Culture Eats Strategy for Breakfast

Culture Eats Strategy for Breakfast… วัฒนธรรมกลืนกลยุทธ์เป็นมื้อเช้า

วัฒนธรรมกำหนดพฤติกรรม พฤติกรรมกำหนดตัวตน… ผมจำไม่ได้ว่าผมจดวลีสองวรรคนี้มากจากไหน แต่ผมเก็บไว้ใน Shot note บนมือถือเครื่องเก่าที่ไม่ยอมทิ้งซะที จนกระทั่งหลุดจากมือกระแทกพื้นและกอบกู้อะไรไม่ได้… หลังการกู้คืน Account และดึงข้อมูล Backup กลับมา ผมก็เจอวลีสองท่อนนี้ และทำให้นึกถึงวลีอีกท่อนหนึ่งของ Peter Drucker ที่ยิ่งนานวันยิ่งโดดเด่นและชัดเจนจนกลายเป็นสัจธรรมแห่งอนาคตไปแล้ว… วลีนั้นคือ Culture Eats Strategy for Breakfast!

บริษัทที่ประสบความสำเร็จระดับส่งให้ Founder อย่าง Jeff Bezos กลายเป็นมนุษย์ที่รวยที่สุดในโลกอย่าง Amazon.com มีวัฒนธรรมองค์กรสั้นว่า Day one… คุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เขียนลงคอลัมน์ธุรกิจพอดีคำ ในมติชนสุดสัปดาห์ไว้ว่า…

บริษัท Amazon.com อีคอมเมิร์ซระดับโลก ก็มี “วัฒนธรรม” ชื่อเท่ๆ ว่า “วันแรกเสมอ (Day One)” เจฟฟ์ เบซอส เจ้าของบริษัท เขียนจดหมายถึงผู้ถือหุ้น อธิบายเอาไว้อย่างน่าสนใจ

Day One คือ วันแรกที่บริษัทเริ่มทำงาน… ทุกอย่างยังใหม่ มีแต่ความไม่แน่นอน… เป็นวันที่ยาก เป็นวันที่ต้องพุ่งเป้าทุกอย่างไปที่ความต้องการของลูกค้า… เป็นวันที่ “ความสำเร็จ” ยังไม่มาบดบัง “ความกล้าหาญ”… วันที่บริษัทเติบโตขึ้นมา จากความ “ไม่รู้” จนกระทั่ง “รู้อะไรบางอย่าง”… ความรู้สึกของ “วันแรก” ที่แต่ละคนเข้ามาทำงาน… ความตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ๆ และเรียนรู้ ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา

อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมคือ Facebook Culture ที่ลือลั่นอย่าง Move Fast, and Break Things… ที่ Mark Zuckerberg รับเอามาใช้กับ Facebook จนกลายเป็น Social Media Platform ที่มีคนใช้งานอยู่ค่อนโลก… Move Fast Culture ของ Facebook สร้างนวัตกรรมมากมายที่สร้างสรรค์ให้โลกธุรกิจ การตลาดและสังคมออนไลน์ที่เปลี่ยนโลกใบนี้ไปตลอดกาล และ Break Things Culture ก็ให้โอกาสนวัตกรใน Facebook ทำอะไรแตกหักเสียหายและล้มเหลวได้ เพื่อคัดเอาที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นส่วนน้อยมาต่อยอดกลายเป็นระบบนิเวศน์สื่อสังคมออนไลน์เปลี่ยนโลกอย่างในปัจจุบัน

วัฒนธรรมขององค์กร คือพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่หรือทั้งหมดในองค์กร… วัฒนธรรมในชาติ คือพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ในชาติ… และวัฒนธรรมในครอบครัว ก็คือพฤติกรรมของคนในครอบครัวที่ทำจนไม่ต้องเตรียมตัว  แต่กลมกลืนลื่นไหลและเป็นธรรมชาติกับชีวิตประจำวัน

จะว่าไปแล้ว… วัฒนธรรมก็คือพฤติกรรมที่คนกลุ่มหนึ่งทำเหมือนๆ กันภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน… เพียงแต่เมื่ออยู่คนเดียว เรามักจะเรียกว่าพฤติกรรมมากกว่าจะเรียกว่าวัฒนธรรม

ประเด็นก็คือ… วัฒนธรรมหรือพฤติกรรมสำคัญกว่ากลยุทธ์หรือแม้แต่นวัตกรรมหรือการเปลี่ยนแปลงรวมทั้งความรู้ในหลายๆ กรณี ที่นับวันจะสำคัญและชัดเจนต่อทุกเป้าหมายจนรู้สึกได้

ลองกลับไปดู Move Fast, and Break Things ของ Facebook ก็ได้ว่า… ถ้า Facebook ห้ามทำอะไรเสียหายและล้มเหลว พนักงานของ Facebook จะมีพฤติกรรมแบบไหนถ้าจะทำ Products ใหม่ๆ มาเสริมให้แพลตฟอร์มแข็งแกร่งและหลากหลายขึ้น… พนักงาน Facebook คงเข้าคิวขอปรึกษา Mark Zuckerberg ก่อนเริ่มโครงการใหม่ๆ และคงต้องขออนุมัติโน่นนี่เป็นระยะเพื่อให้ตัวเองไม่ต้องรับผิดชอบถ้าเกิดแตกหักเสียหาย หรือใช้จ่ายอย่างสูญเปล่า… ท่านคงนึกออกว่าวัฒนธรรมกลัวล้มเหลวไม่มีทางสร้างอะไรใหม่ๆ ได้… และไม่มีทาง Move Fastest ไปไหน!…

ตำราผู้นำองค์กรสมัยใหม่หลายเล่ม จึงให้ความสำคัญกับ Culture มากที่สุด ที่แม้แต่ศาสดาธุรกิจและการตลาดสมัยใหม่อย่าง Peter Drucker ก็ยกให้ Culture สำคัญกว่า Strategy ที่เทียบได้เพียงมื้อเช้าของอีกหลายๆ มื้อระหว่างวัน ที่มีทั้งมื้อหลักและอาหารว่าง

คำถามคือ… วัฒนธรรมองค์กรสะท้อนมาจากส่วนไหนบ้าง?… ตำราสมัยใหม่หลายเล่มระบุว่า วัฒนธรรมองค์กรคือพฤติกรรมของคนในองค์กรที่มีต่อสถานการณ์หนึ่งเหมือนๆ กันจากทุกๆ คนในองค์กร… รวมทั้งพฤติกรรมที่พนักงานปฏิบัติลับหลังผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจตัดสินใจเรื่องต่างๆ ด้วย… วัฒนธรรมจึงมีมิติกว้างและลึกจนสามารถใช้ทำนายทิศทางได้อย่างแม่นยำว่า วัฒนธรรมแบบไหนจะสร้างอะไรขึ้น

หลายท่านที่อยู่ในระบบนิเวศน์ Startup จะทราบดีว่า…  Venture Capital จะพิจารณา Culture ก่อนการลงทุนเสมอ แม้ว่า Startup บางรายจะเป็นเจ้าของสุดยอดไอเดียและเทคโนโลยีสุดล้ำ… VC ก็จะขอปรับ Culture จนพอใจก่อนยื่นเช็คทุนก้อนแรกเสมอ… การตื่นตัวเรื่อง Culture จึงกระพือจากหลายๆ ปัจจัยที่มองผลลัพธ์เชิงบวกที่ทำนายล่วงหน้าได้

ประเด็นจึงเหลือเพียงว่า… ถ้า Culture หรือ วัฒนธรรมคือพฤติกรรม… และพฤติกรรมทำนายอนาคต… แล้วท่านเห็นอนาคตแบบไหนจากพฤติกรรมอะไรบ้าง

สวัสดีปีใหม่อีกครั้งครับ…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts