eco friendly business

แนวคิดการสร้างธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม #FridaysForFuture

ข้อเท็จจริงที่ว่า… พลาสติกจากทั่วโลกประมาณ 8,000,000 ตันต่อปี ไหลไปรวมกันในมหาสมุทร นักวิทยาศาสตร์และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ต่างช่วยกันส่งเสียงและป่าวประกาศว่า มลพิษจากพลาสติกเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะขยะในมหาสมุทร ซึ่งกินพื้นที่สามในสี่ส่วนของพื้นผิวโลก และช่วยรักษาสมดุลชั้นบรรยากาศและฤดูกาล

คำถามคือ… ในธุรกิจที่ท่านขับเคลื่อนดำเนินการอยู่ มีสัดส่วนอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของเสียที่กระทบดินน้ำอากาศและพลังงานบ้างหรือไม่?…

คำแนะนำต่อไปนี้เป็นแนวคิดเพื่อสนับสนุนการปรับธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้น… ซึ่งหลายกรณีส่งผลต่อประสิทธิภาพ และความยั่งยืนให้ธุรกิจของท่านได้

1. Sustainable Packaging หรือ ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน

การพิจารณาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ “สิ้นเปลือง” พลังงาน น้ำและไม่กลายเป็นของเหลือที่สูญเปล่าในท้ายที่สุด… ธุรกิจสามารถทำกำไรจากการลดอัตราการสิ้นเปลืองได้ทันที… ประเด็นคือ บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ห่อหุ้มสินค้าส่งถึงมือลูกค้านั้น ธุรกิจหรือผู้ผลิต ควบคุมปลายทางของบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ได้น้อยมาก การคิดให้จบว่า “บรรจุภัณฑ์ที่ห่อสินค้าถึงมือผู้รับแล้วจะไปไหนต่อ หรือไม่ตกค้างไร้ค่าแปดเปื้อนโลกอย่างไร” ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมทั้งธุรกิจและลูกค้า ที่ต้องช่วยกันหาทาง

2. Paperless Business หรือ กิจการไร้กระดาษ

หลายคนมองว่ากระดาษ หรือ เยื่อกระดาษทำมาจากต้นไม้ ที่หมายถึงการตัดต้นไม้มากมาย ความจริงต้นไม้ตัดใช้ก็ปลูกคืนได้ไม่อยากหรอก ขอแค่จริงจังที่จะปลูกทดแทนก็พอ… เรื่องที่น่ากังวลจริงๆ ของกระดาษขั้นตอนการแปรรูปต้นไม้ไปเป็นกระดาษต่างหาก ที่มีทั้งการใช้พลังงานมหาศาล ใช้น้ำมากมายและกลายเป็นน้ำเสียทั้งหมด ซึ่งบำบัดเปลี่ยนคืนสภาพจริงๆ ได้ไม่ดีเลย… และความจริงก็คือ ขยะกระดาษมีมากกว่าขยะพลาสติกเสียอีก แม้ความกังวลเรื่องย่อยสลายเน่าเปื่อยจะง่ายกว่าพลาสติกเยอะ แต่ขั้นตอนการแปรรูปท่อนไม้ไปเป็นกระดาษ คงไม่มีใครบอกว่าช่างดีต่อโลกและสิ่งแวดล้อม

การหันมาใช้ Digital Recordkeeping และ “ลดปริมาณ” ใช้กระดาษที่ Recycle ยากในบรรจุภัณฑ์ จึงเป็นทางออกที่ยั่งยืนและเห็นผลกำไรทันทีจากงบประมาณจัดซื้อกระดาษ… และพัฒนาทักษะดิจิตอลให้คนในองค์กร หรือไม่ก็เลิกจ้างเลิกใช้คนที่ไม่กล้าแม้แต่จะยอมทำอะไรให้ตัวเองเก่งขึ้นกว่าเดิมแบบนั้น

3. Eco-Friendly Business Buildings หรือ สถานประกอบการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ในธุรกิจทุกกรณีย่อมต้องมีโรงเรือนเพื่อเป็นที่ตั้ง เป็นสำนักงาน เป็นโรงงานหรือเป็นคลังสินค้า… ยิ่งธุรกิจมีขนาดใหญ่โต ก็ยิ่งต้องการโรงเรือนเพื่อประกอบการโตตามขนาดธุรกิจไปด้วย ซึ่งโรงเรือนทุกขนาดทุกวัตถุประสงค์ล้วนต้องใช้พลังงาน ไปจนถึงระบบปรับอากาศ… การจริงจังที่จะลดการใช้พลังงานในโรงเรือน รวมทั้งลดภาระระบบปรับอากาศในโรงเรือน ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดตัวแปรผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมกำไรตอบแทนจากการลดได้อีกเช่นกัน

4. Water Wise หรือ ฉลาดใช้น้ำ

น้ำสะอาดที่เป็นน้ำใช้นั้น โดยข้อเท็จจริงแล้ว มีขั้นตอนและขบวนผลิตให้ได้น้ำสะอาด ไม่ต่างจากการขั้นตอนและขบวนผลิตน้ำเพื่อบริโภคดื่มกินเลย “การใช้น้ำให้คุ้ม” จึงเป็นวาระที่ควรพิจารณาในหลายๆ แง่มุมของธุรกิจ… ซึ่งคำแนะนำสองประเด็นเกี่ยวกับ “น้ำทิ้ง” ก็คือ… ลดปริมาณน้ำทิ้งให้ได้มากที่สุด กับ เอาน้ำทิ้งไปทำประโยชน์ต่อให้ได้มากที่สุด ซึ่งกรณีนี้ก็สามารถให้ผลตอบแทนจากการลดได้โดยตรงอีกเช่นกัน

5. Donate หรือ บริจาค

“ของเก่า” สำหรับบางคน หลายกรณีเป็นของมีค่าสำหรับบางคนเสมอ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ของส่วนเกินจากบางคน ไม่มีค่าถึงขนาดต้องซื้อ การให้ฟรีหรือการบริจาคให้คนที่อาจจะใช้ประโยชน์ได้ จึงเป็นทางออกที่ง่ายต่อการตัดสินใจของผู้รับ… ประเด็นก็คือ การบริจาคต้องข้าม “รู้สึกเสียดาย” ไปให้ได้ก่อน… เท่านั้นเอง

6. Go Local หรือ ไปถึงที่

ธุรกิจบางอย่างมีลูกค้ากระจุกอยู่ในบางพื้นที่ และ ใช้ระบบขนส่งป้อนสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่ายหรือเครือข่ายลอจิสติกส์ส่งมอบสินค้า ซึ่งก็ดีงามไม่มีอะไรต้องกังวล… แต่ในบางกรณีที่สามารถ “ลดต้นทุนให้ลูกค้า” โดยตัดค่าขนส่งออกไปจากโครงสร้างราคา ด้วยการเข้าไปตั้งศูนย์ หรือสาขาในถิ่นของลูกค้าโดยตรง เช่น ธุรกิจค้าส่งแชมพูครีมนวดผมสำหรับธุรกิจทำผมและเสริมสวยซึ่งเป็น B2B Model มีลูกค้ากระจุกตัวอยู่สุราษฎร์ธานี… การไปตั้งโรงกวนแชมพูที่สุราษฎร์ธานีทำให้โรงงานแชมพูเล็กๆ มีอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัด และพบว่า อสังหาริมทรัพย์กลายเป็นโมเดลเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจหลักได้ด้วย

7. Renewable Energy หรือพลังงานหมุนเวียน

พลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy ดูผิวเผินจะเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน ทั้งการตั้งแผงโซลาร์เซลล์ หรือ ยกกังหันลมเอาไว้ปั่นไฟฟ้าใช้… แต่ท่านที่ผ่านประสบการณ์วางแผนใช้พลังงานหมุนเวียนจะทราบว่า ถ้าไม่มีความรู้ระดับ “รู้เป็นอย่างดี” จะไม่มีทางกล้าเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืนได้… การเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนจึงต้องการทั้ง “ชุดความคิด หรือ Mindset และ ความรู้ หรือ Knowledge” ในโอกาสการตัดสินใจเสมอ

8. Reduce Fossil Fuel หรือ ลดเชื้อเพลิงฟอสซิล

การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในธุรกิจ ส่วนใหญ่จะวนเวียนอยู่กับรถ ทั้งเพื่อการ “ขนคนและขนของ” ซึ่งทางเลือกการลดเชื้อเพลิงฟอสซิล ก็แค่เลิกใช้รถน้ำมัน ซึ่งในบรรจุบันยังต้องคิดหนักอยู่ เพราะหลายๆ เงื่อนไขที่ “ธุรกิจค้าควัน” ยังไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงเป็นหลัก… คำแนะนำตอนนี้คือ รอและลดการขน ให้ได้มากที่สุด รวมทั้งไม่ใช้บริการรถยนต์ที่เอาดีเอาเด่นกับเชื้อเพลิงที่ปล่อยฝุ่นควันและ PM 2.5 และขนาดอื่นๆ อย่างเครื่องยนต์ดีเซลโดยไม่จำเป็น

9. LEED หรือ ตรวจรับรององค์กรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Leed หรือ Leadership in Energy and Environmental Design เป็นขั้นตอนการออกแบบองค์กรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม… โดยทั่วไปจะใช้บริการองค์กร หรือ สถาบันที่ออกใบรับรองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม มาตรวจประเมินและให้คำแนะนำประเด็นๆ ต่างในภาระกิจขององค์กร เพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดในหลายๆ ประเด็น รวมทั้งประเด็นข้างต้นที่ยกมาก่อนหน้านี้ด้วย… ซึ่งทั้งหมดเป็นแนวทาง “เพิ่มประสิทธิภาพ” เพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริงทั้งสิน

ประเด็นคือ LEED มีต้นทุนการจัดการพอตัว และหลายกรณีล้มเหลวเพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ได้รับการรับรองได้จากปัญหาภายในที่ขาด “ความร่วมมือ” ของคนในองค์กร… โดยส่วนตัวผมพอมีประสบการณ์ล้มเหลวหลายกรณีเล่าถึงจากงานที่ปรึกษาที่เคยทำ ส่วนที่สำเร็จ… ก็มีมากเหมือนกัน

10. Incentivize Your Customers หรือ จูงใจลูกค้าให้มีส่วนร่วม

การขอให้ลูกค้าช่วยเหลือหรือเสียสละด้านสิ่งแวดล้อมให้ธุรกิจ… ถือเป็นแนวคิดตลกร้ายที่ไม่ง่ายจะสำเร็จ กรณีงดแจกถุงพลาสติกใส่ของในซุปเปอร์มาร์เก็ต ถ้าซุปเปอร์มาร์เกตไม่พร้อมใจกันหักดิบ เพราะแรงจูงใจเรื่องลดต้นทุนได้เยอะมากๆ ถือเป็นโอกาสที่พลาดไม่ได้… ถุงพลาสติกก็คงยังมีอิทธิพลกับสังคมเราอยู่

ผมเคยนั่งอยู่ในห้องพิจารณาธุรกิจน้ำดื่มบรรจุขวด ที่อยากรับผิดชอบรับคืนขวด PET และฝาขวด กับแนวคิดคืนขวดคืนเงิน… แต่สุดท้ายตัวเลขกำไร กับความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ ก็ทำให้เรื่องคืนขวดคืนเงินไม่มีการพูดถึงอีก

ในแวดวงการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อม… ทุกคนรู้ดีว่าตัวแปรใหญ่ที่สุดเรื่องสิ่งแวดล้อมคือผู้บริโภค หรือลูกค้า ซึ่งการรณรงค์ได้ผลไม่มาก เหมือนกรณีการรณรงค์เรื่องบุหรี่หรือเหล้า หรือแม้แต่การรณรงค์เรื่องสารพิษในภาคเกษตร… ที่กลายเป็นแค่เรื่องเศร้าที่ “ทำไปเถอะ ดีกว่าไม่ทำอะไร”

ในทัศนของผมจึงมองว่า… การจูงใจลูกค้าเรื่องสิ่งแวดล้อมสำหรับธุรกิจ เป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการ แต่ผมก็เห็นมีลูกค้าของหลายธุรกิจที่ร่วมมือเรื่องสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เก็บแยกขยะ ไปจนถึงเข้าร่วมกิจกรรมปลูกป่าไม่น้อย

สุดท้าย… ธุรกิจที่ต้องการคำปรึกษาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งใบรับรองด้านสิ่งแวดล้อม ผมพอมีข้อมูลช่วยเหลือและแบ่งปันในบางมิติอยู่บ้าง… Line: @reder ครับ!

#FridaysForFuture

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts