Design Thinking เป็นกระบวนการคิดที่ใช้การทำความเข้าใจในปัญหาต่างๆ อย่างลึกซึ้ง โดยเอาผู้ใช้หรือ Users เป็นศูนย์กลาง แล้วนำเอาความคิดสร้างสรรค์และมุมมองอันหลากหลายมาสร้างไอเดีย ก่อนจะนำไอเดียไปพัฒนา แล้วนำสิ่งที่พัฒนาได้ไปทดสอบ และเอาผลการทดสอบกลับมาปรับไอเดีย เอาไอเดียไปพัฒนาอีกรอบ เอาของที่พัฒนาได้อีกรอบไปทดสอบอีกครั้ง… และวนไปจนได้โซลูชั่นที่ดีที่สุดกับผู้ใช้
ซึ่งขั้นตอนที่วนไปแบบ “คิดให้ออก ทำให้ได้ แล้วเอาไปลองใช้ดู” แบบนี้เองที่สร้างสองอย่างขึ้นระหว่างทางนั่นคือ ความล้มเหลวกับการเรียนรู้ หรือ Failure and Learning รวมถึง Learning from Failure ด้วย
บทความตอนนี้เป็นตอนที่ 4 ในชุด Learning Experience Design ครับ… ท่านที่ยังไม่พื้นฐานเรื่อง LX Design อยากกลับไปทบทวนก่อนก็น่าจะทำให้บทความตอนนี้เข้าใจง่ายขึ้น… คลิกที่นี่ได้ครับถ้าจะกลับไปทบทวนของเก่าก่อน… เพราะต่อจากนี้ไปผมจะเอาแนวคิดและ Framework การพัฒนาโซลูชั่นต้นแบบและนวัตกรรมอย่าง Design Thinking มาโยงใช้ร่วมกับ LX Design แล้วครับ
ผมไม่ได้คิดเองว่าต้องเอา 2 Framework นี้มาใช้ด้วยกัน… แต่การพัฒนาหลักสูตรด้วย LX Design แบบที่ Niels Floor และ Shapers ใช้เขียน LX Canvas จะต้องย้อนกลับไปเริ่มกันที่ Design Thinking กันก่อนเพื่อ Empathy ให้ได้ Insight ของ People บน LX Canvas ครับ
นั่นแปลว่า… จะเขียน LX Canvas และจะออกแบบ Learning Experience ได้ต้องเข้าใจ Design Thinking ถึงขั้นปรับใช้อย่างยืดยุ่นให้เป็นก่อน
พูดถึง Design Thinking ที่กำลังฮอตฮิตอยู่ในแวดวงธุรกิจและนวัตกรรมอย่างในปัจจุบัน… คนส่วนใหญ่จะนึกถึง Design Thinking จาก Stanford D. School ที่พัฒนาและเผยแพร่โดยสองโปรเฟสเซอร์ชื่อดังอย่าง Bill Bernett และ Dave Evans ผ่านหนังสือ Designing Your Life และลูกศิษย์ลูกหาของทั้งสองท่านที่โลดแล่นอยู่ในแวดวงธุรกิจบ้านเรามากมาย ในห้วงเวลาที่ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างหนัก ถึงขั้นต้องใช้คำว่า Disrupted แทนคำว่า Changed ทีเดียว
แต่ในความเป็นจริงแล้ว… Design Thinking Framework มีใช้กันแพร่หลายจาก 2 สำนักครับ… ของ Stanford D.School หนึ่งหล่ะ และยังมีของ Design Council อีกหนึ่งครับ
Design Thinking ของ Stanford D.School ประกอบด้วย…
Credit: https://clearbridgemobile.com
- Empathy เป็นการทำความเข้าใจต่อกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งในกรอบ LX Design ก็คือ People… โดยการใส่ใจเป้าหมายให้ถึง Insight
- Define การนิยามข้อมูลที่ได้จาก Empathy และสังเคราะห์ข้อมูลรวมทั้งกำหนดปัญหา… จากนั้นก็ตั้งคำถามปลายเปิด เพื่อผลักดันให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ไม่จำกัดกรอบหรือมุมมองต่อปัญหา
- Ideate เป็นขั้นการระดมความคิดใหม่ๆ อย่างไม่มีขีดจำกัด… ย้ำว่าไม่มีขีดจำกัด ที่หมายถึงไม่ว่าไอเดียจะประหลาดหรือบ้าแค่ไหน ก็จงรวบรวมให้ได้มากที่สุด หากไอเดียนั้นสัมพันธ์กับทางออกของปัญหาที่พบจากขั้น Define… เพื่อให้เจอตัวเลือกมากที่สุด
- Prototype เป็นขั้นการสร้างต้นแบบตามไอเดียใดไอเดียหนึ่งที่เลือกมาจากขั้น Ideate
- Test เป็นขั้นของการนำ Phototype ไปทดสอบกับผู้ใช้ หรือกลุ่มเป้าหมายที่เราทำ Empathy ไว้ตอนต้น
Design Thinking ของ Design Council ประกอบด้วย…
Credit: https://fe2.in/what-is-design-thinking
- Discover เป็นการค้นหา Insight จากเป้าหมายเพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ และหลากหลาย
- Define เป็นขั้นของการเลือกสิ่งที่ค้นพบจากขั้น Discover มาวิเคราะห์และสังเคราะห์หาลำดับก่อนหลังของปัญหา รวมทั้งลำดับความสำคัญมากน้อย
- Develop เป็นขั้นของการพัฒนาและสร้างต้นแบบขึ้นมาทดสอบ ทดลองและค้นหาข้อผิดพลาดเพื่อปรับปรุงให้ได้ต้นแบบที่เชื่อว่าดีที่สุด
- Deliver เป็นขั้นของการส่งมอบและนำไปใช้
Design Thinking ทั้งสองค่าย… มีความคล้ายกัน ที่ยึดกลุ่มเป้าหมายเป็นศูนย์กลาง และสามารถนำมาปรับใช้ร่วมกับ LX Design ได้ทั้ง 2 Framework เพราะ LX Design ก็โฟกัส People และต้องค้นหา Insight แบบขุดดูไม่ต่างกัน… ถ้าถามผมว่าเลือกตัวไหนมาใช้… ผมแนะนำ Stanford D.School, Design Thinking ครับ
ถึงตรงนี้… ผมคิดว่ามี 2 ประเด็นที่ต้องเข้าใจก่อน… เรื่องแรกคือ Design Thinking เป็นคำภีร์เล่มใหญ่ที่มีเคล็ดวิชาให้ใช้ไม่มาก… แต่เทคนิคการใช้ กลับสร้างสิ่งมหัศจรรย์ได้มากมายทั้ง 2 Framework… ซึ่งนั่นน่าจะมาจากหัวใจของ Design Thinking คือการจบความล้มเหลวด้วยการเรียนรู้และเริ่มใหม่อีกครั้งได้ไม่สิ้นสุด จนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ แบบ!… กัดไม่ปล่อยถอยไม่เป็น และล้มเหลวเพื่อเรียนรู้… ส่วนเรื่องที่สองก็คือ… ในทุกๆ รอบของการวนซ้ำขั้นตอนแบบ Design Thinking นั้น… จะเกิดการเรียนรู้และทดลองมากมายระหว่างทาง ที่เป็นการเรียนรู้และการทดลองเกิดขึ้นเยอะแยะพร้อมกับข้อมูลจำนวนมาก นั่นแปลว่า…
เมื่อเอา Design Thinking มาออกแบบบทเรียนตามกรอบ Learning Experience Design เราจะได้ Loop ของการเรียนรู้ถึง 2 ชั้นเป็นอย่างน้อยคือ การเรียนรู้ระหว่างพัฒนาบทเรียนที่เริ่มตั้งแต่ Empathy จนถึง Test โดยมี People บน LX Canvas เป็นศูนย์กลาง… และบทเรียนที่พัฒนาเสร็จแล้ว จนผู้เรียนหรือ People ได้องค์ความรู้และประสบการณ์ที่ทดสอบมาแล้วอย่างดีว่าดีงานถูกต้อง
ประเด็นก็คือ… Design Thinking เป็น Framework เพื่อสร้างนวัตกรรมครับ! เมื่อเอามาใช้สร้างเส้นทางชีวิต… Design Thinking ก็สร้างนวัตกรรมเส้นทางชีวิตให้ผู้คนมากมาย และเมื่อเอามาสร้างบทเรียนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และประสบการณ์ คุณค่าของบทเรียนที่ได้ในท้ายที่สุดจึงเป็นนวัตกรรมไปด้วยเช่นกัน
ต้องลองลงมือทำครับ… ถึงจะเข้าใจ!