Economies of Scale หรือ ขนาดสัดส่วนความคุ้มทุน หรือ บางทีก็แปลตรงๆ ว่า “การประหยัดต่อขนาด” ซึ่งผมขออนุญาตเป็นชนกลุ่มน้อย… ใช้คำว่า “ขนาดสัดส่วนความคุ้มทุน” ซึ่งยังมีชื่ออื่นๆ ที่เรียกต่างกัน แต่เป็นแนวคิดเรื่อง “อัตราส่วนของต้นทุน ต่อ ปริมาณการผลิตสินค้า หรือ อัตราส่วนของต้นทุน ต่อ การทุ่มเททรัพยากรเชิงปริมาณเพื่องานบริการ” คำอื่นที่มีพูดถึงอะไรทำนองนี้มาก่อน… หลักๆ ก็จะมีคำว่า Experience Curve และ Returns to Scale ซึ่งทั้งสองวลีเป็นคำเก่ามากหน่อย ซึ่งเก่าจนตำราเศรษฐศาสตร์ และ ตำราธุรกิจในปัจจุบันส่วนมาก ไม่เห็นมีการใช้กันเท่าไหร่แล้ว… จะเจอแต่คำว่า Economies of Scale ซึ่งโดยทั่วไปก็จะมาคู่กับคำว่า Economies of Scope… ซึ่งวันนี้ผมจะยังไม่โฟกัสแบบข้อมูลเปรียบเทียบสองโมเดลนี้ เพราะในทางเทคนิคแล้ว… สินค้าและบริการส่วนใหญ่จะโฟกัสเพียงโมเดลอันใดอันหนึ่งในกลยุทธ์ หรือ ในแผนธุรกิจเท่านั้น
ตัวอย่างการขายน้ำดื่มบรรจุขวด… ต้นทุนน้ำดื่มขนาด 500 CC ขวดละ 4 บาท เมื่อผลิตครั้งละ 10,000 ขวด สามารถขายเอากำไรที่ราคาขวดละ 5 บาท… แต่ถ้าปรับปริมาณการผลิตให้เป็น 100,000 ขวด ต้นทุนน้ำดื่มขนาด 500 CC เหมือนกันทุกอย่างจะอยู่ที่ขวดละ 3 บาท แถมยังสามารถขายเอากำไรที่ราคาขวดละ 5 บาท ได้เช่นเดิม…
การปรับขนาดกำลังผลิตให้มาก… จึงเป็นกลยุทธ์การเพิ่มกำไรให้ธุรกิจน้ำดื่มอย่างชัดเจน โดยเพิ่มขึ้นทั้งกำไรต่อหน่วย และ กำไรรวมจากปริมาณที่มากกว่า… เพียงแต่ในโลกความจริงของการค้าการลงทุนไม่ได้มีอะไรตรงไปตรงมาแบบ “มีสินค้ามาก ก็ขายได้มาก กำไรก็ยิ่งได้มาก” อยู่ในโมเดลการค้าในโลกความจริงเท่าไหร่
กรณีตัวอย่างการขายน้ำดื่มบรรจุขวด… ถึงแม้ตอนปรับปริมาณเพิ่มขึ้นจาก 10,000 ขวด จะสามารถทำกำไรต่อขวดจาก 1 บาท 2 บาทได้ง่ายๆ แถมกำไรสุทธิยังเพิ่มจาก 10,000 บาท เป็น 200,000 บาท หรือ เพิ่มขึ้น 20 เท่าทันทีด้วย… แต่การคิดเพิ่มกำลังผลิตเป็น 1,000,000 ขวด ซึ่งต้องขยายกำลังผลิตอีก 10 เท่า… เพิ่มวัตถุดิบทั้งน้ำสะอาด ขวด ฝา และ หีบห่ออีก 10 เท่า… แถมยังต้องเพิ่มการขนส่งสินค้าไปยังจุดขายอีก 10 เท่า ซึ่งการเพิ่มกำลังผลิต และ โมเดลการจัดการเพิ่มขึ้น อาจจะไม่ได้ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยของสินค้าที่ผลิตต่ำลง ซึ่งหลายกรณีทำให้กำไรต่อหน่วยเพิ่มขึ้นด้วย… ในกรณีน้ำดื่มบรรจุขวดอาจจะผลิตที่ 100,000 ขวดได้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำสุดที่ราคา 3 บาท ในขณะที่การเพิ่มกำลังผลิตเป็นสองแสนขวด หรือ หนึ่งล้านขวด ซึ่งต้องเพิ่มเครื่องจักร คนงาน อาคาร และ รถขน… ซึ่งกลายเป็นต้นทุนในน้ำหนึ่งขวดที่ยังไงก็ต้องเพิ่มขึ้นสูงกว่า 3 บาทแน่นอน!
แต่ถ้าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาไม่ได้เพิ่มมากจนท่วมกำไร เช่น ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด 100,000 ต้นทุน 3 บาท… พอผลิตเพิ่มเป็น 200,000 ขวด กลับมีต้นทุนเท่าตอนผลิตเพียง 10,000 ขวดคือ 4 บาท… ทำให้การขายน้ำดื่มราคา 5 บาทจำนวน 100,000 ขวดต้นทุน 3 บาท… มีกำไรเท่ากับการขายน้ำดื่ม 200,000 ขวดที่ต้นทุน 4 บาท… อะไรแบบนี้
กับดักเรื่อง Economies of Scale หรือ ขนาดสัดส่วนความคุ้มทุน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการออกแบบและวางแผนเรื่องขนาดของธุรกิจ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนทำธุรกิจจะต้องรู้จักคำสำคัญอีกหนึ่งคำในประเด็นขนาดสัดส่วนความคุ้มทุน หรือ Economies of Scale ก็คือ… MES หรือ Minimum Efficient Scale หรือ สัดส่วนขั้นต่ำที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งก็คือ ขนาดสัดส่วนความคุ้มทุนที่จะเห็นปริมาณสินค้ากับต้นทุนและกำไรสร้างผลตอบแทนอย่างสมดุลที่สุด
ประเด็นก็คือ… โดยส่วนตัวผมเคยเห็นธุรกิจที่ “ยิ่งขายดี ยิ่งกำไรบาง” มาเยอะเหมือนกัน… ทั้งระดับค้าขายรายย่อยในตลาดนัด ไปจนถึงธุรกิจค้าส่งแบบยี่ปั๊ว–ซาปั๊ว ซึ่งหมุนเงินและหมุนสินค้าเป็นพันรายการจนไม่มีเวลาดูว่าอันไหนกำไรคุ้มแค่ไหน ได้แต่ทำแบบถัวๆ เฉลี่ยๆ เอา…
ความจริงถ้าโมเดลธุรกิจไม่มีอะไรซับซ้อน ก็สามารถหา MES หรือ Minimum Efficient Scale หรือ สัดส่วนขั้นต่ำที่มีประสิทธิภาพได้ไม่ยากหรอกครับ… แต่ถ้า Supply Chain ยุ่งเหยิง กับ ตัวแปรต้นทุนกำไรซับซ้อน ซึ่งก็มักจะเป็นธุรกิจใหญ่… ลองมองหาซอฟท์แวร์ต้นทุนมาช่วยก็ดีครับ
References…