โลกในยุค VUCA สำหรับนักบริหารและท่านที่รับผิดชอบการนำในทุกบริบท หลายท่านทราบดีว่า การเปลี่ยนแปลงมากมายที่ถาโถมเข้าใส่ความรับผิดชอบ… เหมือนโควิดมา โควิดไป แล้วโควิดก็กลับมา… โดยยังบอกได้ไม่ชัดเจนเลยว่าอะไรจะต้องเปลี่ยนแค่ไหน หลายครั้งก็มีเหตุให้ต้องเปลี่ยนอีกครั้ง และอีกครั้งจนตั้งตัวสองสามตั้ง ก็ยังตามแทบไม่ทัน
นักบริหารและผู้นำยุคใหม่จึงสนใจแนวคิด Agile ที่ล่ำลือกันว่า สามารถแก้ปัญหาการสั่งการและการรายงานแบบ Waterfall หรือ แบบน้ำตก หรือแบบขั้นบันไดก็สุดแต่จะเรียก ซึ่งทำให้กลไกการจัดการภาระงานในทีมหรือองค์กร ล่าช้า หลายชั้น และ สิ้นเปลืองโอกาสทั้งที่เห็นชัดเจนและสูญเสียโดยไม่มีโอกาสรู้ว่าสูญเสีย… ไปสู่ “การประสานงานแบบทีม” โดยทุกคนในทีมต่างช่วยกันขับเคลื่อนเป้าหมายของทีมอย่างเต็มความสามารถ แทนการ “รอทำหน้าที่ของตัวเอง” เช้าชาม กลางวันชาม และบ่ายๆ อีกชามก่อนกลับบ้าน
การประสานงานเป็นทีมแบบที่ทุกคนในทีมต่างมีหน้าที่ของตัวเอง แต่ก็ยินดีเข้าทำหน้าที่แทนหรือเสริมธุระหน้าที่ของเพื่อนร่วมทีม เพื่อให้ “เป้าหมายส่วนรวมถูกดำเนินการอย่างต่อเนื่อง” เหมือนทีมฟุตบอลในสนามที่ผู้เล่นต้องช่วยกันทำประตูคู่แข่ง และป้องกันคู่แข่งบุกมาทำประตูของทีมให้เสียหายด้วย… ถ้าผู้เล่นในทีมฟุตบอลต่างเล่นอยู่แต่ในพื้นที่รับผิดชอบของตัวเองทุกคน นอกจากจะทำประตูฝ่ายตรงข้ามเอาชัยชนะได้ยากแล้ว ฝ่ายตัวเองน่าจะเสียประตูค่อนข้างง่ายอีกด้วย… และคนที่เหนื่อยเปล่ากับผลงานแบบนั้นก็น่าจะเป็นโค้ชและผู้จัดการทีมมากกว่าผู้เล่น
ในองค์กรและธุรกิจก็ไม่ต่างกัน… ถ้ากลไกทีมที่ต้องช่วยกันขับเคลื่อนเป้าหมาย ต่างก็ “ทำตามหน้าที่” เหมือนมนุษย์ในองค์กรยุคคลาสสิค คนที่ต้องเหนื่อยหนักกับเป้าหมายของทีมหรือองค์กรจึงหนีไม่พ้นตัวผู้นำ เว้นแต่จะเป็นผู้นำเพียงครอบครองชื่อตำแหน่ง โดยไม่ถือครองความรับผิดชอบ
การนำทีมเข้ารับผิดชอบเป้าหมายจึงต้อง “เป็นมวย” มากพอที่จะขับเคลื่อนทีมหรือองค์กรได้ด้วยบริบทและเครื่องมือการจัดการที่ทันสถานการณ์ โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ต้อง “ยืดยุ่นกับรายละเอียด” เพื่อให้ตัวแปรและสภาพแวดล้อมที่ไม่นิ่งจนนอนใจได้ กระทบต่อเป้าหมายให้น้อยที่สุด… หรือไม่ก็เอา “ความไม่แน่นอนซับซ้อนคลุมเครือ หรือ VUCA” นั่นแหละมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด
วิธีก็คือ… เตรียมทีมให้ทำงานเป็นทีม โดยเตรียมทีมให้ Agile ทั้งทีม… ซึ่งสมาชิกทีมจะถูกมอบหมายให้ร่วมกันรับผิดชอบเป้าหมายร่วม และ ภาระกิจร่วม เหมือนทีมฟุตบอลร่วมกันรับผิดชอบการทำประตูฝ่ายตรงข้ามเอาชัยชนะ หรืออย่างน้อยก็ร่วมกันปกป้องประตูที่จะเสียให้น้อยที่สุดในเกมส์รับ ซึ่งสมาชิกทีมต้องทำหน้าที่ของตัวเองสุดความสามารถ และยังต้องเหลือพลังพอที่จะช่วยเหลือเพื่อนร่วมทีม ให้ทำหน้าที่ได้เกินคาดให้ได้
ประเด็นก็คือ… เมื่อทีมลงสนาม การตัดสินใจสะสางเป้าหมายของทีมโดยสมาชิกทุกคน จะมาลังเลรอโค้ชตะโกนสั่งตลอดไม่ได้… แม้โค้ชหรือผู้จัดการทีมจะเต้นแร้งเต้นกาอย่างผิดหวัง… ก็ต้องยอมอยู่ข้างสนามจนเกมส์จบ
การเตรียมทีมก่อนลงสนามจึงสำคัญอย่างมาก ไม่ว่าจะทีมกีฬา หรือ ทีมทำงาน… ซึ่งงานเตรียมทีมเป็นงานโดยตรงของผู้นำ ที่ต้องสอน ต้องฝึก ต้องช่วยพัฒนาทักษะ ต้องสังเกตุ ต้องถามเป็น ต้องฟังเป็น ต้องเรียนรู้… และต้องมอบหมายการตัดสินใจที่จำเป็นให้กับลูกทีม
ประเด็นการตัดสินใจนี่เองที่เป็นเรื่องใหญ่ และเป็นปัญหาใหญ่ในความสัมพันธ์ของสมาชิกทีม… เพราะสมาชิกทีมที่มีศักยภาพและทักษะในการทำงานในระดับปกตินั้น มักไม่ได้มีปัญหาเรื่องความรับผิดชอบต่อเป้าหมายของทีมหรือองค์กร และส่วนใหญ่ยินดีสนับสนุนกิจธุระในความรับผิดชอบของเพื่อนร่วมทีมอย่างเต็มความสามารถด้วยทั้งสิ้น… เว้นแต่จะคิดไม่เหมือนกัน จนทำไม่เหมือนกัน เพราะตัดสินใจต่างกัน
ปัญหาโลกแตกจึงวนกลับมาที่ “การตัดสินใจ” เหมือนที่หลายท่านเคยเห็นภาพนักฟุตบอลแถวหลังที่ยืนในแนวรับ ตัดสินใจเลี้ยงเดี่ยวจะเข้าไปยิงประตูให้ได้ด้วยตัวเอง ในขณะที่โค้ชข้างสนามไม่เห็นด้วยจนต้องตะโกนสั่งเพื่อใ้ห้ฟังที่สั่งและใช้การตัดสินใจของตัวเอง… เหตุการณ์ต่อจากนั้นคงไม่ต้องคุยเรื่องแพ้ชนะ เพราะ “แนวทางการตัดสินใจที่ขัดแย้งกัน” ของสมาชิกทีมทุกระดับ ได้ทำลายความสัมพันธ์ในทีมนี้ไปแล้วตั้งแต่การตัดสินใจสองแนวทางปะทะกัน
การจะทำ Dream Team ที่เห็นชัดเจนจากศักยภาพและผลงาน จึงมีตัวแปรหลายอย่างที่ “คนนำทีมและคนทำทีม” จำเป็นต้องเข้าว่าอะไรสำคัญ… อะไรเร่งด่วน… อะไรต้องแม่นยำ… และอะไรต้องตัดสินใจยังไง… สอนลูกทีมให้ครบ ฝึกลูกทีมให้คล่อง และอย่าอ่อนซ้อมเสียเองถ้าต้องใช้ทีมและอยากนำทีม
ครับผม!