ถ้าเรารู้ว่า… พรุ่งนี้ฝนจะตก ออกจากบ้านพรุ่งนี้ต้องเตรียมร่มไปด้วยแน่ๆ… หมอประจำตัวเห็นค่าน้ำตาลในเลือดเกินค่าปกติมามาก หมอก็คงทั้งขู่ทั้งปลอบให้ควบคุมอาหาร หรือแม้แต่นาฬิกานับระยะทางที่ใส่วิ่งเตือนว่าเราวิ่งครบตามที่ต้องการแล้วน๊ะ เราก็คงชะลอเท้าลงและเดินวอร์มต่ออีกหน่อยก็เลิกวิ่งเพื่อไปทำธุระอื่นต่อ
ในชีวิตจริง… ทุกๆ กิจกรรมล้วนเริ่มต้นที่ตัดสินใจเริ่ม และหยุดลงเมื่อตัดสินใจจะหยุด ข้อเท็จจริงที่บอกว่า สมองคนเราฟังก์ชั่นข้อมูลมากมายเพื่อเสนอการตัดสินใจให้เจ้าของสมอง สนองตอบตามการตัดสินใจนั้น ซึ่งหมายความว่า การตัดสินใจเป็นเรื่องของการใช้ข้อมูลมาสรุปเป็นเหตุเป็นผลแทบจะทุกกรณี ทั้งโดยธรรมชาติและโดยความพยายาม หรือ ทั้งที่รู้ว่ามีการตัดสินใจและไม่รู้ตัวว่าได้เกิดการตัดสินใจไปแล้ว
แน่นอนว่า… เมื่ออธิบายในมุมมองนี้จะหมายถึง สมองคนเรามีการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปสังเคราะห์เป็นคำตอบ หรือ สังเคราะห์เป็นการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง และการมาถึงของยุคดิจิทัลอันมีข้อมูลมากมายมหาศาล ถูกป้อนเข้าสู่การรับรู้ของสมอง เพื่อให้สมองวิเคราะห์และสรุปเป็นคำตอบ…
ปัญหาก็คือ ข้อสรุปหรือคำตอบที่ได้หลายกรณีและเป็นส่วนใหญ่ด้วยนั้น สมองทำการวิเคราะห์ด้วยข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ตั้งแต่ข้อมูลผิดๆ… ข้อมูลน้อยเกินไป หรือแม้แต่ข้อมูลมากเกินไปบ้างก็เป็นปัญหาผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้หมด…
โดยปกติ การพูดถึงข้อมูลส่วนใหญ่จะโฟกัสไปที่เรื่องทางธุรกิจหรือการตัดสินใจที่ซับซ้อนจนบางครั้งรู้สึกว่า… การใช้ข้อมูลไม่ได้ง่าย ทั้งๆ ที่โดยธรรมชาติแล้วสมองของเราใช้ข้อมูลขับเคลื่อนพฤติกรรมของเราตลอดเวลา
เวบไซต์ Master of Science in Management ของ Ohio University ได้เผยแพร่เอกสารชื่อ 5 Essentials for Implementing Data-Driven Decision-Making เป็นบทความชี้แนะแนวทางการใช้ข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจทางธุรกิจ และก็มีข้อชี้แนะที่น่าสนใจแต่ก็ดูจะไม่เหมาะกับคนทั่วไปที่ไม่เข้าใจข้อมูลที่ว่านั้นเท่าไหร่… และยังมีเวบไซต์อีกมากที่แนะนำการใช้ข้อมูลขั้นเทคนิคจนดูเหมือนยากสำหรับหลายๆ คน
โดยส่วนตัวผมมองว่า… การใช้ข้อมูลขับเคลื่อนผลักดันการตัดสินใจเพื่อธุรกิจ ก็เป็น Mindset เดียวกันกับการใช้ข้อมูลขับเคลื่อนการตัดสินใจเรื่องส่วนตัว โดยการฝึกใช้ข้อมูลตัดสินใจเรื่องส่วนตัวให้เป็นนิสัย เหมือนการใช้ข้อมูลจาก weather.com มาเตรียมตัวเพื่อรับมือกับฝนฟ้าแทนการแหงนมองก้อนเมฆแล้วใช้ความรู้สึกวัดเอาดิบๆ ตรงนั้น… และนิสัยการใช้ข้อมูลเป็นของคนๆ นั้น ย่อมสามารถนำทักษะไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์แนวทางอื่นๆ แบบไหนอีกก็ได้
ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ การฝึกใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ สำคัญกับทักษะในอนาคต หรือทักษะในศตวรรษที่ 21 และโดยส่วนตัวแล้วผมแนะนำให้ฝึกกับเรื่องเล็กๆ ที่เกี่ยวกับตัวเองจนเป็นนิสัย ก่อนจะเอาข้อมูลไปใช้ช่วยตัดสินใจเรื่องยากๆ ซึ่งหลายครั้ง จำเป็นต้องพึ่งคอมพิวเตอร์ รวมทั้งใช้ขั้นตอนทางเทคนิคช่วยกรองและจัดการข้อมูลให้เราก่อนชั้นหนึ่ง
Data Driven Decision Making หรือ DDDM จึงเป็นการตัดสินใจโดยอาศัยข้อมูลที่ยากและใช้เวลามากกว่า ซึ่งตรงข้ามกับการใช้สัญชาตญาณการสังเกตหรือการคาดเดา… แต่คุณค่าของการตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของข้อมูลและการวิเคราะห์หรือการตีความด้วย ซึ่งการใช้ DDDM จนได้คุณค่าสูงสุด จะทำให้ความผิดพลาดในการวางแผนใดๆ ต่ำลงที่สุดได้ด้วย
อย่างที่เรียนไปตอนต้นว่า… การใช้ DDDM หรือใช้ข้อมูลช่วยตัดสินใจในชีวิตประจำวันโดยไม่เว้นแม้เป็นเรื่องส่วนตัว เป็น Mindset เดียวกันกับการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจทางธุรกิจ… เพียงแต่การใช้ในเรื่องส่วนตัวและชีวิตประจำวัน อาจจะไม่มีความซับซ้อนของข้อมูลเท่ากับกรณีการใช้ทางธุรกิจ และหลายๆ กรณีก็มีข้อมูลที่วิเคราะห์และสังเคราะห์มาจากข้อมูลที่ซับซ้อนให้บริการพร้อมใช้แล้ว… กรณีข้อมูลพยากรณ์อากาศ… ข้อมูลสภาพการจราจร… ข้อมูลจำนวนคิวที่รอโต๊ะของร้านอาหารที่อยากไปกิน และข้อมูลอื่นๆ อีกมากที่เพียงแต่ค้นๆ เอาในมือถือ ก็จะมีข้อมูลช่วยลดความผิดพลาดได้เยอะ… และยังได้ฝึกการใช้ข้อมูลให้คุ้นเคยจนเป็นนิสัยอีกด้วย
ส่วนเทคนิคการฝึกที่อยากแนะนำก็คือ… ตั้งคำถาม แล้วไปหาข้อมูลที่ดีที่สุด ครบที่สุดและเชื่อถือได้ที่สุดมาตอบ… เท่านั้นเอง
References…