ธุรกิจนวัตกรรม และ ธุรกิจอิงนวัตกรรม รวมทั้งการดำเนินงานที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการขับเคลื่อนกลยุทธ์… เบื้องแรกที่ต้องดำเนินการก่อนอื่นก็คือ “การออกแบบโมเดลธุรกิจ” ซึ่งหนีไม่พ้นที่จะต้องกลับไปเริ่มต้นที่การพัฒนานวัตกรรม หรือ Innovation รวมทั้งการทำผลิตภัณฑ์ดิจิทัล หรือ Digital Products เพื่อรองรับกลยุทธ์ทางการตลาด และ กลยุทธ์องค์กรสำหรับ Users ทั้งที่เป็นคนในองค์กร พันธมิตรธุรกิจ และ ลูกค้า… แต่การสร้างนวัตกรรม รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัลไม่เคยง่าย และ ส่วนใหญ่ล้มเหลวด้วยเหตุผลมากมายร้อยแปด ซึ่งถ้ายกเลิกโครงการกันตั้งแต่ล้มเหลวผิดพลาดไปก่อนจะได้พยายามในครั้งที่หนึ่งร้อยเก้า… Innovation และหรือ Digital Products โครงการนั้นย่อมไม่ได้ไปเกิดอย่างแน่นอน
ประเด็นก็คือ… ไม่มีใครอยากล้มเหลวเป็นร้อยเป็นพันครั้งเพื่อตามหาหนทางที่มันไม่เวิร์คแบบที่ Thomas Alva Edison บอกว่า “I have not failed. I’ve just found ten thousand ways that won’t work. หรือ ข้าพเจ้าไม่ได้ล้มเหลว ข้าพเจ้าเพียงได้พบหนึ่งหมื่นวิถีที่มันใช้ไม่ได้” เพราะทุกครั้งที่เกิดความล้มเหลวขึ้นก็จะมีต้นทุนที่ต้องจ่ายทั้งที่เห็นชัดเจนอย่างงบประมาณ และ เวลา… รวมทั้งต้นทุนแฝงที่มักจะเป็นโอกาสที่ผ่านพ้นไปทุกครั้ง… การหาทางสร้างนวัตกรรม และ ผลิตภัณฑ์ดิจิทัลจากไอเดียใหม่ๆ หรือ ไอเดียนวัตกรรม โดยมุ่งเป้าที่จะจำกัดความล้มเหลวจึงเกิดขึ้นในองค์กรนวัตกรรมอย่าง Google โดยวิศวกรซอฟท์แวร์ และ นวัตกรคนสำคัญในอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ในยุคของเรา… ชื่อของเขาคือ Jake Knapp
Jake Knapp สร้างกระบวนการพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ดิจิทัลภายใต้ชื่อ Design Sprint ขึ้นที่ Google ในปี 2010 จากแรงบันดาลใจมากมาย โดยเฉพาะวัฒนธรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ Google… IDEO’s Design Thinking หรือ การคิดเชิงออกแบบของสถาบัน IDEO แห่ง MIT… รวมทั้งแนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการนวัตกรรมต่างๆ เช่น Getting Real ของ Basecamp และ Checklist Manifesto ของ Atul Gawande บวกกับประสบการณ์ส่วนตัวของ Jake Knapp ในฐานะทีมสร้างผลิตภัณฑ์ของ Google อย่าง Gmail และ Hangouts
ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา… Google Ventures ก็นำ Design Sprint มาใช้กับโมเดลนวัตกรรมที่ GV หรือ Google Ventures เข้าลงทุน และ หนังสือ Sprint: How to Solve Big Problems and Test New Ideas in Just Five Days ของ Jake Knapp กับ Braden Kowitz และ John Zeratsky ก็วางจำหน่ายในอเมริกาช่วงต้นเดือนมีนาคม 2016 และ ถูกแปลเป็นภาษาอื่นๆ ทั่วโลกอีกกว่า 20 ภาษา ซึ่งถือเป็นตำราภาคบังคับสำหรับคนทำ Startup จนถึงปัจจุบัน
แนวคิด และ กรอบการทำงานแบบ Design Sprint โดย Jake Knapp ได้รับการพิสูจน์จนเป็นที่ยอมรับว่า… ช่วยให้ทีมพัฒนา Innovation และหรือ Digital Products สามารถเริ่มต้นโครงการได้อย่างถูกจุดมากยิ่งขึ้น… ช่วยเปลี่ยนไอเดียนับร้อยนับพันที่มีจากทุกส่วนของทีม ให้สามารถจับต้องได้ วัดผลได้ และ พิสูจน์ได้ โดยการพัฒนา Prototype เพื่อนำไปทดลองกับผู้ใช้งานจริง และ เรียนรู้จากความเห็นตอบกลับ หรือ Feedback จนสามารถปรับปรุงและพัฒนาโครงการได้อย่างต่อเนื่องจนบรรลุวัตถุประสงค์
Sprint หรือ Design Sprint จะมีเงื่อนไขสำคัญอยู่ที่การจำกัดกรอบเวลาในการทำงาน โดยหลักการจะกำหนดไว้เพียง 5 วัน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เข้าสู่ขั้นตอนการทดสอบให้เสร็จสิ้น ซึ่งประกอบไปด้วย…
- Map หรือ ทำเส้นทาง… เป็นขั้นตอนการรวมทีม และ ทำความเข้าใจโครงการ เข้าใจปัญหา และ ตั้งเป้าหมายในระยะยาว เพื่อให้รู้ว่า “ปัญหาที่ต้องแก้” อยู่จุดไหนบ้าง และ หาทางแก้ให้ตรงจุด โดยสามารถเลือกใช้หลากหลาย Framework ในการวาดแผนภาพขึ้นมาไม่ว่าจะเป็น Empathy Mapping… Customer Journey… หรือ Swim Lane Diagram
- Sketch หรือ ร่างไอเดีย… โดยนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ “ปัญหาที่ต้องแก้” ซึ่งค้นพบจากการใช้เครื่องมือกำหนดกรอบ และ เส้นทางในขั้นตอน Map มาออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่ง Jake Knapp Working Alone Together ที่หมายถึงการปลีกตัวไปคิด และ ออกแบบโดยร่างไอเดียให้เป็นภาพวาดลงกระดาษ ก่อนจะเอามารวมไอเดียกัน โดยมีแนวทางที่ชื่อว่า The Four-Step Sketch ซึ่งประกอบด้วยการเขียนโน๊ต หรือ Post-It Note เกี่ยวกับทุกอย่างที่เกี่ยวข้องพร้อมจัดหมวดหมู่และลำดับ… ก่อนจะตามมาด้วยการวาดไอเดียให้เห็นภาพ… แล้วเลือกไอเดียที่เข้าท่าที่สุดทั้งหมดมาจัดวาง… และจบด้วยการรวมชิ้นส่วนภาพและข้อมูลเข้าด้วยกันจนได้โซลูชั่น… ขั้นตอนการร่างไอเดียถือเป็นขั้นตอนที่สนุกและท้าทาย ซึ่งมีกรอบการทำงาน หรือ Framework ของ Design Sprint ที่ชื่อ Crazy 8s Exercise หรือ ท่านที่ถนัดเครื่องมือ หรือ Framework คล้ายกันก็ใช้ได้
- Decide หรือ ตัดสินไอเดีย… ซึ่งจะเป็นการนำไอเดียจากขั้นตอน Sketch ทั้งหมด… มาช่วยกันเลือกและตัดสินใจว่าจะเอาเอาเดียไหน และ ส่วนไหนของไอเดียไปสร้างเป็นชิ้นงานต้นแบบ หรือ Prototype โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกทีมได้ประเมินผลงานทั้งหมดแบบส่วนตัว หรือ Silent Review และ วิพากษ์สิ่งที่น่าสนใจในแต่ละผลงานอย่างเป็นระบบ หรือ Structured Critique ผ่าน 4 ขั้นตอนดังนี้คือ
- Art Museum… เอาภาพร่างไอเดียทั้งหมดขึ้นบอร์ดโชว์
- Heat Map… ให้สมาชิกทีมเลือกไอเดียที่ชอบได้ 3 ชิ้นโดยใช้สติกเกอร์แปะบนผลงานที่เลือก
- Speed Critique… เปิดให้สมาชิกทีมได้เล่าเหตุผลที่ชื่นชอบไอเดียที่เลือกจนให้สติกเกอร์ ก่อนจะปิดท้ายด้วยการชี้แจงโดยเจ้าของไอเดีย
- Dot Voting… รอบนี้จะเป็นการโหวตเลือกไอเดียที่ชองของสมาชิกทีมได้เพียงหนึ่งไอเดียด้วยสติกเกอร์คนละหนึ่งชิ้น
- Super Vote… รอบสุดท้ายจะเป็นเสียงโหวตของหัวหน้า หรือ ผู้บริหาร หรือ นักลงทุนซึ่งมักจะเลือกตาม Dot Voting ถ้าคะแนนเป็นเอกฉันท์ ถ้าก้ำกึ่งหลายตัวเลือกอยู่ก็เป็นสิทธิ์ของ Team Leader ในทางเทเสียงให้หนึ่งตัวเลือกเพื่อนำไปพัฒนา Phototype
- Prototype หรือ สร้างต้นแบบ… การสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบจะใช้หลักการ Fake It ซึ่งเป็นการสร้างแค่ฉากหน้าขึ้นมา ให้พอจับต้องได้ภายใน 1 วัน และ สามารถทดสอบการใช้งานเพื่อเก็บความคิดเห็นของผู้ใช้งานมาปรับปรุง โดยอาจแบ่งงานภายในทีมออกเป็น 5 ส่วนอย่างน้อย ได้แก่
- Makers หรือ คนทำชิ้นส่วนต้นแบบ
- Stitcher หรือ คนประกอบชิ้นงานต้นแบบเข้าด้วยกัน
- Writer หรือ คนทำข้อมูลและหรือข้อความเพื่อการสื่อสาร
- Asset Collector หรือ คนเตรียม Resource จำพวกภาพ แอนิเมชั่น คลิป หรือ คนเตรียมวัตถุดิบ และ ชิ้นส่วนจากภายนอกในกรณีของการพัฒนาสินค้า เช่น กำลังออกแบบเครื่องทำคาปูชิโน่แบบใหม่ ก็ต้องมีคนหาเมล็ดกาแฟมาทดสอบเครื่องที่ Stitcher ประกอบขึ้น
- Interviewer หรือ ทีมสัมภาษณ์ ซึ่งเป็นทีมการตลาดที่ต้องเตรียมสัมภาษณ์ลูกค้า หรือ กลุ่มตัวอย่างที่ร่วมทดสอบการใช้งาน
- Test หรือ ทดสอบและวัดผล… ทีม Interviewer หรือ ทีมสัมภาษณ์จะเป็นผู้นำต้นแบบไปทดสอบกับผู้ใช้งาน ซึ่งแนะนำให้ใช้ Nielsen Model Usability ที่เสนอให้สัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ใช้งานเพียง 5 ตัวอย่าง ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายหลักเท่านั้น… ซึ่งเพียงพอที่จะระบุปัญหาของผลิตภัณฑ์ต้นแบบได้มากถึง 85% ซึ่งเพียงพอที่จะเรียนรู้ปัญหาเพื่อนำไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์รุ่นถัดไปได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม… รายละเอียดในบทความนี้ถือว่าหยาบ และ ย่อมาเล่าแบบข้ามรายละเอียดของแง่มุมไปมาก… ส่วนที่ขาดตกบกพร่องทั้งหมดสามารถติติงผมได้ทุกช่องทาง และ ท่านที่สนใจเฟรมเวิร์ค Design Sprint แนะนำให้ไปเรียนกับ Google Certified Sprint Master โดยตรงจะดีที่สุด… ในเมืองไทยมาหลายท่านแล้ว ซึ่งถ้าให้แนะนำก็คงเป็นอาจารย์ต้า วิโรจน์ จิรพัฒนกุล แห่ง Skooldio หรืออย่างน้อยก็ซื้อหนังสือ Sprint ของ Jake Knapp มาอ่านก็ได้ครับ
References…