การวางแผนชีวิต กับการออกแบบชีวิตที่พิจารณาอย่างผิวเผินอาจจะดูไม่ต่างกัน… แต่อะไรที่เป็นแผน หมายถึงต้องทำตามรายละเอียดในแผน ไม่ว่าแผนนั้นจะมีทางเลือกอื่นหรือตัวแปรที่ยืดยุ่นต่อการตัดสินใจแค่ไหนอย่างไร ก็ต้องทำตามแผนและยืดยุ่นหรือเลือกตามแผนอยู่ดี… แต่การออกแบบชีวิต ซึ่งถือเป็นเพียงขั้นการออกแบบที่ยังไม่มีรายละเอียดให้ดำเนินการเหมือนกรณีที่เรียกว่าแผน… ซึ่งชีวิตที่วางแผนเสร็จแล้ว จะสามารถทำตามแผนได้เลย ในขณะที่ชีวิตในขั้นออกแบบ ยังต้องวางแผนอีกหน่อยให้สอดคล้องกับ “แบบที่เลือก” จึงจะลงมือลุยทำแผนและทำตามแผนอีกที
บทความนี้เป็นตอนต่อของซีรีย์ Designing Your Life ตอนที่เจ็ดต่อจาก ออกแบบชีวิต… ออกแบบอนาคต โดยยึดแนวทางและหลักคิดแบบ Design Thinking จากหนังสือ Designing Your Life ของ Bill Burnett และ Dave Evans ผู้สอนหลักสูตร Design Thinking ที่ Stanford D. School ด้วยการถอดบทเรียนและตีความแบบ Reder… อ่านจบแล้วถ้าชอบก็ช่วยแชร์แบ่งปันคนอื่นให้ด้วยครับ หรืออยากชี้แนะติเตือนประเด็นไหนอย่างไร ก็ยินดีน้อมรับผ่านกล่องความเห็นท้ายบทความหรือ DM ข้อความส่วนตัวมาใน Line: @reder ก็ได้ครับ
ณ จุดนี้… เรามีอนาคตที่ออกแบบไว้ 3 ทางเลือกจากการทำ Odyssey Plan ในตอนที่แล้ว ซึ่งยังไม่ใช่แผนชีวิตแต่เป็นแผนเพื่อออกแบบอนาคตให้ชีวิต… และตอนนี้เราก็จะมาตามหาต้นแบบหรือ Prototype ของชีวิตที่เราเลือกไว้แต่ละแบบ ที่จะพาเราไปเจออนาคต 5 ปีข้างหน้าตามที่เราออกแบบไว้
คำแนะนำในหนังสือ Designing Your Life ก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน… ถ้าต้นแบบของสิ่งที่เราอยากเป็น มี Idol ชัดเจนก็ไม่ยาก ถ้าสามารถไปเจอหรือไปสัมภาษณ์พูดคุยได้… ก็ทำเลย หรือจะศึกษาเรียนรู้จากประวัติ ผลงานและแนวคิด ซึ่งต้นแบบหรือตัวแบบ หรือ Prototype แบบที่เราอยากเป็น ดันกลายเป็นคนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เข้าถึงตัวยาก… ส่วนใหญ่จะมี Profile และข้อมูลมากมายเผยแพร่อยู่แล้ว ว่าคนๆ นั้นไปถึงจุดที่เราก็อยากจะไปถึงได้อย่างไร… ขาดเหลืออะไรอยากรู้อยากเข้าใจอะไรเพิ่มเติม ก็อาจจะใช้วิธีส่ง Email ไปสอบถามพูดคุยได้… ซึ่งต้องลอง!
คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มยินดีตอบคำถามคนแปลกหน้าที่ถามทางเสมอ… การถามทางชีวิตก็เหมือนกัน เมื่อเรามีแรงจูงใจชัดเจนที่อยากมีอนาคตเหมือนต้นแบบที่เรายกเป็นไอดอล การหาทางสื่อสารกับต้นแบบตัวเป็นๆ จะทำให้แผน 5 ปีชัดเจนขึ้น…
ผมเคยเจอนักศึกษาบางคนอยากเป็นอาจารย์… และแนะนำให้ไปคุยกับอาจารย์ที่เขาเห็นเป็น Idol… สิ่งที่นักศึกษาท่านนี้ทำคือเตรียมกระเช้าผลไม้พองาม หิ้วไปนั่งรออาจารย์ที่หน้าห้อง… และสุดท้ายนักศึกษาท่านนี้มีการบ้านมากมายกลับมาเตรียมตัวเองอีกกว่าสามปี จึงมีคุณสมบัติพอที่จะรอสมัครเป็นอาจารย์แข่งกับคนอื่นๆ ทันทีที่คณะประกาศรับอาจารย์ใหม่… และอดีตนักศึกษาท่านนี้ก็ได้รับเลือกเป็นอาจารย์ใหม่รอบนั้น พร้อมทุนเรียนต่อปริญญาเอก เพราะคุณสมบัติที่เขามี ครบถ้วนดีงามตามต้นแบบที่เขาเอาอย่างนั่นเอง
การเดินเข้าหาคนแปลกหน้าที่เรารู้จักเขาฝ่ายเดียว แต่มักจะได้รับความช่วยเหลือ… อธิบายได้ด้วย Weak Tie Theory ที่หมายถึงสายสัมพันธ์ที่ไม่เข้มข้น…ประมาณคนรู้จักของคนรู้จักของเพื่อน… หรือรุ่นพี่มหาวิทยาลัยหลายปีที่เราอยากรู้จัก… หรือเราเป็นติ่ง Idol มานานอยากขอพูดคุยสัมภาษณ์เพื่อเป็นต้นแบบชีวิต… อะไรประมาณนี้
ซึ่งเอกสารเผยแพร่ชื่อ “The Strength of Weak Ties” ของ Mark Granovetter ชี้ว่า… ความสัมพันธ์แบบ Weak Tie น่าเชื่อถือกว่าสายสัมพันธ์ที่สนิทสนมอย่างเพื่อนสนิทหรือญาติในหลายๆ กรณี… เหมือนกับที่หลายๆ คนตามส่อง Facebook คนอื่นเงียบๆ ทั้งที่ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวหรอก… การเป็นคนแปลกหน้าที่รู้จักคนที่เราจะเดินไปขอแนวทางใช้ชีวิตให้ได้อย่างต้นแบบ แม้ไม่รู้จักมักคุ้น จึงสามารถไปขอความช่วยเหลือ ด้วยสายสัมพันธ์แบบ Weak Ties ได้เสมอ และมีโอกาสผิดหวังน้อย… ซึ่งคนถูกขอส่วนใหญ่ ถ้ารู้สึกได้เหมือนคนกำลังมาถามทาง… การขอจะล้มเหลวน้อยมาก แต่หลายกรณีก็แค่ต้องลอง… Design Thinking เป็นเรื่องที่ต้องลอง
ที่จริงแล้ว… ทั้งหมดเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านการพูดคุยสนทนากับต้นแบบของคนอื่นที่มีลักษณะเดียวกับปีที่ 5 ของเราใน Odyssey Plan… เพื่อนำมาสร้างต้นแบบของตัวเอง จากรายละเอียดที่ชัดเจนพอให้นำมาประเมินและวางแผน 5 ปีของเรานั่นเอง
นั่นหมายความว่า… เราอาจจะไม่ต้องไปสัมภาษณ์ใครก็ได้ ถ้าการไปขอสัมภาษณ์ต้นแบบเป็นเรื่องยุ่งยาก… หรือต้นแบบที่เราอยากเป็นในอีก 5 ปีข้างหน้ายังไม่มีตัวตน… และที่สำคัญเรายังต้องการไอเดียเพิ่มเติม เพื่อปรับทุกอย่างที่รู้และมี ให้กลายเป็นแผน 5 ปีที่น่าตื่นเต้นกับอะไรๆ ที่อาจถึงขั้นเรียกว่านวัตกรรมใหม่เลยก็ได้… ซึ่งไม่ว่าข้อมูลหรือภูมิปัญญาจะได้มาจากการสัมภาษณ์พูดคุยกับต้นแบบ หรือค้นมาจากแหล่งอื่นๆ ที่หาได้… ทั้งหมดต้องเอามาสร้างไอเดียเยอะๆ เพื่อให้แผนย่อยมีตัวเลือกหลากหลายให้เลือกมาลงมือสานฝัน 5 ปีของเรา
ในชั้นเรียน Designing Your Life ที่ไม่มีเวลาไปสัมภาษณ์ Idol หรือต้นแบบนอกห้องเรียน จึงใช้วิธีระดมสมองร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นและเรียกขั้นตอนนี้ว่า… การระดมสมองเพื่อสร้างต้นแบบผ่านประสบการณ์
ถึงตรงนี้… เราจะกลับไปพิจารณา Question This Plan Address… จาก Odyssey Plan เพื่อนำมาตั้งคำถามหาไอเดียที่เป็นไปได้ เช่น “มีวิธีไหนบ้างที่จะ………” แล้วหาไอเดียตอบคำถามนี้มาเยอะๆ เช่น
มีวิธีไหนบ้างที่จะมีเงิน 1,000,000 บาท?… ซื้อล๊อตเตอรี่, ขายบ้าน, ขายทองมรดก กับพระเครื่อง, ยืมแม่, ไปแข่งประกวดร้องเพลงทางทีวี,
ซึ่งตัวอย่างวิธีมีเงินหนึ่งล้านบาทจะมีแนวทางหรือไอเดียมากมายที่ต้องรวบรวมตั้งแต่ไอเดียเพี้ยนๆ หลุดโลกก็ยังไม่ต้องตัดออก… การตอบคำถาม มีวิธีไหนบ้างที่จะ……… โดยให้หลายคนช่วยกันระดมสมอง โดยเฉพาะคนหลายคนที่แตกต่างหลากหลาย จะมีไอเดียเกิดขึ้นมากมายแบบที่เรียกว่า ไอเดียสร้างสรรค์ร่วมสูงมาก ซึ่งหลายครั้งไอเดียจากประสบการณ์หลายคน เมื่อนำมาตัดต่อดัดแปลงเป็นไอเดียใหม่ๆ อีก อาจจะกลายเป็นนวัตกรรมที่พาแผนสำคัญผ่านปัญหาเข้าใกล้เป้าหมายได้ไม่ยาก
ประเด็นการสร้างต้นแบบหรือ Prototype จึงเป็นการลงมือเบื้องต้นให้แผน 5 ปีมีรูปร่างให้จับต้องได้… ซึ่งต้นแบบชีวิตสามารถหาได้จากการพูดคุยหรือ Conversation Prototype และหาได้จากประสบการณ์หรือ Experience Prototype แล้วนำข้อมูลและประสบการณ์ที่ได้ มาสร้างไอเดีย… คำแนะนำคือ
1. ต้องรู้จักตั้งคำถาม… ควรเป็นคำถามปลายเปิด ไม่ใส่คำตอบไว้ในคำถามแต่แรก
2. ต้องเตรียมตัว… ซึ่งคนส่วนหนึ่งเข้าใจว่าตนเองรู้จักตัวเองดีมาก แต่เมื่อระดมสมองจากหลากหลาย หรือได้สัมผัสกับความรู้และประสบการณ์ของ Idol ที่นำหน้าเราไปไกลมากๆ แล้ว… จึงรู้ว่าตัวเองมีการบ้านต้องกลับไปเตรียมเยอะมาก… นั่นแปลว่ามีเรื่องให้คนๆ นั้นประหลาดใจหรือคาดไม่ถึง เพราะไม่ได้คิดหรือเตรียมตัวล่วงหน้าดีพอ โดยเฉพาะเมื่อต้องระดมสมอง การไม่เตรียมตัวเลยอาจจะคิดไม่ออกในเรื่องที่คาดไม่ถึงจนเสียโอกาสเช่นกัน
3. เคารพกฏของการระดมสมอง… ซึ่งมีข้อห้ามและแนวทางอยู่ 4 ประเด็นคือ
3.1 เน้นปริมาณไอเดีย ไม่เน้นคุณภาพไอเดีย
3.2 ไม่ด่วนตัดสินไอเดียด้วยการตีตกทันทีที่คิดออกหรือมีคนเสนอ
3.3 ต่อยอดไอเดียให้ทีม
3.4 สนับสนุนไอเดียแปลกๆ และแตกต่าง
4. ตั้งชื่อไอเดีย จัดกลุ่มไอเดียและสรุปแนวทางผลลัพธ์… ขั้นนี้สำคัญมากในการจัดการไอเดียที่หลากหลาย ที่ได้จากการระดมสมองแบบเก็บทุกไอเดียไว้ก่อน… ซึ่งหลายครั้งในทีมอาจจะมีคนทำตัวเป็นผู้มากประสบการณ์หรือทรงคุณวุฒิ คอยตัดสินไอเดียและโยนไอเดียทิ้งตั้งแต่ขั้นตอนการระดมสมอง… ควรจัดการโยน “คนตัดสินไอเดีย” ออกไป มากกว่าจะโยนไอเดียทิ้ง แม้ว่าจะเป็นไอเดียประหลาดแค่ไหน… เสร็จแล้วให้จัดกลุ่มไอเดีย… แล้วตั้งชื่อให้แต่ละกลุ่ม… และวิเคราะห์ผลลัพธ์สุดท้ายที่คาดว่า ไอเดียจะพาเราไปเจอคำตอบสุดท้ายเป็นอะไร
ท่านที่เคยมีประสบการณ์การระดมสมอง หรือชอบใช้ Post-It วางแผนอะไรมาก่อน น่าจะพอนึกภาพการระดมสมองแบบเขียนไอเดียลง Post-It แล้วแปะๆ ไปก่อน แล้วค่อยนำมาจัดกลุ่มหรือเรียงลำดับ…

ขั้นตอนการพัฒนา Prototype เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดเฉพาะเจาะจงค่อนข้างมาก… ผมทราบดีว่าการเขียนอธิบายยังไงๆ ก็อ่านแล้วงงอยู่ดี… ถ้าสนใจจริงๆ ต้องลงมือทำแบบฝึกหัดจริงจังครับ ถึงจะทราบว่า… แท้จริงแล้วเครื่องมือจาก Designing Your Life ได้พาเราไปเจอประเด็นอะไรที่น่าสนบ้าง… ซึ่งคนที่ยังสนใจอนาคตตั้งแต่วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าเดิม… มีค่ากับตัวเองกว่าเดิม… มีค่ากับคนที่เรารักและคนที่รักเรากว่าเดิม… การลองเสียเวลาทำแบบฝึกหัด Designing Your Life… จะไม่มีทางสูญเปล่าแน่นอน
พรุ่งนี้มาส่งท้าย Designing Your Life ฉบับตีความแบบ Reder ที่จะรวบมาสรุปตั้งแต่อาชีพการงาน โชคและโอกาสที่สร้างได้ และทำความรู้จักกับล้มเหลวในมุมที่สร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้… โปรดติดตามครับ!
อ้างอิง