ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ระหว่างปี 1990 ถึง 2020 พบพื้นที่ป่าขนาด 420 ล้านเฮกเตอร์ สูญเสียไปโดยมีสาเหตุมาจากการตัดไม้ทำลายป่า… แปลว่าทุกๆ นาทีจะมีพื้นที่ป่าขนาดประมาณ 20 สนามฟุตบอลกำลังถูกทำลายอยู่ทั่วทุกมุมโลก โดยการสูญเสียพื้นที่ป่าดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ ซึ่งตามรายงานของคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC วิเคราะห์ว่า… ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ ส่วนใหญ่มาจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อตอบสนองความต้องการขยายพื้นที่เกษตรกรรมและปศุสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น… เพื่อแก้ไขและป้องกันการกระทำการต่างๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้ป่าเสื่อมโทรม สหภาพยุโรปในฐานะที่เป็นตลาดรายใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลกเพื่อการบริโภค จึงมุ่งแสวงหาข้อตกลงระดับชาติเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอร่างกฎระเบียบฉบับใหม่ เรื่อง “Deforestation-Free Products หรือ กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า” เพื่อควบคุมกลุ่มสินค้าที่มีส่วนในการทำลายป่าจำนวน 7 ประเภท ได้แก่
- ยางพารา
- น้ำมันปาล์ม
- เนื้อวัว
- ไม้แปรรูป
- กาแฟ
- โกโก้
- ถั่วเหลือง
รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ผลิตจากสินค้าเหล่านี้ เช่น ช็อกโกแลต เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ ถ่าน และ สินค้าที่มีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบ
ร่างกฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ที่ห้ามการนำเข้า หรือ ส่งออกสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าไม้เข้าสู่ตลาดของสหภาพยุโรปในอนาคต โดยสินค้าที่จะได้รับการอนุญาตให้จำหน่าย หรือ ส่งออกจะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบจากระบบการตรวจสอบและประเมิน หรือ Due Diligence ก่อนdkiนำเข้าหรือส่งออกจากสหภาพยุโรป… ซึ่งหากพบว่าสินค้าชนิดใดมีที่มาจากพื้นที่ที่มีการทำลายป่า หรือ เป็นเหตุทำให้ป่าเสื่อมโทรมภายหลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2020… สินค้าชนิดนั้นก็จะถือว่าผิดตามร่างกฎหมายฉบับนี้
ต่อมาในวันที่ 6 ธันวาคม 2023… คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป และ สภายุโรปได้มีมติเห็นชอบต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ร่วมกันแล้วเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการตรากฎหมาย และ ประกาศใช้บังคับ โดยคาดว่าร่างกฎหมายอาจมีผลบังคับใช้ภายในปี 2023 ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่จะมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 18 เดือน และ ผู้ประกอบการรายย่อย 24 เดือน นับจากวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ
การนำเข้าและส่งออกสินค้าจากสหภาพยุโรปตามกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือ Deforestation-Free Products จะกำหนดเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดครบทั้ง 3 เงื่อนไข คือ
- ต้องปลอดจากการทำลายป่า
- ต้องผลิตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเทศผู้ผลิต
- ผู้ประกอบการหรือผู้ค้าจะต้องจัดทำ Due Diligence ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ก่อนการวางจำหน่าย มิฉะนั้นผู้ค้าหรือผู้ประกอบการจะต้องรับผิดตามบทลงโทษที่กฎหมายกำหนดไว้หากฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม
Due Diligence หรือ ระบบการตรวจสอบและประเมิน คือกระบวนการที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปจนถึงแหล่งกำเนิดสินค้าว่าเป็นสินค้าที่มาจากพื้นที่ที่มีการทำลายป่าหรือทำให้ป่าเสื่อมโทรมมาก่อนหรือไม่ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการ หรือ Operator และ ผู้ค้า หรือ Trader ต้องจัดทำข้อมูล รวมถึงแสดงเอกสารหลักฐานยืนยันพิสูจน์ว่าสินค้าที่นำเข้าหรือส่งออกเป็นสินค้าที่ปลอดจากการทำลายป่า… โดยกระบวนการการทำ Due Diligence จะแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนคือ
- รวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูล อาทิ รายละเอียดสินค้า ประเทศผู้ผลิต ข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ Geo-Localization เป็นต้น
- ทำการประเมินระดับความเสี่ยงในสินค้าของประเทศคู่ค้าตามระดับของการทำลายป่าไม้และทำให้ป่าเสื่อมโทรม รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศ
- จัดการความเสี่ยง โดยจะต้องแสดงถึงแผนการจัดการการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงไปยังหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ หรือ Competent Authority ของประเทศสมาชิกซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบสินค้าผ่านระบบ Due Diligence นั้น
สหภาพยุโรปจะจัดระดับความเสี่ยงของประเทศคู่ค้าในระบบ Due Diligence ตามระดับของการทำลายป่า หรือ การทำให้ป่าเสื่อมโทรมโดยอาศัยระบบการเทียบเคียง หรือ Benchmarking System มาประเมินความเสี่ยงของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ ประเทศคู่ค้าจะถูกจัดอยู่ในประเภทใดประเภทหนึ่งจากสามประเภท ได้แก่ ระดับความเสี่ยงต่ำ ระดับมาตรฐาน และ ระดับความเสี่ยงสูง โดยการจัดระดับนี้จะเผยแพร่ภายใน 18 เดือนนับจากกฎหมายมีผลใช้บังคับ
โดยระดับความเสี่ยงเหล่านี้เองจะเป็นตัวกำหนดมาตรฐานในการตรวจสอบและควบคุมสินค้านำเข้าหรือส่งออกโดยไม่มีการแบ่งแยกสินค้าที่ผลิตในยุโรปและสินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายในสภาพยุโรป กล่าวคือ แต่ละกลุ่มสินค้าของประเทศที่มีระดับความเสี่ยงต่ำ และ มาตรฐาน จะตรวจสอบอย่างน้อย 1% และ 3% ของจำนวนผู้ประกอบการตามลำดับ… สำหรับประเทศที่มีระดับความเสี่ยงสูงจะตรวจสอบอย่างน้อย 9% ของจำนวนผู้ประกอบการ และ 9% ของปริมาณสินค้า
หากพบว่าผู้ประกอบการหรือผู้ค้าไม่ปฏิบัติตาม… หน่วยงานที่มีอำนาจอาจกำหนดบทลงโทษหากตรวจสอบแล้วพบว่ามีสินค้าที่มีที่มามาจากพื้นที่ที่มีการทำลายป่าหรือมีส่วนเกี่ยวข้องทำให้ป่าเสื่อมโทรมภายหลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2020 จะถูกประเมินค่าปรับตามสัดส่วนของความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและมูลค่าของสินค้าที่เกี่ยวข้อง ยึดสินค้าและผลิตภัณฑ์ หรือ ยึดรายได้ที่เกิดจากการค้าสินค้าและผลิตภัณฑ์นั้น เป็นต้น
คณะกรรมาธิการยุโรปคาดว่า… กฎหมายฉบับนี้จะปกป้องป่าอย่างน้อย 71,920 เฮกตาร์ต่อปี หรือ ประมาณ 100,000 สนามฟุตบอล และ ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก 31.9 ล้านเมตริกตันต่อปี…
อย่างไรก็ตาม… กระบวนการตรวจสอบและประเมินสินค้า หรือ Due Diligence ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่สำคัญของกฎหมาย Deforestation-Free Products หรือ กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า ย่อมส่งผลกระทบต่อการนำเข้าและส่งออกโดยเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการและผู้ค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
References…