คนส่วนใหญ่พอจะรู้จักภาวะซึมเศร้า หรือ Depression อันเป็นอาการป่วยแบบหนึ่งซึ่งรับรู้สภาพที่ทำให้ไม่มีความสุขโดยปราศจากความหวัง และอาการป่วยจะปรากฏให้เห็นชัดเจนเห็นการเกิดผลกระทบต่อร่างกายจิตใจ… ส่วนจะกระทบมากกระทบน้อยก็ไม่ได้มีอะไรต่างจากการป่วยด้วยโรคสามัญแบบเป็นหวัด หรือ ท้องร่วงแพ้อาหาร ซึ่งคนแข็งแรงกว่าก็เห็นอาการน้อยกว่า หายเร็วกว่าและฟื้นตัวไวกว่า… ภาวะซึมเศร้าอันเป็นอาการป่วยของจิตใจระดับสามัญ ก็ไม่ได้ต่างจากโรคหวัด ซึ่งเกิดได้กับทุกคน แต่อยู่ทนและทำร้ายใครได้บ้างก็ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งอ่อนแอของจิตใจ เพราะเป็นโรคที่เกิดกับจิตใจ… โดยเฉพาะจิตใจและกำลังใจที่ต้องใช้ “ตัดสินใจ” เมื่อสัญญาณป่วยซึมเศร้าเริ่มต้นขึ้นกับความคิดจิตใจแบบที่เรียกกันว่า… จิตตก!
อาจารย์แพทย์ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย ได้อธิบายนิยามบนภาพรวมของคำว่า “จิตตก” ไว้ว่า… จิตตกเป็นคำที่ใช้พูดเพื่อ “บรรยายอาการ” แต่ไม่ได้เป็นศัพท์มาตรฐาน เพื่ออธิบายถึง ภาวะจิตใจของคนที่ประสบกับความเครียด ความกดดันเป็นระยะเวลายาวนาน หรือ อาจเกิดจากความกดดันที่เกิดขึ้นในระยะเวลาที่ไม่ยาวนานแต่มีความรุนแรงของผลกระทบสูง… อาการที่เกิดขึ้นมักจะเกิดจากการ “คาดว่า หรือ เกรงว่า” สิ่งที่ไม่ดีจะเกิดขึ้น และ จะก่อความเสียหายให้ปัจจุบันและอนาคต
โดยอาการภายนอกจะเห็นได้ชัดว่า… เกิดภาวะกระวนกระวายในระดับวิตกกังวลชัดเจน โดยอาจจะปรากฏเป็นอาการร่วมกับใจสั่น เหงื่อออก หายใจไม่อิ่ม นอนไม่หลับ ระบบทางเดินอาหาร และ ระบบย่อยอาหารปั่นป่วน… ยิ่งเมื่อทราบถึง “ผลลัพธ์” ของเหตุให้วิตกกังวลแล้ว โดยเฉพาะผลลัพธ์เป็นความล้มเหลวและไม่สมหวังอย่างที่คาดไว้… ก็จะเกิดความรู้สึกผิดหวัง ท้อแท้ ซึมเศร้า โดยมีอาการทางกายอื่นๆ ยืนยัน เช่น เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ คิดช้า ไม่มีกำลังใจ ไปจนถึงรู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่า… ยิ่งในกรณีของคนที่จิตวิทยาส่วนตัวอ่อนแอเพราะ “กำลังใจไม่เข้มแข็งพอ” ก็อาจจะเห็นอาการทั้งทางกายและทางจิต รุนแรงถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย และหรือ หูแว่ว ประสาทหลอน พร้อมหวาดระแวงสารพัดเข้ามาอยู่ในจินตนาการร่วมด้วย… ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอันตรายได้ทั้งกับตนเองและผู้อื่น
ประเด็นก็คือ คนส่วนใหญ่ไม่สามารถระบุ และ รู้ทันภาวะจิตตกที่เกิดขึ้นกับตัวเอง โดยเฉพาะคนที่ถูกกดดันให้อยู่กับความเครียดจนวิตกกังวลต่อเนื่องยาวนาน พร้อมฉากเหตุการณ์ไม่ดีที่คาดถึงได้อยู่แล้วว่าจะเกิดอะไรแย่ขึ้นอีกได้บ้าง โดยไร้ทางหลีกเลี่ยงเบี่ยงผ่านแบบไม่สูญเสีย หรือ เจ็บช้ำ
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ… การรับมือกับภาวะจิตตกทั้งในแบบที่เจ้าตัวรู้เท่าทัน และ ในแบบที่อยู่ด้วยกันมาจนชินเพราะปนๆ อยู่กับความเครียดและภาระต่างๆ ที่ทั้งถ่วงและหน่วงให้จำยอมแบบซ้ายชนผา–ขวาตกเหวและข้างหน้าก็มืดมน… ซึ่งไม่ง่ายที่จะหาทางรับมือทั้งเพื่อให้ได้โอกาสไปต่อ หรือ รอเฉยๆ ให้อะไรๆ มันดีขึ้น
คำแนะนำอย่าง ปล่อยวางก็ดี… กินให้ได้นอนให้หลับและออกกำลังกายให้มากก็ดี… จึงไม่ใช่คำแนะนำเพื่อเผชิญ “สาเหตุ” ที่แท้จริงซึ่ง “เป็นปัญหารอจัดการ” แบบที่การรอเฉยๆ โดยปลงให้ได้ทั้งหมด แล้วกินให้อิ่มและไปนอนเดี๋ยวก็จบ… ซึ่งส่วนใหญ่จะนอนไม่หลับ และ เบลอจนคิดไม่ออกด้วยซ้ำว่าจะกินอะไรดี โดย “ปัญหารอจัดการ” ก็ยังอยู่ครบถ้วนและอยู่กับชีวิตจิตใจนานขึ้นไปอีก
ข้อเท็จจริงของการอยูกับภาวะจิตตก ความเครียด และ ความคิดที่ “คาดถึง–คิดออก–แต่จัดการไม่ได้” จึงป่วยการที่จะไปหาอะไรกินให้อิ่มและพักผ่อนเยอะๆ โดยไม่แตะต้อง “เงื่อนไขปัญหา” อย่างตรงไปตรงมาและเร็วที่สุด… โดยเฉพาะการจัดการกับเงื่อนไขปัญหาที่ควบคุมจัดการด้วยตัวเองไม่ได้ ให้หมดไปให้ได้มากที่สุดก่อนอื่น โดยจะลุยสะสาง หรือ จะตัดใจขว้างทิ้งก็จงรีบทำ… ขอเพียงให้ทำด้วยสติและความรับผิดชอบสูงสุดโดยเข้าควบคุมเงื่อนไขปัญหาให้ได้มากที่สุด และ ตัดสินใจด้วยความเข้มแข็งของจิตใจ
ไม่ง่ายหรอกครับ… แต่การใช้จิตใจอันเข้มแข็งเผชิญหน้ากับปัญหา และ การตัดสินใจสะสาง หรือ ขว้างทิ้งให้หมดจดไปเสีย อย่างน้อยจะไม่เหลือที่ว่างให้ “ความอ่อนแอในจิตใจ” อันเป็นที่มาของความคิดและความรู้สึกแบบ “คาดว่า หรือ เกรงว่า” จนกำลังใจอันเป็นเรี่ยวแรงความเข้มแข็งของจิตใจ… หล่นหกตกหายไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งกอบกู้คืนได้ไม่ง่ายเลย!
References…
- https://www.thaihealth.or.th
- Featured Image: Photo by Alex Green from Pexels