ผมเป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสคลุกคลีอยู่กับข้อมูลฝั่งเทคนิคมานาน จนคนรู้จักส่วนใหญ่มักจะมีเรื่องข้อมูล หรือ Data สารพัดแบบ ตั้งแต่ข้อมูลไม่กี่สิบแถวจากเพื่อนๆ น้องๆ ที่เรียนทำวิจัย ไปจนถึงก้อนข้อมูลมหึมาที่สะสมไว้ตั้งแต่คอมพิวเตอร์จอดำตัวอักษรสีเขียว ที่ธุรกิจยักษ์ๆ เก็บสะสมมาจนถึงยุค 5G ที่คนหอบมาก็เวียนหัวมาก่อนหลายรอบ และบ่อยครั้งผมก็เวียนหัวทั้งกับข้อมูลที่เห็น และเวียนหัวจากการโยกคอส่ายหน้าจนมวนท้อง
คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนที่ทำงานระดับนโยบายล้วนเห็นคุณค่าของข้อมูลมานานแล้ว ซึ่งผมเคยเห็นโกดังเก็บแฟ้มข้อมูลขนาดใหญ่ ถึงขั้นต้องใช้รถฟอร์คลิฟท์วิ่งทำงานในโกดังทั้งวันก็มี… ซึ่งการเก็บข้อมูลลงแฟ้มกระดาษสะสมไว้มากมาย พร้อมกฏระเบียบและมาตรการต่างๆ ละเอียดยิบที่เห็น สะท้อนถึงวิสัยทัศน์การสะสมข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ในทางใดทางหนึ่งในอนาคตอย่างชัดเจน
วิสัยทัศน์การสะสมข้อมูลในยุคดิจิทัลก็ไม่ต่างกัน องค์กรส่วนใหญ่ยังคงสะสมข้อมูลเอาไว้ตลอดเวลา แม้ไม่เห็นเป็นแฟ้มเป็นลังหรือเป็นโกดังเหมือนแต่ก่อน… แต่ “การใช้ประโยชน์จากข้อมูล” ก็ยังคงไม่ชัดเจน แม้จะรู้ดีว่าข้อมูลเหล่านั้นมีประโยชน์ระดับ การลบทิ้งคือความเสียหายใหญ่หลวงที่น้อยคนจะคิดทำ… โดยเฉพาะในระดับองค์กร ซึ่งส่วนใหญ่ยังลงทุนเพิ่มพื้นที่เก็บข้อมูลให้จุได้มากขึ้น พร้อมกลไกการสำรองอย่างดีเพื่อกันพลาด… จนกระทั่งวันหนึ่งอยากจะใช้ข้อมูลเก่าขึ้นมาจริงๆ นั่นแหละ… หลายท่านที่ผมเจอจึงมาพร้อมกับสีหน้าคนเวียนหัว เพียงเพื่อหาคนช่วยยืนยันว่า… ข้อมูลก้อนนั้นทำคนเวียนหัวไม่มียกเว้นเท่านั้นเอง
การใช้ข้อมูลยุคแฟ้มลังโกดังและฟอล์คลิฟท์ จะเริ่มต้นที่ระบบค้นคืนตามดัชนีอ้างอิงของระบบที่กำหนดไว้ เช่น เลขที่เอกสาร เลขที่แฟ้ม… ซึ่งจะมีคนดูแลข้อมูลทำหน้าที่เป็น Datakeeper คอยจัดระบบแฟ้มข้อมูล โดยเฉพาะการขอใช้ทั้งยืมและคืนแฟ้ม เพื่อให้การหยิบข้อมูลที่ต้องการใช้ เสียเวลาน้อยที่สุดและไม่มั่ว เมื่อต้องใช้ร่วมกันหลายคนจากหลายฝ่ายและหลายหน้าที่… แต่เมื่อต้องการใช้ข้อมูลจำนวนมาก ที่หมายถึงข้อมูลหลายๆ แฟ้มจากหลายๆ ลังและหลายๆ โกดัง เพื่อมานับรวมบ้าง แยกข้อมูลมาดูเป็นกลุ่มบ้าง หรือดูเป็นหมวดหมู่ที่ซ้อนๆ กันอยู่บ้าง… หรือก็คือการเอาข้อมูลยุคแฟ้มลังโกดังและฟอล์คลิฟท์มาวิเคราะห์นั่นเอง ซึ่งมักจะเป็นเรื่องใหญ่โตและแทบจะเป็นเรื่องยาก ถึงยากมาก ที่จะเอาข้อมูลมารีวิวดูองค์ประกอบในมิติต่างๆ พ่อใช้ประโยชน์จริงจัง สุดท้ายข้อมูลในแฟ้มเหล่านั้นถูกเก็บไว้รอวันทำลายโดยปริยายเป็นส่วนใหญ่
แต่การวิเคราะห์ข้อมูลในยุคดิจิทัล… ง่ายดายกว่าการใช้ Datakeeper ที่เป็นมนุษย์ช่วยดึงแฟ้มมากมาย แต่ปัญหาของการใช้ข้อมูลที่สะสมไว้ให้เป็นประโยชน์จริงๆ ก็ยังเป็นเรื่องคลุมเครือน่าเบื่อหน่ายสำหรับหลายๆ องค์กร… ซึ่งประสบการณ์ส่วนตัวที่พบโดยมาก ไม่ได้เป็นปัญหาของข้อมูลหรือแม้แต่วิสัยทัศน์การใช้ข้อมูลเลยแม้แต่น้อย… ส่วนใหญ่เป็นปัญหาภาวะผู้นำครับ!
ประเด็นเป็นแบบนี้คือ… องค์กรทั้งหมดขับเคลื่อนธุระการงานประจำวันอยู่มาได้จนเป็นองค์กร ก็ด้วยธุรกรรมที่มีข้อมูลหนุนหลังอ้างอิงการดำเนินการต่างๆ อยู่ทั้งสิ้น นั่นแปลว่ากระแสข้อมูลเดิมที่ไหลล่อเลี้ยงองค์กรอยู่มาได้จนถึงปัจจุบัน ข้อมูลที่ไหลอยู่จนคุ้นเคยเหล่านั้น เป็นส่วนสำคัญและยังสำคัญอยู่ต่อไป แม้จะต้องเปลี่ยนผ่านและปรับปรุงกลไกการใช้ข้อมูลให้ทันสมัยขึ้นก็ตาม…
การเปลี่ยนองค์กรไปใช้กระแสข้อมูลใหม่ขับเคลื่อน จึงไม่ต่างจากการทุบบ้านหลังเดิมเพื่อสร้างหลังใหม่ ซึ่งเจ้าของบ้านและคนอาศัยต้องวางแผนว่าจะทำอย่างไรบ้างระหว่างรื้อบ้านเก่าไปแล้วจนไม่มีที่อาศัย แถมบ้านใหม่ก็เพิ่งจะเริ่มสร้างและกว่าจะเสร็จก็อีกหลายเดือน… แน่นอนว่าหัวหน้าครอบครัวต้องวางแผน ซึ่งก็มีทางออกมากมายตามเงื่อนไขเฉพาะตน ที่แต่ละครอบครัวจะหาทางออกได้
แต่กรณีของการใช้ข้อมูลขับเคลื่อนองค์กรในยุคดิจิทัล… ซับซ้อนกว่าการย้ายบ้านในหลายๆ มิติ ถึงขั้นที่การปรับตัวเพื่อใช้ข้อมูลสมัยใหม่ กลายเป็นเรื่องล้มเหลวเรื่องหนึ่งในองค์กรณ์ที่ปรับเปลี่ยนได้ช้าจนถึงเปลี่ยนไม่ได้เลยก็มีให้เห็นมากมาย… ซึ่งปัญหาและอุปสรรค์ของการใช้ข้อมูลระดับองค์กร มักจะมาจาก “ความไม่พร้อมของบุคลากร” โดยเฉพาะผู้นำระดับกลาง หรือ Middle Management ที่ถูกดันมาทำงานด้าน Data ทั้งๆ ที่ไม่เชี่ยวชาญ… ซึ่งถ้าประกอบเข้ากับ วิสัยทัศน์และเป้าหมายการใช้ข้อมูลวิเคราะห์ หรือ Data Analytics ที่ “คลุมครือเกาะกระแสมากกว่าจะเกาะแก่นองค์กร” โดยผู้นำระดับสูงที่ส่วนใหญ่ “ยังเชื่อกึ๋นกับเก๋า” ของตัวเอง มากกว่าข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้ว
โดยส่วนตัวผมจะมีคำแนะนำองค์กรและผู้นำองค์กรยุคตื่นข้อมูลที่ยกประเด็นมาแลกเปลี่ยนพูดคุยว่า… เอาแผนต่างๆ ที่จะขับเคลื่อนในอนาคตมาประเมินดูก่อนว่า ต้องใช้ข้อมูลกับแผนส่วนไหนอย่างไรหรือไม่ เพื่อให้แผนบรรลุวัตถุประสงค์ หรือตัวชี้วัดตามแผน ถ้าใช้กับไม่ใช้ข้อมูลก็ไม่ต่างกัน แปลว่าท่านและองค์การของท่านเล็กเกินจำเป็นต้องใช้ข้อมูลแม่นๆ แล้วหล่ะครับ… ส่วนกระแสข้อมูลที่ไหลอยู่ก็เพียงแค่ไปดูและจัดการให้ข้อมูลเดิมๆ ไหลตามจังหวะของกิจธุระให้ทันกันก็เพียงพอ
ส่วนที่คิดการใหญ่จนร้อนรุ่มสุมทรวงนั้น… ท่านจะทราบเองว่าหลักไมล์เริ่มต้นใหม่ควรจะวางตรงไหนของแผนเมื่อตัวตนการใช้ข้อมูลทำแผนชัดเจนแล้ว
ประมาณนั้น!!!
References…