ความกังวลเกี่ยวกับมลพิษในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่ส่งเสริม EEC หรือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งความเห็นของคนส่วนใหญ่ย่อมมองว่าเนื้อในด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่คงมีปัญหายิ่งกว่าพื้นที่ไหนๆ ที่ไม่มีโรงงานและการขนส่งแออัดพลุกพล่านระดับนี้… จนทำให้การขยายแนวทางพัฒนาเขตเศรษฐกิจไปพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ สร้างความขัดแย้งไปทั่ว ซึ่งแม้แต่ในพื้นที่ EEC เองก็ยังมีความขัดแย้งด่าทอต่อว่ากันบนฐานสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น
ประเด็นก็คือ… เรามีข้อมูลทางเทคนิคที่ไม่ได้รับการยอมรับมากมาย ทั้งข้อมูลที่เชื่อถือมั่นใจได้ และข้อมูลหรือรายงานที่ความจริงกับข้อความในรายงานผิดหมดทุกบรรทัด จนบดบังข้อมูลอื่นๆ ที่น่าเชื่อถือไปหมด… สุดท้ายจึงเหลือแต่ความหวาดระแวง ปนเสียงเล่าลือไปถึงคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย วิตกกังวลและหวาดกลัวไปหมด
ผมได้เอกสารเผยแพร่ชื่อ รายงานการศึกษาสถานภาพการจัดการมลพิษทางอากาศในพื้นที่อุตสาหกรรมมาบตาพุดและศักยภาพในการขยายตัวของอุตสาหกรรมตามศักยภาพการรองรับด้านคุณภาพอากาศของพื้นที่ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดอย่างยั่งยืน ขนาด 104 หน้า ซึ่งเผยแพร่โดย โครงการศึกษาการจัดการมลพิษทางอากาศ ในพื้นที่อุตสาหกรรมมาบตาพุดเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกพอ. ทำอ้างอิงไว้
ในรายงานดังกล่าวอ้างถึง… คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 6/2550 เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2550 เห็นชอบหลักเกณฑ์พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการที่จะตั้งใหม่หรือขยายกำลังการผลิตในบริเวณพื้นที่ตำบลมาบตาพุดและตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองระยอง และตำบลบ้านฉาง เฉพาะนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง
เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของโครงการด้านอุตสาหกรรมและด้านพลังงาน ซึ่งภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวยอมให้มีการขยายกำลัง การผลิตหรือมีโครงการตั้งใหม่ได้ โดยกำหนดให้มีอัตราการระบายมลพิษ ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน หรือ NOx และ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือ SO2 ไม่เกินร้อยละ 80 ของปริมาณมลพิษที่ได้มีการปรับลดลงตามหลักเกณฑ์การปรับลดอัตราการระบายมลพิษ 80:20
ซึ่งผลจากการใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว พบว่า… ช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 อัตราการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิดประเภทโครงการด้านอุตสาหกรรมและด้านพลังงานของทั้งพื้นที่มาบตาพุดลดลงจาก ปี พ.ศ. 2550… ปีที่มีการเริ่มนำหลักเกณฑ์การปรับลดอัตราการระบายมลพิษ 80:20 มาใช้ในพื้นที่ โดยที่อัตราการระบาย NOx ลดลงประมาณร้อยละ 18 หรือ ลดลงประมาณ 447 กรัมต่อวินาที จากปี พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2561 ที่มีอัตราการระบายประมาณ 2,480 และ 2,033 กรัมต่อวินาที ตามลำดับ และอัตราการระบาย SO2 ลดลงประมาณ ร้อยละ 27 หรือ ลดลงประมาณ 660 กรัมต่อวินาที จากปี พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2561 ที่มีอัตราการระบายประมาณ 2,398 และ 1,737 กรัมต่อวินาที ตามลำดับ
รายงานถูกจัดทำโดย บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งประกอบการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 มีห้องปฏิบัติการ และ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม นักชีววิทยารวมทั้งนักเคมีให้บริการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมานานเจ้าหนึ่ง
ผมแนบรายงานฉบับเต็มและฉบับย่อที่เป็น Executive Summary เอาไว้ให้ด้วย… ผมคิดว่าเราควรจะคุยกันด้วยข้อมูล และควรจะเป็นข้อมูลที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งมีแนวทางและวิธีการมากมายที่สามารถดำเนินการให้โปร่งใส ยอมรับได้กับทุกฝ่าย ก่อนจะเกิดเหตุไม่ยอมกันจนสิ้นเปลืองทุกอย่างไปกับความขัดแย้งโดยไม่ได้อะไร
#FridaysForFuture ครับ!
References…