นานมาแล้วที่ตัวแปรทางเศรษฐกิจอย่าง GDP หรือ Gross Domestic Product ได้กลายเป็นดัชนีวัดการเติบโตของประเทศ แต่การเพิ่มขึ้นของ GDP ในยุคที่เราท่านได้เห็นการล่มสลายของ “หลายสิ่ง” เพื่อผลักดัน GDP ซึ่ง “บางสิ่ง” ได้ล่มสลายไปตลอดกาลโดยสร้างผลกระทบด้านลบเป็นลูกโซ่ไปทั้งระบบนิเวศที่เกี่ยวพันกัน… การเติบโตของตัวเลข GDP ในเชิงระบบนิเวศจึงไม่สามารถสะท้อนความสำเร็จรุ่งโรจน์ได้จริงอย่างที่เคยเชื่อกันมานาน
Professor Kate Raworth นักเศรษฐศาสตร์จาก Environmental Change Institute แห่ง Oxford University และ ศาสตราจารย์ประจำ Amsterdam University of Applied Sciences และ ผู้เขียนหนังสือ Doughnut Economics: Seven Ways To Think Like A 21st Century Economist… ซึ่งเป็นโมเดลทางเศรษฐศาสตร์ หรือ Economic Model ที่ได้รับการยอมรับว่าสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน
Doughnut Economics เป็นแนวคิดที่ออกแบบขึ้นเพื่ออธิบายระบบนิเวศที่สัมพันธ์กับกลไกด้านเศรษฐกิจโดยมีปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ถูกวางไว้เป็นแกนกลาง ก่อนจะล้อมรอบด้วยเนื้อโดนัทที่ใช้อธิบายจุดสมดุลของการอุปโภคบริโภค ซึ่งพื้นที่ด้านนอกเนื้อโดนัทจะใช้อธิบายปัญหาและวิกฤติสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทั้งหมด… ซึ่ง Kate Raworth เสนอให้พัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตภายในเนื้อโดนัทเพื่อไม่ให้ขาดสมดุลในระบบนิเวศที่ชัดเจนแล้วว่า… จะนำโลกใบนี้ไปถึงการล่มสลายได้ไม่ยากภายในเวลาเพียงไม่นานโดยไม่ทำให้การกินดีอยู่ดีจากการเฟื่องฟูของเศรษฐกิจถูกกดทับจนขาดพลัง
แนวคิดระบบเศรษฐกิจโดนัท หรือ Doughnut Economics ถูกทดลองใช้ในกรุง Amsterdam เมืองหลวงของประเทศ Netherlands… ซึ่งเทศบาลกรุง Amsterdam ได้นำแนวคิดนี้มาใช้แก้ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สาธารณสุข การจ้างงาน รวมถึงที่อยู่อาศัยของคนในเมือง
กรณีตัวอย่างการผลักดันบริการด้านสาธารณสุขพลเมืองทุกคนของอัมสเตอร์ดัม จะต้องเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างระบบสาธารณูปโภคที่เอื้อต่อสุขภาวะที่ดีของพลเมือง ประชากรมีน้ำสะอาดดื่มใช้ถ้วนทั่ว… มีอาหารรองรับการบริโภคอย่างเพียงพอของประชากร… มีที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับพลเมืองในทุกระดับรายได้… มีการใช้นโยบายส่งเสริมการนำกลับมาใช้ หรือ Restore และ สร้างใหม่ หรือ Regenerate ที่ต้องทำไปควบคู่กัน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า เมื่อเริ่มปฏิบัติการตามแนวคิดนี้ ภายในปี 2030… ประชาชนในกรุง Amsterdam จะลดการใช้ทรัพยากรลงได้ถึง 20%
ส่วนการบริโภคพลังงาน กรุง Amsterdam ตั้งเป้าว่าจะต้องยกเลิกการใช้ก๊าซธรรมชาติให้ได้ภายในปี 2040 และทดแทนด้วยพลังงานหมุนเวียน 100% ซึ่งการบรรลุเป้าหมายจะทำให้กรุง Amsterdam สามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานของความสมดุลต่อสังคม และ สิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน… นั่นหมายความว่า ระบบเศรษฐกิจของกรุง Amsterdam จะเติบโตเพียงพอที่ประชากรจะกินดีอยู่ดีโดยไม่มีปัญหาขาดแคลนกับปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งจะสมดุลอยู่ในเนื้อโดนัทสีเขียว…
References….