การปรับตัวและเปลี่ยนแปลงในธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อ New Normal หรือ ความปกติใหม่หลังยุคโควิด ซึ่งข้อมูลในมือผมตอนนี้มีหลายอย่างชี้นำไปในทำนองว่า… สังคมโลกหลังยุคโควิดจะเดินหน้าท่ามกลางการระบาดภายใต้การจัดการอย่างเหมาะสม โดยไม่รอด้วยหวังว่าการควบคุมโรคและการระบาดจะเป็นศูนย์ โดยเฉพาะความหวังเรื่องการพึ่งวัคซีนเป็นหลัก ซึ่งดูเหมือนคนส่วนใหญ่จะส่างเมากับการเมืองระหว่างประเทศพ่วงวัคซีน และ ข่าวปั่นที่ไม่มีใครฝากความหวังไว้แบบเดิมอีก… โดยเฉพาะข่าวปั่นของคนในอุตสาหกรรมยาและอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ซึ่งเข้าทำนองขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา จนทำเอาเหยื่อข่าวปั่นเมากันเละ และ เห็นตัวเองล้อนจ้อนตอนส่างเมาไปเจอข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนไปไกลจากความเชื่อแรกมาก
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ… คนส่วนหนึ่งยังไม่ได้คิดเรื่องการปรับตัว หรือ พร้อมจะปรับตัวน้อยมากด้วยสารพัดเหตุผล และ จิตวิทยา ที่ทำความเข้าใจข้อมูลสาธารณะแล้วแปลงเป็นความคิด และ ความเชื่อส่วนตัวจนมั่นใจว่า ไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรก็สามารถยืนหยัดจนโลกโน้มกลับมาเป็นอย่างที่ตนคิดและเป็นอย่างที่ตนเชื่อ ซึ่งถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว และ สิทธิส่วนตัวก็ช่างเถอะ… แต่ถ้าเป็นความคิด และ ความเชื่อในบทบาทผู้นำองค์กร หรือ หน่วยงาน หรือ หน่วยธุรกิจก็คงช่างเถอะไม่ได้ เพราะการไม่เปลี่ยนแปลงจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เลวร้ายเสมอ…
ประเด็นก็คือ… ตรรกะเพื่อไม่ให้ตัวเองต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง หรือ ไม่ต้องยืดยุ่นอย่างที่ควรจะเป็น เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไปแล้วอย่างชัดเจน โดยเฉพาะองค์กรและธุรกิจที่ไม่ปรับตัวเพื่อให้อยู่ในสถานะแข่งขันได้ หรือ พร้อมเดินหน้าทำธุรกิจเชิงรุกในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่อ่อนไหว ซึ่งตัวเองและคู่แข่งอ่อนแอใกล้เคียงกันจากผลกระทบที่อยู่นอกเหนือการแข่งขัน หรือ ผลกระทบที่มาจากฟ้าดินและชะตากรรมร่วมกัน
พูดถึงการแข่งขัน… ว่ากันว่าทุกชัยชนะที่เกิดจากการแข่งขันเพื่อช่วงชิงอะไรก็ตาม โดยเฉพาะชัยชนะทางธุรกิจที่ช่วงชิงจากผลประโยชน์ก้อนใหญ่ที่มีฝ่ายได้กับฝ่ายเสียชัดเจนในท้ายที่สุดนั้น… ฝ่ายที่ชนะการแข่งขัน หรือ ชนะการช่วงชิงมักจะเป็นฝ่ายที่เปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าเสมอ ส่วนฝ่ายที่เชื่อมั่นว่าการ ไม่เปลี่ยนอะไรก็ได้เปรียบและมีชัยชนะเหนือกว่าใครๆ อยู่แล้ว มักจะตั้งอยู่ในความประมาท โดยไม่รู้ว่า “ฝ่ายที่ยอมเปลี่ยนแปลง” จะปรับตัวทุกอย่างเพื่อ “เอาชนะความเชื่อมั่นแบบไม่เปลี่ยนแปลง” ทั้งสิ้น
ตัวอย่างเหตุการณ์ในพงศาวดารสามก๊ก เมื่อครั้งที่ความประมาทและเชื่อมั่นตนเองของ “กวนอู” ที่เชื่อมั่นการเป็นอยู่อย่างที่เป็นมาโดยไม่ปรับตัว ทำให้ต้องเสียดินแดนเมืองเกงจิ๋วคืนให้ “ซุนกวน” แห่ง “ง่อก๊ก”
กวนอูและกองทัพที่ยึดครองเมืองเกงจิ๋วถือเป็นคู่แข่ง หรือ ศัตรู ในคำเรียกตามพงศาวดารสามก๊กนั้น… สำหรับซุนกวนและแม่ทัพนายกองฝั่งง่อก๊กถือว่าเป็นศัตรูที่เข้มแข็งน่าเกรงขามมาก ซึ่งการยกทัพเข้าปะทะตรงๆ ไม่มีทางจะเอาชนะกองทัพภายใต้การนำของกวนอูได้แน่… แต่กวนอูผู้หยิ่งทนงและเป็นสุภาพบุรุษนักรบผู้ได้ชื่อว่าบั่นคอศัตรูได้อย่างเลือดเย็น แต่จะอ่อนโยนให้เกียรติผู้นอบน้อมสยบยอมเสมอจนรู้กันทั่ว และ ยังเป็นผู้มีวาจาสัตย์และเที่ยงธรรมคนหนึ่งในแผ่นดิน
ฝ่ายง่อก๊กจึงส่ง “ลกซุน” มาพร้อม “ความนบน้อมถ่อมตน” เพื่อดูแลเขต “ลกเค้า” ซึ่งเป็นชายแดนติดเมืองเกงจิ๋วเพียงแม่น้ำกั้น และ เพื่อให้อุบายการยึดคืนเกงจิ๋วเป็นไปอย่างราบรื่น “ลกชุน” จึงปรับไปใช้กลยุทธ์ หมาน–เทียน–กว้อ–ไห่ หรือ 瞞天過海 หรือ Deceive The Heavens To Cross The Ocean หรือ กลยุทธ์บังฟ้าข้ามมหานที หรือ กลยุทธ์ลวงเจตนาที่แท้จริงให้คู่แข่งหลงผิด… ด้วยการส่งเครื่องบรรณาการมาเคารพ “กวนอูผู้อาวุโส” ในฐานะผู้มาปกครองอยู่บ้านใกล้เรือนเคียงจนกวนอูตายใจ และ ยกทัพออกจากเมืองไปทำศึกกับแนวรบ “วุ่ยก๊ก” ของโจโฉ… ในขณะที่ลกซุน และ “ลิบอง” แม่ทัพของซุนกวนแห่งง่อก๊ก ก็ช่วยกันรุกฆาตยึดเอาเกงจิ๋วคืนโดยไม่เสียเลือดเนื้อ หรือ ไม่ต้องรบ… ซึ่งชีวิตบั้นปลายของกวนอูนับแต่เสียเกงจิ๋วก็ล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่จนสิ้นอายุ
ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… คนเราไม่ว่าอะไรจะบังตา หรือ บังใจ หรือ บังความจริงไว้ก็แล้วแต่ โดยเฉพาะการถูกบังโดยกลยุทธ์ หรือ เล่ห์เหลี่ยมจากคู่แข่งหรือศัตรูอันเป็นความเขลาหนึ่งของผู้นำ สิ่งที่เห็นชัดเจนมักจะเป็น… ความยึดมั่นถือมั่นโดยไม่เปลี่ยนแปลงจนคู่แข่ง หรือ ศัตรูมองเห็นเป็นจุดอ่อน… และเพียงศัตรูเปลี่ยนแปลงเพื่อใช้จุดอ่อนนั้นให้เป็นประโยชน์ ซึ่งส่วนใหญ่แทบจะไม่ต้องเปลี่ยนอะไรมาก… ก็สามารถสร้างตำนานบนความล้มเหลวพ่ายแพ้ของอีกฝ่ายได้ไม่ยาก… จะอยู่เฉยให้คู่แข่งมาเปลี่ยน หรือ เป็นฝ่ายเปลี่ยนก่อน เพื่อไปเปลี่ยนความเชื่อและความหวังของคู่แข่งก็เลือกเอาครับ!
References…