ความสำเร็จกับความล้มเหลว… หลายกรณีเหมือนเม็ดกรวดในเหมืองเพชรที่คนเหมืองรู้ดีว่า ยิ่งขุดเจอกรวดเยอะเท่าไหร่ โอกาสเจอเพชรจะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น… ความสำเร็จกับความล้มเหลวจากการเรียนก็เช่นกัน ความล้มเหลวกับความสำเร็จจะปนๆ กันอยู่ ซึ่งความไม่รู้ก็ดี ความผิดพลาดสารพัดที่ทำให้การเรียนไม่บรรลุวัตถุประสงค์ก็ดี จะปนๆ อยู่กับความปลาบปลื้มตื้นตันที่ผลการเรียนออกมายอดเยี่ยม จนสามารถนำไปต่อยอดที่เป็นประโยชน์ได้อีกมาก
เหตุผลข้อเดียวที่คนเราต้องเรียนก็คือ เราไม่รู้… ทั้งไม่รู้เพราะเพิ่งเกิดมาบนโลกไม่นาน และไม่รู้เพราะอยู่มานานแต่ยังไม่รู้… การผิดพลาดบกพร่องระหว่างเรียนจึงควรได้รับการใส่ใจและประคับประคองจากระบบการศึกษาเพื่อปกป้อง “ความไม่รู้” ให้ถูกแก้ไขอย่างเหมาะสม ซึ่งแนวคิดการใช้ VESPA Mindset ได้ระบุช่วงเวลาที่จะเกิด “ความล้มเหลวโดยปริยาย” เอาไว้ให้ใส่ใจค่อนข้างชัดเจน โดยอ้างอิงแนวคิด The Dip ของ Seth Godin ที่อธิบายไว้ว่า… ไม่ว่าเราจะทำอะไรใหม่ก็แล้วแต่ แรกๆ จะสนุกและตื่นเต้นกับประสบการณ์ใหม่ แต่พอเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ซึ่งเจ้าตัวจะผ่านประสบการณ์ที่สนุกตื่นเต้นไปหมดแล้ว แถมยังได้เรียนรู้และประเมินตัวเองพอที่จะตัดสินใจได้ว่า… จะพยายามต่อไป หรือ เลิกล้มดี… คนส่วนใหญ่เลิกล้มและถอดความเพียรพยายามออกจากเป้าหมายนั้น ซึ่งเกิดจากความไม่รู้สะสมซับซ้อน… ไม่ต่างจากคนทำเหมืองเพชรที่รู้ว่าใต้ก้อนกรวดยังมีหินเลอค่าปนอยู่ แต่เมื่อขุดไปเจอแต่กรวดกับดินไร้ค่าก็ถอดใจ… เหมือนหลายคนเลิกเรียนเพราะอยากไปทำงานเอาตังค์ก่อน แต่พอบั้นปลายกลับเสียดายโอกาสที่ไม่ได้เรียน… หรือแม้กระทั่งการลงทุนที่น้อยเกินกว่าจะเห็นผลตอบแทนก็ถอดใจก่อน… ความสำเร็จที่วาดไว้ตอนต้นจึงหายไปทันทีที่เลิกลา
ในหนังสือ The Student Mindset: A 30-Item Toolkit For Anyone Learning Anything ของ Steve Oakes และ Martin Griffin ได้หาแนวทางปกป้องผู้เรียนในระหว่างอยู่ในภาวะ Dip ที่ความตื่นเต้นเชื่อมั่นภาคภูมิตอนต้น ถูกกดดันให้ตกต่ำจนใกล้จุดที่จะตัดสินใจล้มเลิกหรือพยายามต่อ… โดยแนวทางแรกที่ Steve Oakes และ Martin Griffin เลือกใช้ก็คือ Dalio’s 5 Step Process จากหนังสือ Principles… หนึ่งในหนังสือ How to 30 เล่มหลัก ซึ่งนักบริหารที่ประสบความสำเร็จต่างเคยอ่านและแนะนำทั้งสิ้น
สิ่งที่คนอ่าน Principles ของ Ray Dalio สรุปไว้ใกล้เคียงกันเมื่ออ่านจบก็คือ Dalio’s 5 Step Process หรือ หลักการ 5 ขั้นตอนของดาลิโอ จะทำให้คนใช้เป็นได้แผนที่นำทางชีวิตที่ชัดเจนและเป็นปัจจุบัน ไม่ใช่ลายแทงยุคสงครามโลกที่ได้มาเพราะมีคนทรงเจ้านิมิตรเจอ… ไปดูพร้อมกันเลยครับว่ามีอะไรบ้าง
1. Goals หรือ เป้าหมาย
คำน่าเบื่ออย่างเป้าหมายเป็นเรื่องแรกที่ต้องแนะนำให้กำหนดและเลือกอย่างดี… แต่ต้องระวังจะสับสนระหว่าง เป้าหมาย กับ ความอยาก… เพราะหลายครั้งที่เราคิดว่าความอยากฉาบฉวยเป็นเป้าหมายใหญ่ ซึ่งต้องเน้นคำว่าเป้าหมายใหญ่ ที่หมายถึงหมุดหมายในภายหน้า ที่ชีวิตคนๆ หนึ่งจะไปให้ถึงตรงนั้น… จะเป็นหมอ เป็นนักบัญชีหรือนักการตลาด… หรืออยากมีบ้าน อยากได้รถ อยากไปเที่ยวเมืองนอก ซึ่งเป้าหมายใหญ่อย่างการเรียนเพื่อทำอาชีพที่รักและทำให้ได้ดี จะเป็นเป้าหมายหลัก ที่สามารถนำความสำเร็จของเป้าหมายหลัก มาสนองความอยากซึ่งเล็กกว่ามากได้ทั้งหมด…
2. Problems หรือ ปัญหา
โดยทั่วไปแล้ว… เราในปัจจุบันกับเป้าหมายที่ชัดเจนในอนาคต จะถูกกั้นด้วยปัญหามากมาย จนทำให้เป้าหมาย ยังเป็นเป้าหมายที่รอให้กลายเป็นความสำเร็จอยู่อีกไกล ข่าวดีก็คือ คนส่วนใหญ่ระบุปัญหาที่ขวางอยู่ได้หมด แต่… บางส่วนสับสนระหว่าง สาเหตุของปัญหา กับ ตัวปัญหาหรือผลกระทบจากปัญหา… กรณีไม่มีตังค์ใช้ ซึ่งเป็นปัญหาและผลกระทบจากการไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่มากพอกับรายจ่ายซึ่งเป็นสาเหตุ… การกู้เงินมาให้มีใช้ จึงเป็นหนี้เพิ่มขึ้นและสาเหตุของปัญหาไม่ถูกแก้… ซึ่งต้องย้อนกลับไปแก้ที่รายได้แทนที่จะแก้ที่ไม่มีตังค์ใช้
3. Diagnosis หรือ วินิจฉัยปัญหา
ปัญหาที่คาชีวิตหรือเส้นทางเป้าหมายทุกอย่าง… ย่อมไม่ใช่ปัญหาที่เข้าใจง่ายหรือแก้ง่ายสำหรับคนที่ติดขัดจมจ่อมกับปัญหาและอุปสรรค์แน่ๆ เพราะถ้าแก้ไขได้ง่ายก็น่าจะแก้ได้ไปแล้ว… การวิเคราะห์ปัญหาทั่วไปเพื่อเข้าใจจึงเป็นการดูเบาต่อปัญหาเกินไป ทำให้หลายคนติดอยู่กับปัญหา และมักจะอธิบาย “ความขัดสนในการแก้ปัญหา” เป็นเรื่องที่ตนเองตัดสินใจอะไรไม่ได้ หรือ อยู่นอกเหนือการควบคุม… กรณีไม่มีตังค์ใช้เพราะรายได้ไม่พอ คนๆ นั้นจะเข้าใจว่าตัวเองไม่มีเงินลงทุน ไม่มีทักษะอาชีพที่สอง นายจ้างใช้งานหนักจนไม่มีเวลาทำอาชีพเสริม เปลี่ยนงานก็ไม่มีใครรับอีกแล้วเพราะอายุมาก และเหตุผลอีกร้อยแปดที่ต้องจมกับปัญหานั้นต่อไป… โดยลืมไปว่า ทั้งหมดที่ไล่เรียงมานั้น เป็นข้อวินิจฉัยว่า ไม่ได้มีคุณสมบัติที่จะเป็นคนมีเงินใช้เลยสักข้อเดียวในชีวิต
สูตรการวินิจฉัยที่แนะนำก็คือ ให้สาวกลับไปหาต้นตอของปัญหาด้วยการ “ถามทำไม หรือ Why” ต่อเนื่องไปอย่างน้อย 5 ชั้น แบบที่เรียกว่า Chain Why Technique ซึ่งเป็นแนวทางการคิดวิเคราะห์ หรือ Critical Thinking แนวทางหนึ่ง
4. Design หรือ ออกแบบ
เมื่อสามารถวินิจฉัยปัญหาได้ ที่หมายถึงรู้สาเหตุและหาทางแก้ได้แล้ว ก็ต้องมานั่งวางแผนว่าจะจัดการให้ปัญหาถูกแก้ไขด้วยขั้นตอนอย่างไรได้บ้าง… คำแนะนำของ Ray Dalio ผู้เขียนหนังสือ Principles และหนึ่งในบุคคลที่มีทรัพย์สินติดอันดับ 100 มหาเศรษฐีโลก แนะนำให้เรียนรู้จากอดีต… โดยมองกลับไปข้างหลัง เพื่อเรียนรู้จากความผิดพลาด แล้วจึงวางแผนไปข้างหน้า… ซึ่งการตัดความพลั้งพลาดออกไปจากเส้นทางสู่เป้าหมาย โดยไม่ให้เกิดผิดพลาดซ้ำอีกเหมือนในอดีต โดยทั่วไปย่อมปิดโอกาสล้มเหลวลงได้มาก… และการออกแบบที่ดีจะชัดเจน ไม่คลุมเครือหรือต้องไปลุ้นต่อเอาข้างหน้าระหว่างทาง
5. Do It… ทำซ่ะ
แผนดีต้องกล้าทำ แผนเด็ดต้องกล้าลงทุน… ถ้ายังไม่กล้าทำแสดงว่าแผนยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ ก็ต้องกลับไปออกแบบแผนใหม่ให้มีประสิทธิภาพ…
ทั้งหมด 5 ขั้นประมาณนี้… อย่างคร่าวๆ ครับ… ซึ่งรายละเอียดปลีกย่อยในแง่มุมต่างๆ จะมีให้พูดถึงอีกเยอะ… ความสำเร็จที่หมายถึงการไปถึงเป้าหมายของคนๆ หนึ่ง ซึ่ง “การเรียนให้ประสบความสำเร็จ” มักจะเป็นความสำเร็จแรกที่จะประกับความสำเร็จอื่นๆ ที่จะไปเจอในอนาคตตลอดเส้นทาง… และทั้งหมดที่สำคัญก็คือการลงมือทำตามแผนในขั้นที่ 5 เท่านั้นจึงจะเปลี่ยนจากแผนนิ่งๆ เป็นแผนที่ให้ผลลัพธ์สู่ความสำเร็จยั่งยืน
ตอนหน้ามาดูแนวทางสานแผนจนเป็นความสำเร็จด้วยกันครับ!
บทความชุด VESPA Mindset ถอดความจากหนังสือ The Student Mindset ตอนอื่นๆ ที่ท่านอาจจะสนใจครับ
- Vespa Mindset
- Students’ Vision and Attitude… จุดเริ่มต้นของ VESPA Model
- 15 Possible Motivations… พลังงานขับเคลื่อนพฤติกรรมการเรียนรู้
- 5 Roads of Vision Activity
- The Roadmap of Vision for Student Mindset
- Weekly Rule of Three… เมื่อความเพียรสำคัญต่อความสำเร็จ
- Collecting and Shaping for VESPA Mindset… รวบรวมและเรียบเรียง
- Mapping New Territory for VESPA Mindset แผนที่การเรียนรู้สิ่งใหม่
- Knowledge Organizer for VESPA Mindset
- Creativity Organizer for VESPA Mindset
- Enjoy–Understanding Metrix… เครื่องมือประเมินกิจกรรมการเรียนการสอน
- Types of Attention… ระดับความสนใจใฝ่เรียน
- Flow for VESPA Mindset… เมื่อผู้เรียนก็ต้องการจดจ่อดำดิ่งกับการเรียน
- Feedback for VESPA Mindset… เมื่อผู้สอนต้องฟังผู้เรียนให้มาก
- Information Overwhelm and VESPA Mindset… เมื่อข้อมูลหลากล้น
- Adapting Testing and Performing… ปรับเปลี่ยน ลองเรียนและลุยเลย
- Information + Experience = Knowledge… สูตรเรียนเก่งแบบ VESPA Mindset
- Independent Effort Activity Design… ออกแบบกิจกรรมที่ต้องพากเพียรเรียนรู้และฝึกฝน
- K-SPA… เครื่องมือฟันฝ่าอุปสรรค
- Problem Solving Cycle for VESPA Mindset
- The Art of Reactions to Feedback… ศิลปะการรับมือกับเสียงติชม
- The Dip… ช่วงเวลาอันอ่อนไหวเปราะบางต่อความสำเร็จ