Educational Psychology… จิตวิทยาการศึกษา #ReDucation

กระแสการพัฒนาระบบ และ รูปแบบการศึกษาในวันที่ต้องออกจากกรอบ “การสอน และ ห้องเรียนเป็นศูนย์กลาง” ซึ่งตัดตรงไปทำความเข้าใจว่าคนเราเรียนรู้อย่างไร โดยเฉพาะพฤติกรรมการเรียนรู้ด้วยการเสพข้อมูลแล้วเปลี่ยนเป็นองค์ความรู้ หรือ Knowledge อันเป็นวิธีการกรองเอาแต่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ มาปรับแต่งเพิ่มเติมจนมีคุณค่าต่อการพัฒนาตนเองของทุกคน… 

การศึกษาพฤติกรรมการเรียนรู้ในทุกสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการพัฒนาตนเองของผู้เรียนหรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “การเรียนรู้” จึงจำเป็นต้องเข้าใจจิตวิทยาที่ผลักดันพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ และ บริบทการเรียนรู้ เพื่อนำไปพัฒนากลไกการสอน และ กลไกการเรียนรู้ผ่านการเสพข้อมูลแบบต่างๆ ซึ่งผู้เรียนจะนำมาพัฒนาตนเองในที่สุด… 

ข้อมูลจาก Kendra Cherry บน VeryWellMind.com ชี้ว่า… จิตวิทยาการศึกษาเป็นศาสตร์เกี่ยวกับ “วิธีที่ผู้คนเรียนรู้” ซึ่งเป็นแกนของการพัฒนาวิธีการสอน… กระบวนการสอน และ การกำหนดขอบเขตความแตกต่างในการเรียนรู้ระดับบุคคล… โดยทั้งหมดจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางสังคม อารมณ์ และ ความรู้ความเข้าใจของคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่วัยก่อนเรียน วัยรุ่น และ การเรียนรู้เพิ่มเติมตลอดอายุขัยโดยมีจิตวิทยาพัฒนาการ หรือ Developmental Psychology… วิทยาศาสตร์พฤติกรรม หรือ Behavioral Sciences หรือ Behavioral Psychology และ จิตวิทยาการรู้คิด หรือ Cognitive Psychology… ซึ่งถูกนำมาบูรณาการเพื่อที่จะรู้ให้ได้ว่า… เด็กคนหนึ่ง หรือ คนๆ หนึ่งเรียนรู้แบบไหนอย่างไร?

ส่วนที่น่าสนใจก็คือ… จิตวิทยาการศึกษาเป็นการนำศาสตร์ด้านจิตวิทยามาบูรณากับปรัชญาการศึกษา โดยมีหลักการที่เป็นวิทยาศาสตร์ซึ่งอธิบายรูปแบบ และ วิธีการเรียนรู้ของสมองที่คาบเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาตามทฤษฎีปัญญานิยม หรือ Cognitive Theory… โดยมีมุมมองหลักๆ ที่ใช้ในการพิจารณาราว 5 ด้านคือ

  1. Behavioral Perspective หรือ มุมมองด้านพฤติกรรม… โดยมีแนวทางการผลักดันพฤติกรรมด้วยแรงจูงใจภายนอกแบบต่างๆ เช่น การให้รางวัลนักเรียน หรือ การลงโทษนักเรียน… ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงมีประเด็นถกเถียงอ้างอิงจิตวิทยาการศึกษาในหลายแง่มุม
  2. Developmental Perspective หรือ มุมมองด้านส่งเสริมพัฒนาการ… โดยสนใจกลไก และ วิธีการที่เด็ก และ ผู้เรียนทุกวัยสามารถพัฒนาความรู้และทักษะ ซึ่งทฤษฎีพัฒนาการทางปัญญาของเพียเจต์ หรือ Piaget’s Stages Of Cognitive Development อธิบายกรอบด้านพัฒนาการทางการศึกษาเอาไว้ค่อนข้างครบ และ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง
  3. Cognitive Perspective หรือ มุมมองด้านสติปัญญา… โดยตรงไปพิจารณาความทรงจำ… ความเชื่อ… อารมณ์ และ แรงจูงใจที่ส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งนักจิตวิทยาการศึกษาสนใจการเกิด และ การมีอยู่ของแรงจูงใจในการเรียนรู้ และ การจดจำสิ่งที่ได้เรียนรู้ว่ารู้ได้อย่างไร รวมทั้งการนำสิ่งที่รู้ และหรือ สิ่งที่จำได้ไปใช้แก้ไขปัญหาอย่างไร
  4. Constructivist Perspective หรือ Constructivist Approach หรือ มุมมองการสร้างความรู้ด้วยตนเอง… ซึ่งเป็นทฤษฎีการศึกษาใหม่ที่มุ่งขับเคลื่อนประสบการณ์ และ องค์ความรู้ผ่านสภาพแวดล้อมและปัจจัยที่มีอิทธิพลกับผู้เรียน ซึ่งผู้เรียนจะ “ซึมซับ” เป็นประสบการณ์และความรู้ของตนเอง… โดยมีกระบวนวิธี หรือ Method ของ Lev Vygotsky อย่าง Zone Of Proximal Development หรือ ZPD และ Instructional Scaffolding ได้รับความสนใจอย่างสูง
  5. Experiential Perspective หรือ มุมมองผ่านประสบการณ์… โดยให้ความสำคัญกับประสบการณ์ และ การรับรู้ถึงอิทธิพลของประสบการณ์เดิมที่มีต่อการทำความเข้าใจข้อมูลใหม่ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับ Cognitive Perspective และ Constructivist Perspective เพียงแต่มุมมองผ่านประสบการณ์จะให้ความสำคัญกับประสบการณ์เดิมว่ามีอิทธิพลกับความคิด และ ความรู้สึกของผู้เรียน ซึ่งใช้แยกแยะความแตกต่างของผู้เรียนได้ชัดเจนขึ้นจนสามารถพัฒนารูปแบบการศึกษาด้วยแนวคิด Personalized Learning ได้เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น

จิตวิทยาการศึกษาเป็นศาสตร์เพื่อการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก ที่ตรงไปยังคุณค่า หรือ Value ที่เกี่ยวกับวิธีที่ผู้คนเรียนรู้ และยังสำคัญกับการพัฒนากลยุทธ์ทางการศึกษาและวิธีการสอน… ซึ่งนอกจากจะสนใจกระบวนการเรียนรู้แล้ว จิตวิทยาการศึกษาด้านต่างๆ ยังสนใจ และ โฟกัสปัจจัยด้านอารมณ์ สังคม และ ความรู้ความเข้าใจที่มีอิทธิพลต่อวิธีที่ผู้คนเรียนรู้ด้วย

อย่างไรก็ตาม… ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดก่อนอื่นก็คือ นักจิตวิทยาการศึกษา ซึ่งเป็นนักวิจัยด้านพฤติกรรมการศึกษา กับ นักจิตวิทยาประจำสถานศึกษา ซึ่งเป็นแพทย์ผู้ดูแลสุขภาพจิตของนักเรียนและครูในสถานศึกษา… เป็นบุคลากรทางการศึกษาที่ทำหน้าที่คนละอย่างกัน

คร่าวๆ พอเป็นข้อมูลต้นประมาณนี้ก่อนครับ!

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts