Dynamic Strategy

Dynamic Strategy… กลยุทธ์เชิงพลวัตที่ไม่ต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ในแผน

คำว่ากลยุทธ์เป็นคำใหญ่สำหรับการขับเคลื่อนกิจกรรม ที่มักจะต้องใช้ความพยายามและทรัพยากรอย่างเหมาะสมในการจัดการ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดบนตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ ซึ่งไม่ว่ากิจกรรมหรือธุรกรรมใดที่ต้องการกลยุทธ์ ล้วนถือว่าเป็นกิจกรรมหรือธุรกรรมที่ไม่ง่าย ไปจนถึงซับซ้อนยุ่งเหยิงสุดๆ ก็มี

โดยปกติ… ธรรมชาติของกลยุทธ์จะประกอบด้วยแผนหลายๆ แผน เชื่อมโยงส่งต่อผลลัพธ์ เพื่อสะสมความสำเร็จของแผนย่อยๆ ที่เกิดตามลำดับเส้นเวลา จากเช้าไปถึงเย็นหรือจากต้นปีไปปลายปี ซึ่งกลยุทธ์ส่วนใหญ่ล้วนเกี่ยวข้องกับ “คาบเวลา” ที่ต้องนำมาวางแผนและร่วมประเมินความสำเร็จล้มเหลวด้วยเสมอ

โดยส่วนตัวผมจึงมอง “แผนและกลยุทธ์” เหมือนไก่กับไข่ ที่หมายถึงมีสิ่งหนึ่งจึงมีอีกสิ่งหนึ่ง หรือไม่มีสิ่งหนึ่งก็ไม่มีอีกสิ่งหนึ่งด้วย… ซึ่งเป้าหมายใดๆ ที่จำเป็นต้องใช้แผนและต้องกำหนดกลยุทธ์เพื่อให้แผนดำเนินไปถึงเป้าหมายจนสำเร็จ ก็มักจะประเมินเห็น “อุปสรรคหรือโอกาสที่อาจจะผิดพลาดล้มเหลวล่วงหน้า” จนต้องพึ่งกลยุทธ์ หรือ ชั้นเชิง หรือ เล่ห์เหลี่ยม… ให้พาแผนผ่านอุปสรรคและโอกาสบกพร่องล้มเหลวให้ได้มากที่สุด… และนั้นหมายความว่า ตลอดคาบเวลาที่ต้องดำเนินการตามแผนนั้น ตัวแปรที่มีผลต่อความสำเร็จล้มเหลวตามเป้าหมาย มักจะเปลี่ยนแปลงจนคนที่เคยวางแผนมามาก มักจะ “เผื่อเหลือเผื่อขาด” ในการเตรียมทรัพยากรประกอบการขับเคลื่อนกิจกรรมตามแผนเสมอ

ประเด็นก็คือ… การเผื่อเหลือเผื่อขาดถือเป็น “ความรอบคอบอย่างเข้าใจ” ที่สามารถรับประกันความสำเร็จได้ระดับหนึ่ง… ซึ่งส่วนใหญ่ก็ต้องมั่นใจว่าจะไม่ล้มเหลวในเป้าหมายหลักนั่นเอง แต่หลายครั้ง “การเผื่อ” ก็กลายเป็นทั้งภาระและอุปสรรคในการขับเคลื่อนแผนที่ต้องคิดกลยุทธ์เผื่อนั่นเผื่อนี่ โดยต้องเตรียมแผนและทรัพยากร “เผื่อทุกๆ ฉากทัศน์ หรือ Scenario ที่คาดถึง”

ในชั้นเรียนด้านบริหารจัดการ รวมทั้งตำรามากมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการ ซึ่งล้วนแบ่งปันเครื่องมือและแนวทางการจัดการเชิงกลยุทธ์ ที่มีตั้งแต่สูตรสำเร็จไปจนถึงทฤษฎีฐาน หรือ Grounded Theory ให้เอาไปประยุกต์ใช้ตามบริบทได้อย่างยืดยุ่น… ซึ่งก็เป็นยืดยุ่นเดียวกับที่รับประกันความสำเร็จตามแผน รวมทั้งยืดยุ่นที่ต้องคิดและเตรียมแบบเผื่อเหลือเผื่อขาดนั้นด้วย

คำถามคือ… แผนและกลยุทธ์ที่ “พอดี” ไม่ยืดยุ่นเวิ่นเว้อสิ้นเปลือง แต่สามารถบรรลุเป้าหมายอย่างสมบูรณ์แบบที่สุดภายใต้บริบทนั้นๆ โดยไม่ขาดหรือเกินให้มีคำว่า “รู้งี้” ให้ได้ยินส่งท้ายควรรู้จักอะไรบ้าง

Professor Jay W. Forrester ศาสตราจารย์ด้านข้อมูลและวิทยาการคอมพิวเตอร์จาก MIT  หรือ Massachusetts Institute of Technology ผู้ได้ตำแหน่งศาสตราจารย์ด้วยผลงานที่สัมพันธ์กับโมเดลการจัดการจน MIT Sloan School of Management ซึ่งเป็นวิทยาลัยบริหารธุรกิจ สังกัด MIT… ขอเป็นเจ้าภาพประสาทคุณวุฒิ หรือ Congregation ระดับศาสตราจารย์ให้เป็นเกียรติ จากผลงานการริเริ่มทฤษฎี Forrester Effect ที่เกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทาน และ ยังมีทฤษฎี System Dynamics ซึ่งอธิบายความสัมพันธ์ใน “ระบบแบบไม่สมมาตร หรือ Nonlinear System” รวมทั้ง “ระบบซับซ้อน หรือ Complex Systems” ซึ่งถูกประยุกต์ใช้กับแผนและข้อมูลการลงทุน ซึ่งต้องประเมินตัวแปรทั้งที่เกี่ยวพันโดยตรงกับแผนการลงทุน และเกี่ยวพันโดยอ้อมมากมาย รวมทั้งความสัมพันธ์ย่อยหลายระดับด้วย

แน่นอนว่า… ในแผนการลงทุนในระดับที่ต้องวิเคราะห์ผ่าน Complex Systems โมเดลต่างๆ โดยเฉพาะแผนการลงทุนที่ต้องออกแบบและวิเคราะห์รอบด้าน พร้อมวงเงินลงทุนมหาศาล จนการใช้ “เทคนิคเผื่อเหลือเผื่อขาด” กลายเป็นจุดอ่อนที่อาจจะทำให้โครงการติดขัดจนล้มเหลว หรือย่ำแย่ถึงขั้นยกเลิกโครงการเพราะมีการเผื่อตัวเลขงบประมาณเกินเลยไปมาก… และที่สำคัญ หลายกรณีเมื่อเจอการต่อรองวงเงินหรือให้ชี้แจงรายละเอียดที่มา สุดท้ายอาจจะได้ตัวเลขงบประมาณที่ไม่พอจะทำอะไรให้ออกมาดีได้ไปทำงาน ซึ่งทั้งคนต่อราคาและคนชี้แจงราคาในกรณีแบบนี้ ต่างก็ไม่มีโมเดลรองรับแผนและกลยุทธ์การลงทุนและดำเนินงานที่ถูกต้องชัดเจนทั้งสิ้น เพราะถ้ามี… ตัวเลขราคาจะลากไปมาด้วยการกดเครื่องคิดเลขเป็นเปอร์เซนต์ย่อมไม่ได้

ในขั้นนี้… สิ่งที่อยากจะบอกทุกท่านที่ได้อ่านบทความตอนนี้ก็คือ เมื่อท่านต้องวางแผนและหาวิธีทำภารกิจอะไรก็ตาม ที่ไม่สามารถระบุในแผนได้แน่นอนชัดเจนว่าอะไรคืออย่างไรแล้วหละก็ การเตรียมแนวทางอย่างยืดยุ่น หรือเตรียมกลยุทธ์ไว้หลากหลายฉากทัศน์ในแผนเดียว ขอให้รอบคอบเรื่อง “เผื่อเหลือเผื่อขาด” ซึ่งคนทั่วไปเข้าใจว่า การเผื่อเหลือเผื่อขาดนี่แหละคือแนวทางยืดยุ่น หรือถึงขั้นเรียกว่า Dynamic Strategy เต็มปากก็เคยได้ยิน… ซึ่งถ้าไม่สิ้นเปลืองเวลาและทรัพยากรอื่นๆ จนเกินไปก็ไม่เท่าไหร่ 

ผมคิดว่า… เราควรต้องทำความเข้าใจกับความหมายของคำว่า Dynamic Strategy ที่สืบทอดมาจากทฤษฎี System Dynamics ของ Professor Jay W. Forrester และนักทฤษฎีรุ่นหลังอีกหลายท่านที่ปรับแต่งจนใช้ได้ดีแม้ในปัจจุบัน… ซึ่งจะโฟกัสประสิทธิภาพการขับเคลื่อนกิจกรรม หรือ การขับเคลื่อนธุรกิจอ้างอิงคาบเวลาปัจจุบัน เพื่อใช้ออกแบบกลยุทธ์สำหรับอนาคตข้างหน้า โดยกำหนดแนวทางขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับเหตุผลของการต้องพัฒนาประสิทธิภาพ หรือ หา Why? ให้เจอแนวทางกำหนดกลยุทธ์ก่อน… แล้วจึงลองวางแผนอ้างอิงแนวทางในอดีตที่ถูกดัดแปลงเงื่อนไขเรื่องประสิทธิภาพแล้ว ทั้งทรัพยากรและเวลา เพื่อใช้กำหนดแผนและกลยุทธ์แบบต่างๆ ก่อนจะเลือกแนวทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดมาใช้ขับเคลื่อนเพียงแนวทางเดียว

สิ่งสำคัญก็คือ เมื่อถึงขั้นการวางแผนกลยุทธ์กันแล้ว ก็ไม่ควรจะมากะๆ เดาๆ เผื่อๆ กันอีกแล้ว…

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts