โลกความจริงของการทำธุรกิจซึ่งกิจกรรมทั้งหมด ล้วนเป็นกิจธุระเพื่อเป้าหมายของลูกค้า หรือไม่ก็เป็นกิจธุระของใครสักคนที่จ่ายเงินเพื่อ “ว่าจ้าง” ให้ธุรกิจช่วยสะสางจัดการ และหรือ ดำเนินการให้กิจธุระของผู้จ้างวานให้เสร็จสิ้นสมหวัง ซึ่งแม้แต่องค์กรการกุศล หรือ ส่วนราชการเองก็ยังถือว่าเป็นบริการที่สร้างขึ้นแบบมีลูกค้าผู้มารับบริการฟรีโดยมีเจ้าภาพอย่างผู้บริจาค หรือ ผู้เสียภาษีเป็นคนออกค่าจ้างเสมอ
โลกความจริงของกิจกรรมทางธุรกิจทั้งหมด จึงมาจากความพยายามในการสะสางปัญหาบางอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่จะขัดขวางระหว่างเป้าหมายของลูกค้า กับ สถานะก่อนการสะสางปัญหาให้พวกเขา… แม้หลายครั้งจะเห็นเป็นปัญหาที่สะสางได้ด้วยการ “ทำไปตามหน้าที่” โดยปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ได้ถูกเปลี่ยนเป็นความรับผิดชอบจนเห็นองค์กรส่วนใหญ่ ต่างก็มี “ทรัพยากรมนุษย์” อยู่ทำหน้าที่หลักที่ตนถูกจ้างมาให้รับผิดชอบ ด้วยการสะสาง “งานในหน้าที่” ให้ลุล่วง… แต่คนทำงานองค์กรส่วนใหญ่ โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจที่ต้องหาค่างจ้างจากลูกค้าโดยตรง และ โดยเฉพาะผู้นำหรือหัวหน้าผู้ซึ่งต้องรับผิดชอบภาระการงานในหลากหลายหน้าที่และมิติ… บ่อยครั้งก็จะมี “งานงอกเกินหน้าที่” แบบที่ไม่ได้คิดเอง หรือ ไม่ได้อยากจะทำเองผ่านเข้ามาให้เซ็งนิดโมโหหน่อย… แต่ก็มีบ้างในบางกรณีที่งานงอกของหลายๆ คนอาจจะถึงขั้นทำเอา “ล้มทั้งยืน” จากปัจจัยเกินการควบคุมที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย…
งานงอกแบบ “คาดก็ไม่ถึง ควบคุมไม่ได้” ที่ส่วนใหญ่เรียกกันว่า “วิกฤต หรือ Crisis” ที่มักจะสร้างความเสียหายให้เป้าหมายของธุรกิจ หรือ องค์กรพังทลายลงพร้อมๆ กับ “สถานะของกิจการ” บางส่วน หรือ หลายส่วนถูกทำลายโอกาสดีๆ ไป
วิกฤตที่คุกคาม “ผลประโยชน์ และ โอกาสต่างๆ มากมาย” ให้องค์กรเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าดับทำคอมพิวเตอร์พังและข้อมูลลูกค้าหายเกลี้ยง ไปจนถึงไฟไหม้… น้ำท่วม… โจรย่องเบา… แฮกเกอร์คุกคาม… ทัวร์ลงทางโซเชี่ยลมีเดีย หรือ เกิดโรคระบาดจนจัดการอะไรไม่ได้… ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นอะไรที่ควบคุมจัดการได้ยาก ไปจนถึงจัดการอะไรไม่ได้เลย และ มักจะเกิดความเสียหายไปแล้วก่อนจะทันได้จัดการอะไรได้ทันอีกต่างหาก
และเมื่อเกิดความเสียหายไปแล้ว… สิ่งที่ต้องทำจะมีทางเดียวเท่านั้นคือ การกู้คืนความเสียหาย หรือ Disaster Recovery เพื่อจัดการให้ผลกระทบจากความเสียหาย มีผลเสียกับโอกาสครั้งใหม่ให้ต่ำใกล้ศูนย์ หรือไม่ก็เอาความเสียหาย หรือ ซากจากผลกระทบนั่นแหละมาสร้างโอกาสใหม่
ประเด็นก็คือ… การกู้คืนความเสียหาย หรือ Disaster Recovery ต้องมีหลักการและแบบแผน ที่จำเป็นต้องกำหนดเป็นเป้าหมายและวัตถุประสงค์ให้ชัด วางแผนให้รอบคอบ และ ต้องกำหนดกลยุทธ์เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการให้รัดกุมชัดเจน
สิ่งที่ต้องเข้าใจก็คือ… ธรรมชาติของความเสียหายที่จำเป็นต้องกู้คืน หรือ ความเสียหายที่จำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านนั้น เป้าหมายและวัตถุประสงค์ หรือ ภาพรวมหลังการกู้คืนควรเป็นอย่างไรแค่ไหน?… องค์กรต้องกำหนดเป้าหมายและใส่รายละเอียดเอง ซึ่งโดยเนื้อแท้จะเป็นการกำหนดวิสัยทัศน์ต่อภาระกิจกู้คืน หรือ ภาระกิจเปลี่ยนผ่านให้ชัดเจนนั่นเอง… เมื่อได้วิสัยทัศน์ และหรือ วัตถุประสงค์มาแล้ว ก็ค่อยมาดูกันว่าจะต้องวางแผนเพื่อใช้กลยุทธ์การกู้คืนความเสียหายในแนวทางใดไปจัดการ ซึ่งหลักๆ ผมมีแนะนำอยู่ 2 แนวทางคือ
1. Retrenchment Strategy หรือ กลยุทธ์ปรับลด… ซึ่งในทางเทคนิคก็คือการตัดทิ้งส่วนที่เสียหาย รวมทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายตามแนวทาง “ตัดอวัยวะรักษาชีวิต” โดยทั้งหมดที่ต้องทำก็คือ หาทางลดทุกอย่างให้เหลือเท่าที่จำเป็น และ เท่าที่จะควบคุมได้
2. Turnaround Strategy หรือ กลยุทธ์พลิกฟื้น… ซึ่งในทางการจัดการจะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก แต่โดยหลักๆ จะเป็นการหาทางให้ “โอกาส และ ความได้เปรียบ” กลับคืนสู่การควบคุมให้ได้มากที่สุด… ในทางเทคนิคจะมีรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างมาก และ เป็นรายละเอียดเฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละองค์กร รวมทั้งความท้าทายอย่างเฉพาะเจาะจงจากความเสียหายที่เกิดไปแล้ว… และโดยประสบการณ์เท่าที่ผมพอจะบอกได้ชัดๆ ก็คือ ให้ทำ Retrenchment Strategy กับส่วนที่เสียหาย หรือ ทั้งหมดที่ควรต้องทำให้เสร็จ แล้วจึงมาพิจารณา “สร้างโอกาส และ พัฒนาความได้เปรียบ” ให้อยู่ภายใต้การควบคุมให้มากขึ้นกว่าเดิม
และประเด็นที่สำคัญที่สุดที่ต้องไม่ลืมก็คือ… การขับเคลื่อน Disaster Recovery Strategy จำเป็นต้องให้ผู้นำสวมบทบาท Wartime Leader เท่านั้น… ซึ่งท่านจะทราบเองว่าต้องใส่รายละเอียดอะไรตรงไหนอย่างไรด้วยตัวท่านเอง…
ครับ!
References…