ศาสตร์ด้านผู้นำในวันที่โลกปรับเปลี่ยนเร็วจากความผันผวนไม่แน่นอน และยังซับซ้อนคลุมเครือด้วยเหตุปัจจัยและบริบทที่ไม่มีใครสามารถควบคุมอะไรได้มากนัก… ทักษะผู้นำยุคใหม่จึงละเอียดอ่อนกว่ายุคสมัยของผู้นำที่เป็น “ผู้บังคับบัญชา” มากมาย
ประเด็นก็คือ… ศาสตร์การเป็นผู้นำในวันที่โลกต้องการผู้นำแบบโค๊ชกีฬากับลูกทีมระดับแชมป์ในความดูแลมากกว่า… ซึ่งการโค้ช หรือ Coaching จะมีบทบาทสำคัญกว่าการสั่งการเหมือนในอดีต เพื่อใช้ดึงศักยภาพและประสิทธิภาพจากทีม… และทีมก็ประสานการทำงานกันเหมือนผู้เล่นในทีมกีฬาขณะแข่งขัน ที่ผู้นำไม่มีความจำเป็นจะต้องวิ่งลงหน้างานเพื่อแสดงบทบาทนำในการปฏิบัติ… เหมือนโค้ชกีฬาที่ไม่ต้องลงสนามเล่นกับลูกทีม แต่ก็อยู่เบื้องหลังผลงานของสมาชิกทีมทุกคน… และเป็นลมใต้ปีกของทุกผลงาน
การโค้ช หรือ Coaching เป็นกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่าง “ผู้นำที่ทำหน้าที่โค้ช” โดยเทคนิคหลักคือการชวนคิด หรือ ปลดล๊อคบางอย่างในตัวผู้รับการโค้ช หรือ Coachee… เพื่อให้มีศักยภาพสูงขึ้น มีผลงานดีขึ้น หรือมีความสุขอย่างที่เขาต้องการ ผ่านวิธีการและเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้ Coachee ได้เรียนรู้ ตระหนักในตัวเอง… เปลี่ยนแปลง และลงมือทำด้วยความคิด ความถนัด ความสามารถของ Coachee
ในแนวคิดการจัดการองค์กรสมัยใหม่… การโค้ชถือเป็นหน้าที่และคุณค่าของผู้นำ ซึ่งการโค้ชที่มีประสิทธิภาพถือเป็นวิธีการปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกทีม ซึ่งอาจจะมีทั้งช่วยเหลือ สอนและสร้างแรงบันดาลใจ โดยผู้นำจำเป็นต้องผสมผสานความสมดุล เพื่อเป็นโค้ชที่มีประสิทธิภาพภายใต้บริบทประจำวันของทีม… โดยมีทักษะสำคัญที่ผู้นำต้องใช้ในการโค้ช 6 ประการได้แก่
- Listen หรือ ฟังเป็น… การฟังจะได้รับปฏิกิริยาเชิงบวกเมื่อต้องโค้ช ซึ่งการฟังก่อนเป็นการทำความเข้าใจ Coachee ว่าต้องการความช่วยเหลืออะไร และมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายอะไร… การฟังและเสนอการช่วยเหลือ Coachee อย่างตรงเป้าหมาย หรือเสนอให้ได้เกินกว่าคาด จะสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน จนก่อประโยชน์ให้ทีมและองค์กรทุกมิติ
- Question and Converse หรือ ตั้งคำถามและสร้างการสนทนา… ประเด็นสำคัญของการโค้ชที่มีประสิทธิผลคือการส่งเสริมให้พนักงานไตร่ตรองวิเคราะห์และสำรวจความคิด ความต้องการและเป้าหมายของตน… การถามคำถามปลายเปิดที่ไม่มีเพียงแค่คำตอบ “ใช่ หรือ ไม่ใช่” มีความสำคัญอย่างมาก… บางกรณี การถามคำถามและการสนทนาที่ให้กำลังใจ สามารถช่วยให้ Coachee พบคำตอบของตนเอง ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถและเพิ่มความมั่นใจในตัวเอง นอกจากนั้น การตั้งคำถามยังช่วยให้เข้าใจสมาชิกในทีมได้ดีขึ้นด้วย
- Reflect หรือ การคืนความเห็นย้อนกลับ… การให้ข้อมูลย้อนกลับ หรือ Reflect หรือ Feedback หลังจากฟังจนเข้าใจแล้ว หาความชัดเจนจากคำถามจนถี่ถ้วนแล้ว ก็ถึงตอนที่ “ผู้นำต้องพูด” ให้ข้อมูลและเสนอความเห็นกลับ โดยเฉพาะ 3 ส่วนสำคัญคือ พฤติกรรม… ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น และ การแก้ไขปรับปรุงหรือชื่นชม… หลายกรณีมีคำแนะนำเรื่องการให้ข้อมูลย้อนกลับว่า… ให้ Coachee ได้ยินความคิดตนเองจากปากผู้นำจะดีที่สุด
- Recognise Strengths หรือ รับรู้จุดแข็ง … การสังเกตจุดแข็งของ Coachee และสมาชิกทีมรายบุคคลให้สามารถใช้ประโยชน์ หรือ ชี้ประโยชน์ให้เจ้าตัวเห็นได้ชัดเจน และส่งเสริมช่วยเหลือให้จุดแข็งนั้นๆ ให้โดดเด่นเป็นประโยชน์ต่อ Coachee ก่อน… จะส่งผลดีต่อทีมและองค์กรในภายหลังอย่างแน่นอน… เพราะคนที่ทำงานด้วยจุดแข็ง ย่อมทำออกมาได้ดีถึงดีมาก จนหลายกรณีสร้างการเปลี่ยนแปลงได้แน่นอน
- Challenge หรือ ท้าทาย… ซึ่งการโค้ชเป็นเรื่องของการรวบรวมทักษะและผลักดันผู้คนไปสู่ระดับถัดไป ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องท้าทาย Coachee โดยให้เป้าหมายใหม่ขับเคลื่อนพวกเขา ซึ่งหลักสำคัญของการท้าทายก็คือ… การผลักดันเป้าหมายที่ท้าทายอย่างสร้างสรรค์… หลีกเลี่ยงการให้ความสำคัญกับสิ่งที่แต่ละคนยังไม่ได้ทำ และพูดคุยถึงแต่ “แนวคิดที่จับต้องได้” กับ Coachee และสมาชิกทีมแทน
- Make it Real หรือ ทำให้เป็นจริง… ซึ่งการโค้ชจะเริ่มที่การสนทนา และหากจบการสนทนาอย่างเข้าอกเข้าใจ แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลง จะแปลว่า ผู้นำคุยแล้ว โค้ชแล้ว ตกลงกันแล้วแต่ไม่ได้ทำอย่างที่คุยหรือรับปากตกลงกันไว้… หลักสำคัญในการโค้ชจึงต้องให้ความสำคัญกับการปฏิบัติให้เป็นจริงตามที่พูดคุยตกลงกันไว้… แม้ผู้นำหรือโค้ชจะไม่เห็นด้วย ซึ่งวัฒนธรรมองค์กรอย่าง Amazon.com ที่ขับเคลื่อนด้วยหลักการ Disagree and Commit หรือไม่เห็นด้วยแต่เอาด้วยนั้น… นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า… วัฒนธรรมองค์กรแบบไม่เห็นด้วย แต่มาช่วยกันทำทั้งที่ไม่เห็นด้วย ถือเป็นจุดแข็งและข้อดีมากมาย
คร่าวๆ ประมาณนี้ก่อนครับ… ผมลอกการบ้านจาก TeamScapesLearning.com และคิดว่าประเด็นย่อยยังมีกรณีต่างๆ ให้พูดถึงอีกมาก… และโอกาสต่อไปคงได้เอามาเจาะรายประเด็นคุยกันอีกที
ครับผม!
อ้างอิง