเสริมสายสัมพันธ์ เช่น เริ่มโครงการใหม่จะทำอะไรบ้าง… ต้อนรับพนักงานใหม่ทำอะไรกันบ้าง… ปิดการขายจบจะทำอะไรบ้าง เป็นต้น
- Decision Making หรือ การตัดสินใจ… จะระบุไว้เพื่ออธิบายกลไก และ สิทธิ์ในการตัดสินใจต่างๆ ที่เป็นเหตุการณ์ปกติขององค์กร
- Meetings หรือ การประชุม… จะใช้อธิบายกลไกการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะการตัดสินใจร่วมกัน และ การแบ่งปันข้อมูลกัน… ซึ่งจะระบุว่าต้องใช้ห้องประชุม หรือ ไม่ใช้ห้องประชุมก็ได้
- Norms and Rules หรือ บรรทัดฐานและกฎเกณฑ์… จะเป็นเหมือนรัฐธรรมนูญขององค์กร หรือ ข้อมูลอ้างอิงเพื่อใช้เป็นเกณฑ์เปรียบเทียบ “การตัดสิน” พฤติกรรมคน และ พฤติกรรมองค์กรในกรณีต่างๆ เมื่อถูกตั้งคำถามที่ท้าทายบนนัยยะที่ต้องตัดสินไปตามเกณฑ์ หรือ ใช้เงื่อไขใดๆ ภายใต้บรรทัดฐานและกฎเกณฑ์หลัก หรือ Major Rules ขององค์กร
อธิบายไว้คร่าวๆ น๊ะครับ… ส่วนตัวก็ยังใหม่มากกับ Culture Design Canvas ซึ่งควรจะต้องผ่านเวิร์คช็อปก่อนค่อยเอามาอธิบาย… แต่ถ้าผมรอไปเวิร์คช็อปเสียก่อนค่อยเอามาเล่าก็กลัวว่าต่อมขี้อวดจะอักเสบไปมากกว่านี้… ผิดตกหกหล่นไปบ้างก็ขออภัยไว้ตรงนี้ครับ
References…