ทรัพยากรทางการศึกษาในยุค Lifelong Learning และ Knowledge Economy #ReDucation

ข้อถกเถียงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และ แนวทางการสร้างความยั่งยืนบน เศรษฐกิจฐานความรู้ หรือ Knowledge Economy หรือ Knowledge Based Economy… ซึ่งองค์ความรู้ที่อยู่ในรูปของทรัพยากรทางการศึกษา และ เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ได้กลายเป็น “บริการ” สาขาหนึ่งในกลไกทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนว่า… มีต้นทุนและค่าใช้จ่ายเพื่อนำเสนอบริการทั้งหมดให้คนได้เรียนรู้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างชัดเจน… ซึ่งต้นทุนการจัดการศึกษาที่แพงขึ้นตลอดเวลานี่เองที่กลายเป็นอุปสรรคสำคัญเมื่อต้องเอ่ยคำว่า “เท่าเทียม และ เหลื่อมล้ำ” ในการเข้าถึงบริการทางการศึกษาทั่วโลก… 

ที่สำคัญกว่านั้น… ทรัพยากรทางการศึกษา และ เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ในยุคที่เราท่านจะต้องใช้ชีวิตแบบอยู่กันไป–เรียนรู้กันไปตลอดชีวิตตามนิยาม Lifelong Learning อย่างในปัจจุบัน… ต้นทุนการเข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ที่ต้อง ReLearn เรื่อยๆ ก็ยิ่งกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เท่าเทียมได้ยากกว่าเดิมมาก

เอกสารจากธนาคารโลกเกี่ยวกับการลงทุนในอุตสาหกรรมการศึกษา และ Knowledge Economy หลายชิ้นชี้ว่า… โอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประเทศต่างๆ ที่จะแข่งขันในระบบเศรษฐกิจความรู้ หรือ Knowledge Economy บนเวทีโลก… โดยนิยามการเรียนรู้ตลอดชีวิตในมุมมองใหม่ของธนาคารโลกจะเป็นการจัดการศึกษาสำหรับ Knowledge Economy ภายใต้กรอบการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยครอบคลุมการเรียนรู้ตลอดวงจรชีวิต ตั้งแต่เด็กปฐมวัยจนถึงวัยชรา… ซึ่งนิยามของคำว่า “ระบบการศึกษา” นับจากนี้ถูกแนะนำให้พูดถึง “โครงสร้าง” ให้น้อยลง และ ให้ความสำคัญกับ “การเรียนรู้” ให้มากขึ้น… เพราะการเรียนรู้ในระบบนิเวศ Lifelong Learning จะเกิดขึ้นทั้งในโรงเรียน ชุมชน และ ที่ทำงาน และหรือ ทุกที่ๆ มีคนต้องการทักษะใหม่ๆ ซึ่งไม่ได้มีโครงสร้างที่ชัดเจนให้ดำเนินการได้ง่ายๆ อีกแล้ว

ประเด็นก็คือ… ระบบนิเวศทางการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ การเรียนรู้ในทุกช่วงวัย” นับจากนี้จะมีผู้เล่นมากขึ้นกว่าระบบโรงเรียน–ครู–นักเรียนอย่างที่เคยเป็นมาอย่างชัดเจน… แต่ปัญหา “ต้นทุนการเรียนรู้” ก็ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญอยู่เช่นเดิม ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกล้วนมีปัญหาซับซ้อนที่พัวพันอยู่กับบริการทางการศึกษา โดยเฉพาะปัญหางบประมาณ และ ปัญหาคุณภาพทางการศึกษา รวมทั้งปัญหาหนี้สินของผู้เรียนในหลายๆ ประเทศที่สนับสนุนการศึกษาผ่านระบบสินเชื่อ… รวมทั้งประเทศไทย

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ… สินเชื่อเพื่อการศึกษาในหลายๆ ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ อินเดีย เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร และ สหรัฐอเมริกา เป็นต้น… ล้วนแต่ถูกออกแบบมาเพื่อระบบโรงเรียน–ครู–นักเรียน ซึ่งบริบทการเรียนรู้แบบ Lifelong Learning เกือบทั้งหมดอยู่นอกเงื่อนไขการเข้าถึง “แหล่งทุน” เพื่อพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกช่วงวัยอย่างชัดเจน

คำถามสำคัญถึง “ระบบบริการทางการศึกษา” ในยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ หรือ Knowledge Economy ซึ่งองค์ความรู้ที่ผู้คนต้องได้เรียนรู้ตลอดเวลามีความสำคัญกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจทุกระดับ รวมทั้ง Productivities หรือ ผลิตภาพของประชากร และ ความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิมของผู้คน… ซึ่งระบบเดิมที่ออกแบบไว้สำหรับระบบโรงเรียน–ครู–นักเรียน ไม่สามารถตอบโจทย์ใหม่ทางการศึกษายุค Lifelong Learning ได้อีกแล้ว

โดยส่วนตัวผมคิดว่าตัวเองยังไม่เห็น “ข้อเสนอ” อะไรในเชิงระบบที่จะเข้ามาเสริมโครงสร้างทางการศึกษาแบบโรงเรียน–ครู–นักเรียน เพื่อให้ระบบการศึกษาไปถึง Lifelong Learning และ Knowledge Economy เลย… แม้กระทั่งข้อเสนอให้ยกเลิกหนี้สินในกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. และ ข้อเสนอให้เรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรีในบ้านเราตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา… ซึ่งแวดวงนักการศึกษาให้ความสนใจ และ ถกเถียงกันมาระยะหนึ่งถึงข้อดีข้อเสีย แต่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้พูดถึงขอบเขตเชิงเทคนิคบนวิสัยทัศน์ทางการศึกษาแบบ Lifelong Learning และ การใช้ประโยชน์กลไกทางการศึกษาใหม่ใน Knowledge Economy ซึ่งมีประเด็นแวดล้อมทั้งที่สำคัญ และ อ่อนไหวมากมายเพื่อให้ถึงเป้าหมายความยั่งยืนในระยะยาว… แถมยังได้กลิ่นการเมืองปนมาในเนื้อหาที่พูดคุยจากหลายๆ ท่านที่รู้ๆ กันอยู่ว่าใครเป็นใครจนต้องขอถอนหายใจหลายๆ เฮือกก่อนค่อยว่ากัน

References… 

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts