วาระทางการศึกษาภายใต้แนวทาง Education 4.0 ซึ่งที่ประชุม World Economic Forum ได้ประกาศวิสัยทัศน์ Education 4.0 เอาไว้อย่างชัดเจนว่าต้องผลักดัน “การเรียนรู้ชั่วอายุขัย หรือ Lifelong Learning” บนทักษะสำคัญ 3 ด้านที่ระบบการศึกษาจำเป็นจะต้องพัฒนาให้ประชากรโลกมีทักษะหลักทั้ง 3 นี้ติดตัวเพื่อเรียนรู้ได้เองตลอดชีวิต… ได้แก่
- Problem Solving Skill หรือ ทักษะการแก้ปัญหา
- Collaboration Skill หรือ ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น
- Adaptability หรือ ความสามารถในการปรับตัว

อย่างไรก็ตาม… ทักษะทั้ง 3 ด้านที่ระบุไว้ในวิสัยทัศน์ Education 4.0 ไม่ได้มีทักษะไหนที่เป็น “องค์ความรู้ หรือ Knowledge” ที่จะเอาไปแก้ปัญหา หรือ ต่อเติมเพิ่มพูนสติปัญญาได้เลย เพียงแต่การไม่มีทักษะทั้ง 3 ด้านที่ระบุไว้กับตัวตนของใครก็ตาม คนๆ นั้นมักจะพัฒนาตนด้วยวิทยาการเกิดใหม่ และ องค์ความรู้ที่เปลี่ยนแปลงยกระดับตลอดเวลาไม่ได้เลย… ซึ่งกลุ่มคนที่เรียนรู้ และ พัฒนาตนด้วยความรู้ และ วิทยาการเกิดใหม่ได้น้อย หรือ ไม่ได้เลย ก็จะกลายเป็น “คนตกยุค และ ด้อยโอกาสโดยปริยาย” ได้เลยทีเดียว
การผลักดัน “การเรียนรู้ชั่วอายุขัย หรือ Lifelong Learning” จึงสำคัญที่การเสริมทักษะ 3 ด้านของแนวคิด Education 4.0 ก่อน… โดยยังต้องมี “ทรัพยากรทางการศึกษา หรือ Education Resource” อย่างเพียงพอสำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ชั่วอายุขัย… ซึ่งชัดเจนว่าจะเป็นการศึกษาตามอัทธยาศัย หรือ Informal Education… โดยการเตรียมทรัพยากรทางการศึกษาอย่างสอดคล้องในแนวทางนี้ จำเป็นจะต้องมีองค์ความรู้ที่สามารถสืบค้นเพื่อการเรียนรู้ และ นำใช้พัฒนาทักษะได้อย่างถูกต้องและครบถ้วนทุกความต้องการที่จะเรียนรู้… ซึ่งผมกำลังพูดถึงห้องสมุดแห่งมนุษยชาติที่ “การเรียนรู้ตามอัทธยาศัย หรือ Informal Learning” ทุกความอยากรู้ต้องสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่ถูกต้องได้ง่าย ครบถ้วน และ ไร้อุปสรรคด้านสถานที่ เวลา ภาษา และ ช่องทางการสื่อสาร… โดยเฉพาะหนังสือ และ ห้องสมุดที่ระบบการศึกษาควรต้องถกถึงการใช้ eBook ในระบบการศึกษาอย่างจริงจัง ทั้งการศึกษาภาคพื้นฐาน หรือ Formal Education และ การศึกษาตามอัธยาศัย หรือ Informal Education ด้วย
ขออนุญาตข้ามที่จะยกเหตุผล และ ข้อดีข้อเสียของการใช้ eBook เข้ามาใช้ในระบบการศึกษาขั้นสมบูรณ์ไปทั้งหมดครับ… ซึ่งถ้าท่านเห็นต่าง และ เชื่อว่าหนังสือบนหน้ากระดาษยังเข้มขลังในจิตวิญญาณทางการศึกษาอยู่อีกนาน… โดยส่วนตัวผมก็เคารพทัศนคติทำนองนี้อยู่เช่นเดิม เพียงแต่แนวคิดระดับ “ห้องสมุดแห่งมนุษยชาติ” ด้วยการรวบรวมหนังสือกระดาษได้ครบๆ จากทุกมุมโลดคงเป็นไปได้ยาก… ซึ่งถ้าเปลี่ยนเป็น eBook และ ระบบจัดการที่ออกแบบขึ้นใหม่น่าจะเป็นไปได้มากกว่า
References…