การปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่ ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลได้กลืนกินสังคมโลกในทุกบริบทอย่างในปัจจุบันนั้น การออกแบบการเปลี่ยนแปลงระดับปฏิรูปทั้งหมด จำเป็นต้องเชื่อมโยงบริบททางการศึกษาเข้ากับแพลตฟอร์มดิจิทัล ให้ถึงขั้นที่สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากศักยภาพของดิจิทัล ไปสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้ได้ดีกว่าเป้าหมายเดิมอย่างที่เคยเป็นมา
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า… ระบบการศึกษาในยุคดิจิทัลเป็นคนละประเด็นกับ eLearning ที่มีเพียงกิจกรรมการเรียนการสอน หรือ Teaching/Learning Activities ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งการศึกษา หรือ Education ที่เป็นระบบนิเวศมหึมาห่อหุ้มอุ้มชูกิจกรรมการเรียนการสอนอยู่
ประเด็นทางการศึกษาในเชิงปฏิรูปเพื่อรองรับเทคโนโลยีดิจิทัลจึงมีมากกว่า eLearning ที่จำเป็นต้องคุยกันระดับแพลตฟอร์มดิจิทัลทางการศึกษา หรือ Digital Education Platform ซึ่งอย่างน้อยจะประกอบไปด้วย… School Management System หรือ SMS หรือ ระบบจัดการภายในสถานศึกษา… Student Information System หรือ SIS หรือ ระบบสารสนเทศทางระเบียน… School ERP หรือ ระบบวางแผนและจัดการทรัพยากรในสถานศึกษา… Learning Management System หรือ LMS หรือ ระบบบริหารกิจกรรมการเรียนการสอน หรือ ส่วนที่เป็น eLearning ซึ่งอาจรวมถึง Virtual Classrooms หรือ ห้องเรียนและบทเรียนในสภาพแวดล้อมจำลองแบบต่างๆ เป็นอย่างน้อย
ประเด็นก็คือ… การปฏิรูปการศึกษาคราวนี้เป็นวาระเดียวกับช่วงเวลาของ Digital Tranformation ของทุกอุตสาหกรรม และ อุตสาหกรรมการศึกษาก็ไม่ถูกยกเว้นอย่างชัดเจน โดยมีวิกฤตโควิดตอกย้ำความจำเป็นในการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน… ซึ่งอุตสาหกรรมการศึกษาถือว่าหนักน่วงเข้าขั้นต้องปฏิรูปใหญ่พร้อมกันถึงสองด้านคือ ปฏิรูปการจัดการ และ ปฏิรูปงานวิชาการ โดยมีทั้งสองด้านจำเป็นต้องบูรณาการด้วยเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมและทันเวลาด้วย… อีกต่างหาก
ปัญหาก็คือ… กรอบปฏิรูปการศึกษาระดับ Digital Transformation แม้จะเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในกิจกรรมทางการศึกษา และ ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในกิจกรรมสนับสนุนให้เกิดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ… แต่ทั้งหมดไม่ได้เริ่มต้นที่การซื้อเทคโนโลยี หรือ การสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาก่อน เหมือนสมัยตั้งโรงเรียนด้วยการสร้างอาคารสถานที่ก่อน แล้วค่อยไปว่ากันเรื่องเรียนเรื่องสอนทีหลัง
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร… การปฏิรูปการศึกษาระดับ Digital Transformation ถือเป็นทางบังคับที่ต้องเกิดแน่ เกิดจริงทุกพื้นที่ทั่วโลก… ส่วนจะช้าเร็ว หรือ มีประสิทธิภาพแค่ไหนอย่างไรนั้นจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง… ส่วนในทางเทคนิค การปฏิรูปการศึกษาระดับ Digital Transformation จะทำให้เกิด Education Management Platform ขึ้นอย่างแน่นอน
นั่นแปลว่า… บุคลากรทางการศึกษาทุกบทบาทและส่วนงาน จำเป็นจะต้องพัฒนาทักษะให้สอดคล้องรองรับการใช้เทคโนโลยีแพลตฟอร์มเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาด้วย
ความยากของการปฏิรูปการศึกษาระดับ Digital Transformation จึงวนกลับมาที่ปัญหาร่วมของโมเดลแพลตฟอร์มทุกรูปแบบตรงที่… มีสิ่งหนึ่งจึงจะมีสิ่งหนึ่ง หรือ มีคนใช้จึงมีแพลตฟอร์ม และ มีแพลตฟอร์มจึงจะมีคนใช้ หรือ เป็นปัญหาไก่กับไข่ที่บอกยากว่าอะไรต้องมาก่อน ซึ่งรบกวนการตัดสินใจของผู้ที่ต้องรับผิดชอบการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะผู้รับผิดชอบการขับเคลื่อนระดับนโยบาย ที่ต้องตัดสินใจทั้งการใช้เงินลงทุน และ การผลักดันผู้คนที่เกี่ยวข้องให้ปฏิรูปเปลี่ยนแปลง ถึงขั้นต้องออกจากพื้นที่สุขสบาย หรือ Comfort Zone ด้วย
ถึงตรงนี้ผมก็ได้แต่หวังว่า… แนวทางการศึกษาของประเทศเราที่กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งโดยข้อสังเกตุส่วนตัวเชื่อว่ากำลังหันไปในทิศทางที่สามารถพลิกทำการปฏิรูปการศึกษาระดับ Digital Transformation ได้ไม่ยากนักเมื่อโอกาสนั้นมาถึง… และหวังว่าเราจะได้เห็น Education Management Platform ที่ทรงพลัง จนทุกคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียและมีส่วนใช้แพลตฟอร์ม ยินดีปรีดากับการศึกษายุคแพลตฟอร์ม เหมือนที่คนทั้งโลกยินดีปรีดากับกับสังคมออนไลน์ จนช่วยกันสร้างโซเชียลอินเตอร์เน็ตสำหรับทุกคนให้เห็นอย่างทุกวันนี้