Debt Load

ร่างกฎหมายอัตราดอกเบี้ยและวิธีคิดดอกเบี้ยใหม่… #RederSMEs

ปัญหาโครงสร้างต้นทุนทางการเงินที่ภาคเอกชนผู้ต้องกู้หนี้ยืมสินมาประกอบกิจการนั้น ภาคเอกชนไทยโดยเฉพาะ SMEs และสินเชื่อรายบุคคลซึ่งต่างก็เจอปัญหา “ดอกเบี้ย” ซับซ้อนจนเราได้เห็นผลประกอบการของอุตสาหกรรมดอกเบี้ยที่ยืนหนึ่งร่ำรวยโดดเด่นมาแต่ไหนแต่ไร…

ปัญหาดอกเบี้ยไม่เป็นธรรม ไปจนถึงเทคนิค “ยัดเยียดภาระดอกเบี้ย” ในกรณีผิดนัดชำระและเป็นหนี้เสียที่เงินต้นและดอกเบี้ยอาจกลายเป็นหายนะของใครหลายคน

ช่วงปลายปี 2020 ที่ผ่านมา… ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศ “กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้” โดยมีวัตถุหลักสำคัญเพื่อช่วยลดภาระหนี้ สร้างความเป็นธรรมในการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชน และลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพในระบบการเงิน โดยกำหนดแนวปฏิบัติที่สำคัญในระบบการเงินของไทยใน 3 เรื่อง ดังนี้

1. การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ต้องคิดบนฐานของเงินต้นที่ผิดนัดจริงเท่านั้น 

ธนาคารแห่งประเทศไทย “ไม่ให้รวมส่วนของเงินต้นของค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ” ต่างจากแนวปฏิบัติจากของเดิมที่หากผิดนัดชำระหนี้เพียงงวดเดียว สามารถให้ผู้บริการทางการเงินหรือเจ้าหนี้สามารถคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากฐานเงินต้นคงค้างทั้งหมด ทำให้ให้มูลค่าดอกเบี้ยผิดนัดสูงมาก ซึ่งเกณฑ์ใหม่นี้จะทำให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ไม่สูงมากและสอดคล้องกับข้อเท็จจริง เกิดความเป็นธรรมกับลูกหนี้มากยิ่งขึ้น

2. อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกเพิ่มได้ไม่เกิน 3%

โดยจะต้องมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ที่อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกิน 3% ดังตัวอย่าง…

หากอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาคือ 8% ธนาคารผู้ให้บริการทางการเงินหรือเจ้าหนี้จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 11% โดยจะต้องคำนึงถึงประวัติการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่ผ่านมาด้วย 

ซึ่งต่างจากเดิมที่ธนาคารหรือเจ้าหนี้ สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้เอง เช่น กำหนดตามอัตราดอกเบี้ยสูดสุดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ 15% หรือบางกรณีสูงถึง 18-22% ทำให้ภาระตกไปเป็นของลูกหนี้โดยทันทีจนลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้… 

ดังนั้น การปรับเกณฑ์ในครั้งนี้ จะช่วยให้ลูกหนี้สามารถจ่ายชำระหนี้พร้อมกับลดโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ และในระยะยาวยังช่วยให้ระบบการเงินมีความสมดุลมากขึ้น ส่งผลให้การฟ้องร้องจะลดลงในที่สุด

3. ตัดค่างวดที่ค้างชำระนานที่สุดเป็นลำดับแรก

การกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้… โดยจะต้องตัดค่างวดที่ค้างชำระนานที่สุดเป็นลำดับแรกเสมอ เพื่อให้ลูกหนี้รับรู้ถึงลำดับการตัดชำระหนี้ที่ชัดเจน โดยก่อนหน้านั้น… เมื่อลูกหนี้จ่ายเงินเข้ามาจะถูกนำไปตัดค่าธรรมเนียมทั้งหมด ตามด้วยดอกเบี้ยทั้งหมด ก่อนนำเงินส่วนที่เหลือมาตัดเงินต้น โดยไม่ได้สนใจเงินต้นของงวดหนี้ที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน จนในที่สุดลูกหนี้กลายเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ หรือ NPL 

ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมจึงมีการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ โดยกำหนดให้ เมื่อลูกหนี้ชำระหนี้ เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปจ่ายค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นของงวดหนี้ที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน ซึ่งการปรับเกณฑ์ใหม่นี้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้เงินงวดที่ลูกหนี้ผ่อนในแต่ละเดือนสามารถตัดถึงเงินต้นได้มากขึ้น ช่วยลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพ รวมทั้งช่วยให้ลูกหนี้มีกำลังใจในการจ่ายชำระหนี้ต่อเนื่อง และยังช่วยให้ประวัติการผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากขึ้น

สำหรับการประกาศกำหนดเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2564 โดยจะยังคงยกเว้นเรื่องลำดับการตัดชำระหนี้ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.  2564 เป็นต้นไป 

อนึ่ง… ธนาคารและผู้ให้บริการทางการเงินต้องใช้เวลาในการปรับปรุงระบบงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การใช้ฐานของงวดที่ผิดนัดชำระหนี้จริงมาคำนวณตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้มีหนังสือเวียนไปก่อนหน้านี้ นับตั้งแต่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ถึงธนาคารและผู้ให้บริการทางการเงิน ให้ปรับมาใช้เกณฑ์ใหม่ในการคำนวณแล้ว 

ประชาชนและกลุ่มธุรกิจ SMEs จะได้รับสิทธิตามที่ประกาศฉบับนี้กำหนดเป็นการทั่วไป โดยที่ท่านไม่จำเป็นต้องติดต่อกับสาขาของผู้ให้บริการทางการเงินเพื่อแก้ไขสัญญาแต่อย่างใด 

และความคืบหน้าล่าสุดก่อนการบังคับใช้เกณฑ์ใหม่ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456…  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2564 ได้เห็นชอบร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ “ปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยและวิธีคิดดอกเบี้ย” ให้เป็นธรรม ซึ่งเป็นกฏหมายที่ใช้มาแล้ว 95 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2468 จนถึงปัจจุบัน เพื่อไม่ให้ลูกหนี้ถูกเอาเปรียบและสอดคล้องกับเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป

โดยปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ “กรณีที่สัญญาเงินกู้ไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้” จากเดิมอัตราคงที่ 7.5% ต่อปี แก้ไขปรับลดเป็น 3% ต่อปี โดยกระทรวงการคลังจะทบทวนทุกๆ 3 ปี ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ

และได้ปรับปรุง “ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้” จากเดิมอัตราคงที่ 7.5% ต่อปี แก้ไขปรับลดเป็น 5% ต่อปี…โดยกำหนดวิธีคิดดอกเบี้ยผิดนัดเมื่อผ่อนชำระเป็นงวด… ให้คำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ จากเงินต้น “เฉพาะงวดที่ผิดนัดเท่านั้น” ไม่ใช่คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นที่ค้างอยู่ทั้งหมดตามประกาศจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อนหน้านี้

สำหรับการผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2564 ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถนำหลักการตามประกาศฉบับใหม่มาใช้พิจารณายกเว้นหรือผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ตามสมควร โดยเฉพาะในปัจจุบัน ที่ลูกหนี้จำนวนมากกำลังเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด 19 หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม… สามารถสอบถามหรือร้องเรียนได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หรือ ศคง. ได้ที่ โทร. 1213

References 

กฎหมายอัตราดอกเบี้ย, วิธีคิดดอกเบี้ยใหม่, SMEs,

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *