Success ladder

Designing Your Life… ปฐมบท

แนวคิด Design Thinking จากหนังสือ Designing Your Life: How to Build a Well-Lived, Joyful Life ของ Bill Burnett และ Dave Evans ผู้สอนหลักสูตร Design Thinking ที่ Stanford d. School ถือว่าเป็นเครื่องมือสุดทรงพลังสำหรับหลายๆ คนที่เชื่อว่า… คนเรามีทางเลือกมากมาย

Designing Your Life

โดยตัวแนวคิดหลักของ Design Thinking ที่ให้ความสำคัญกับการ “ลองและเรียนรู้” ทำให้แนวคิดนี้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในองค์กรสมัยใหม่ที่ต้องเรียนรู้และปรับตัวตลอดเวลา จนสร้างนวัตกรรมให้องค์กรได้ไม่รู้จบ

และนั่นทำให้ Design Thinking นอกจากเอาไว้ใช้ค้นหาทิศทางและนวัตกรรมระดับองค์กรแล้ว ยังสามารถใช้กับการค้นหาทิศทางและนวัตกรรมส่วนบุคคลได้เป็นอย่างดี ซึ่งหนังสือ Designing Your Life ก็คือตำราและกรณีศึกษาในการใช้ Desing Thinking กับทิศทางและเส้นทางชีวิตคนๆ หนึ่งนั่นเอง… ซึ่งแนวคิดหรือ Concept การออกแบบเส้นทางชีวิตด้วยเครื่องมือต่างๆ ของ Bill Burnett และ Dave Evans ถือเป็นแรงบันดาลใจหนึ่งในการเปิดตัวเวบไซต์ชื่อประหลาดอย่าง Reder.red และมีบทความเรื่อง ออกแบบชีวิตหลังเกษียณอย่างไรในยุคดิจิตอล ที่พูดถึง Design Thinking และ Good Time Journal เอาไว้ตั้งแต่สัปดาห์แรกๆ ที่ Reder.red เปิดตัวขึ้น

หนังสือ คู่มือออกแบบชีวิตด้วย Design Thinking
หรือ Designing Your Life ฉบับแปลภาษาไทย

แต่บทความนั้นก็พูดถึง Design Thinking และ Good Time Journal อย่างผิวเผิน ที่ Feedback ที่ผมได้รับกลับมาทั้งหมดเป็นเสียงติติงล้วนๆ ที่ผมบังอาจเอาเรื่องใหญ่ๆ ที่บรรจุไว้ในหนังสือเกือบ 300 หน้ามาพูดถึงอย่างฉาบฉวย จนท่านที่ไม่เคยได้ยินคีย์เวิร์ดเหล่านี้มาก่อน ต่างก็งงถึงขั้นอ่านไม่รู้เรื่อง!!!

ถึงวันนี้ Reder.red เปิดตัวมาครบหกเดือนเข้านี่แล้ว ซึ่งการโฟกัสจุดประสงค์หลักที่ฝังเอาไว้ในชื่อ Reder คือ ED หรือ Education และ DE หรือ Development ควรได้รับการรับการโฟกัสให้ชัดเจนขึ้นไปอีกขั้น และสัปดาห์ก่อนก็พูดถึง Learning Experience Design ไปแล้วที่เป็นกรอบฝั่งผู้สอนหรือผู้ถ่ายทอดความรู้

แต่ประเด็นก็คือ… คนเราจะอยากเรียนโน่นรู้นี่ไปทำไมถ้ายังไม่รู้ว่าตัวเองจะรู้โน่นรู้นี่ไปเพื่ออะไร… แต่ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่คนส่วนใหญ่รู้สึกและคิดเหมือนๆ กันคือ… ตัวเองเจอปัญหาโน่นนี่นั่นตลอดๆ และหลายครั้งปัญหาเหล่านั้นรบกวนตั้งแต่ระดับรำคาญ หมดสนุก ไม่มีความสุขหรือแม้แต่เกิดเหตุการณ์ชีวิตติดหล่ม ล่มจมพังพินาศก็มี

สาระสำคัญของปัญหาจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่เราควรใส่ใจ… หรือดีกว่านั้นคือเปลี่ยนปัญหาเป็นปัญญาไปเลยคงดีกว่า… และแนวคิด Design Thinking ให้คุณค่ากับปัญหาอย่างมาก จนมีเทคนิคและวิธีการเปลี่ยนปัญหาเป็นปัญญาที่จับต้องได้ค่อนข้างชัดเจน

อาจเป็นเพราะ Design Thinking เป็นวิทยาศาสตร์อย่างมากบนหลักเหตุและผล… มีเครื่องมือและการวัดประเมินที่ชัดเจนเชื่อถือได้… มีเป้าหมายและการค้นหาเส้นทางไปที่ยืดยุ่นท้าทาย… เป็นการท้าทายให้ทดลองและเรียนรู้… ซึ่งแนวทางของ Designing Your Life หรือแนวทางออกแบบชีวิตท่าน ด้วยแนวคิด Design Thinking จึงถูกสร้างด้วยสมการง่ายๆ ที่ว่า

การค้นหาปัญหา + การแก้ปัญหา = ชีวิตจากการออกแบบ

ง่ายๆ พื้นๆ และไม่ต้องอธิบายอะไรกันเพิ่มเติมแบบนี้เลย ซึ่งเป็นสมการที่พูดอีกก็ถูกอีก และวิจารณญาณของผู้คนส่วนใหญ่ล้วนเจอปัญหาแบบไม่ต้องค้น แต่ต้องแก้ปัญหาแบบไม่ได้ตั้งหลักอยู่บ่อยๆ เพราะคนส่วนใหญ่… ไม่นิยม “หาปัญหา” กันหรอกและมีแต่ “ปัญหามาหาเอง” ทำให้ต้องแก้และไขปัญหา ที่หลายกรณี เจ้าตัวเชื่อว่า… ปัญหามาถึงตัวเองเพราะเหตุอื่น

ที่น่าเศร้าที่สุดเห็นจะเป็นประเด็นการติดกับดักปัญหาที่ Bill Burnett เรียกว่า “ปัญหาแรงโน้มถ่วง” หรือปัญหาที่แก้ไม่ได้เหมือนแรงโน้มถ่วงของโลก ที่ใครคิดจะแก้ คงต้องหาทางย้ายวงโคจรของโลกออกจากดาวเคราะห์วงที่สามของสุริยะจักรวาลกันเลยทีเดียว

ปัญหาแรงโน้มถ่วงในชีวิตคนๆ หนึ่งเป็นเรื่องที่เรามองเงื่อนไขและตัวแปรในชีวิต ที่เราแก้ไขไม่ได้มาเป็นปัญหาเช่น คนที่ต้องขี่จักรยานขึ้นเนินอย่างยากลำบากเป็นประจำและมองความชันของเนินเป็นปัญหาชีวิต… หรือการเป็นลูกจ้างในธุรกิจที่บริหารแบบครอบครัวหรือกงสี ที่คนนอกสายเลือดไม่มีทางได้บริหารนอกจากทำงานรับเงินเดือนต่อไปและมองว่าความก้าวหน้าของอาชีพการงานคงตีบตันเท่านั้น

ด่านแรกของการออกแบบชีวิตจึงอยู่ที่การค้นให้เจอปัญหาแรงโน้มถ่วงที่บั่นทอนเราให้เจอก่อน และปรับมุมมองปัญหาหรือ Reframe เสียใหม่ด้วยการแยกส่วนตัวแปรทั้งหมดในปัญหาออกจากกัน… กรณีของจักรยานและเนิน จะมีตัวแปรหลักอยู่สามตัวคือคนขี่ ทางเนินและจักรยาน ซึ่งตัวแปรอย่างทางขึ้นเนินถือเป็นปัญหาแรงโน้มถ่วงที่ไม่ต้องไปคิด ท่านก็จะเหลือตัวแปรสองตัวให้หาทางแก้ปัญหา โดยความเชื่อแบบ Design Thinking ที่เอาปัญหามากำหนดเป้าหมายและหาทางแก้ไขที่หลากหลายเป็นตัวเลือก และเอามาลองทำ… อย่างเรื่องขี่จักรยานขึ้นเนินลำบาก อาจจะต้องแก้ด้วยการหาทางลดน้ำหนักทั้งคนขี่และน้ำหนักจักรยาน เพื่อลดมวลที่เกิดระหว่างเคลื่อนที่ขึ้นเนิน หรือใช้เฟืองทดรอบเพื่อลดแรงปั่น หรือหาจักรยานใหม่ที่มีมอเตอร์ไฟฟ้าช่วยปีนเนิน หรือไม่ก็ซื้อมอเตอร์ไซด์มาใช้ให้รู้แล้วรู้รอด… ซึ่งทุกแนวทางจะพาท่านไปเจอปัญหาใหม่ให้แก้ไขตลอด… แต่นั่นคือความเปลี่ยนแปลงออกจากปัญหาเดิม

ปรัชญาแบบ Design Thinking จึงชื่นชอบปัญหาเพื่อใช้ออกแบบแนวทางหลากหลาย ภายใต้ข้อจำกัดที่เป็นเหมือนแรงโน้มถ่วง ซ้ำเติมภาพรวมปัญหาให้ดูใหญ่จนหลายครั้งบั่นทอน

ประเด็นการออกแบบชีวิตจากปัญหา แม้ฟังดูน่าขันหากไม่ได้พิจารณาอย่างลึกซึ้ง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่การนำมาปรับใช้จนเป็นนิสัย และเปลี่ยนมุมมองปัญหาเป็นปัญญา ไปสู่การค้นหาปัญหาอย่างท้าทายที่เพียงแต่จินตนการว่า… ชีวิตที่เปลี่ยน Mindset ได้ว่า ปัญหาไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นเพียงประเด็นท้าทายให้เราหาทางจัดการตัวแปรทุกชนิดที่พอกปัญหาแรงโน้มถ่วงอยู่ ให้หายไปหรือไม่เราก็หลบพ้นทันเวลา

ซึ่งแนวทางการออกแบบชีวิตในหนังสือ Designing Your Life โดย Bill Burnett และ Dave Evans จะเริ่มจากการค้นหาสถานะปัจจุบันของเราก่อนว่า… ณ จุดที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน เราเป็นอะไรอย่างไรบ้าง? 

ซึ่งจำเป็นจะต้องแตกตัวแปรสถานะปัจจุบันออกมาคลี่ดูองค์ประกอบได้แก่… สุขภาพ งานและกิจกรรมสร้างสุขและความรัก หรือ Health, Work, Play and Love… ซึ่ง Bill Burnett เรียกย่อว่า HWPL โดยได้พัฒนาไปเป็น HWPL Dashboard ให้เรารู้จักตัวเองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ตอนต่อไปมาคลี่เครื่องมือชิ้นแรกที่ชื่อ HWPL Dashboard เล่นด้วยกันครับ!

อ้างอิง

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts