Stanford Marshmallow Experiment

Don’t Eat The Marshmallow… รอไหวมั๊ยถ้าได้อีกชิ้น!

Stanford Marshmallow Experiment เป็นงานวิจัยและการทดสอบทางจิตวิทยา เพื่อทดสอบเรื่องการอดทนรอคอยและความยับยั้งชั่งใจ โดยติดตามชีวิตเด็กกว่า 600 คน เริ่มตั้งแต่กลุ่มตัวอย่าง อายุ 4-6 ขวบ ในปี 1972 และมีการเฝ้าติดตามผลอีก 4 ครั้งคือตอนอายุ 31, 35, 50, 55 ปี… การวิจัยดำเนินการโดยนักจิตวิทยาระดับปรมาจารย์นาม Professor Dr. Walter Mischel 

Professor Dr. Walter Mischel , 2018

Stanford Marshmallow Experiment หรือ การทดลองมาร์ชแมลโลว์สแตนฟอร์ด เป็นการทดสอบทางจิตวิทยาเรื่องความยับยั้งชั่งใจที่ส่งผลระยะยาวกับบุคคล โดยเฉพาะประเด็นบุคลิกภาพ ความสำเร็จและล้มเหลว… การวิจัยนี้จึงเป็นโครงการระยะยาว ที่ติดตามชีวิตเด็กที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่อายุ 4 ปี จนอายุ 55 ปี ซึ่งคาดว่าจะสิ้นสุดโครงการในปี 2022… ที่แม้แต่ Professor Dr. Walter Mischel ก็ยังเสียชีวิตไปก่อนปิดโครงการ ตั้งแต่ 12 กันยายน 2018

ในปี 1960 Professor Dr. Walter Mischel ได้ตั้งคำถามเรื่อง การอดทนรอคอยความสุขหรือความยับยั้งชั่งใจ มีผลอย่างไรกับอนาคตของคนคนนั้น

การทดลองให้เด็กๆ ชายหญิง อายุระหว่าง 4-6 ปี 600 คน นั่งรออยู่ในห้องโดยมี มาร์ชเมลโล่วางอยู่ตรงหน้าของทุกคน… และผู้วิจัยบอกเด็กๆ ว่า หลังจากผู้วิจัยเดินออกจากห้องเด็กๆ สามารถกินมาร์ชเมลโล่ตรงหน้าได้ หรือรอให้ผู้วิจัยกลับมา คนที่ยังไม่ได้กินมาร์ชเมลโล่จะได้มาร์ชเมลโล่เพิ่มอีก 1 ชิ้น

ทันทีที่ผู้วิจัยเดินออกไป มีเด็กบางคนหยิบมาร์ชเมลโล่กินทันที… แต่ก็เป็นส่วนน้อย… เด็กบางคนหยิบขึ้นมาดอมดม… เอามากอดไว้ แบบโหยหาและอยากกินมากๆ บางคนถึงกับแอบกัด

บางคนเลือกเบี่ยงเบนความสนใจตัวเองด้วยการเล่นผมตัวเอง เล่นกับโต๊ะ เตะโต๊ะ หาอะไรทำ และพยายามจะดึงความสนใจตัวเองออกจากขนมในทุกวิถีทาง

ผลการทดลองครั้งนี้… มีเพียงหนึ่งในสามเท่านั้นที่อดทนรอคอยได้ถึง 15 นาทีเพื่อรอขนมมาร์ชเมลลโล่เพิ่มอีกหนึ่งชิ้น

หมายถึง… คนสองในสามไม่สามารถรอคอยผลตอบแทนที่ยังมาไม่ถึง แบบว่า ได้กินหนึ่งชิ้นตอนนี้ ดีกว่าหวังว่าจะได้กินสองชิ้นแต่อีกนาน

สามสิบปีผ่านไป เด็กกลุ่มที่เคยอดทนรอคอยได้ มีความสามารถในการควบคุมตนเองมากกว่า มีปัญหาชีวิตน้อยกว่าและประสบความสำเร็จสูงกว่า… กลุ่มที่อดทนรอคอยได้น้อย

ซึ่งความสามารถในการอดทนรอคอย… เป็นสิ่งที่ติดตัวไปจนทุกคนโตเป็นผู้ใหญ่

ในสังคมไทยมีสุภาษิตสำคัญสองบทที่ว่า… ชิงสุกก่อนห่าม และ อดเปรี้ยวไว้กินหวาน ก็เป็นประเด็นเดียวกันนี้ ซึ่งจิตวิทยาเรื่องการประเมินผลตอบแทนในอนาคตกับความอดทน… มีอะไรที่มากกว่าการรอคอยและอดกลั้นมาก

หากพิจารณาสุภาษิตไทยอีกบทหนึ่งที่ตรงกันข้ามที่ว่า… กำขี้ดีกว่ากำตด ที่สอนให้คนอยู่กับสิ่งที่จับต้องได้ในปัจจุบันมากกว่า จะสร้างความหวังแบบลมๆ แล้งๆ ที่การรอคอยอาจจะเหลือเพียงความว่างเปล่า

แต่หากพิจารณาอย่างถ่องแท้จะเห็นว่า สุภาษิตทั้ง 2 บทไม่ได้มีไว้เพื่อใช้ในบริบทเดียวกัน… กรณีอดเปรี้ยวไว้กินหวานถ้าใช้ในบริบทของการมองความคุ้มค่ากว่า… ย่อมให้ผลตอบแทนตามนั้น ซึ่งการอดทนรอก็เรื่องหนึ่ง และระยะเวลาที่รอก็อีกเรื่องนึง

แต่ถ้าต้องมองในบริบทของความเสียหายหรือวิกฤต… สุภาษิตอย่างกำขี้ดีกว่ากำตดย่อมใช้ได้ผลมากกว่า เพราะในสถานการณ์ที่วิกฤตและมีความเสียหายท้าทายอยู่ตรงหน้า… การอดทนและรอคอยย่อมไม่ใช่เครื่องมือที่ถูกกาละเทศะ

คำถามก็คือ… ท่านอดทนและรออะไรที่คุ้มค่ามาบ้างในชีวิต และท่านเร่งรีบ ด่วนได้จนชีวิตเสียหายผิดพลาดอะไรมาบ้าง

อ้างอิง

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts