การจัดการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ถือเป็นเรื่องใหญ่และเรื่องสำคัญไม่ต่างจากอาหารเสื้อผ้า ยาและที่อยู่อาศัย ซึ่งมีมิติบนบริบท “ที่ไม่ง่าย” เมื่อต้องจัดการให้ “เท่าเทียมและทั่วถึง” และยังต้องหาทางจัดการให้เพียงพอ ทั้งๆ ที่ทรัพยากรเพื่อการศึกษานั้น ขาดแคลนมาแต่ไหนแต่ไรในทุกมิติ จนโอกาสทางการศึกษา กลายเป็นประเด็นความเหลื่อมล้ำอีกหนึ่งประเด็น ที่มีการพูดถึงมาอย่างยาวนาน
ในการประชุม High Level Forum on Aid Effectiveness ครั้งที่ 4 ที่เมืองปูซานประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม ปี 2011… ซึ่งเป็นเวทีระดับนานาชาติที่จัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนาทั่วโลกในหลายๆ มิติ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือมิติทางการศึกษา โดยมีข้อเรียกร้องที่สำคัญมากข้อหนึ่งที่ระบุให้… ลดนโยบายการจัดการศึกษาแบบ One Size Fits All ภายใต้บริบทของรัฐ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการพัฒนาระบบการศึกษาทั้งในกลุ่มประเทศรายได้สูง รายได้ปานกลางและกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ… เหมือนกันหมด
การประชุม High Level Forum on Aid Effectiveness ครั้งที่ 4 หรือ HLF-4 จึงมีความเห็นพ้องภายใต้ความตกลง The Effective Institutions Platform ฉบับที่ 1 หรือ EIP1 โดยมีภาคีจากประเทศต่างๆ กว่า 60 องค์กรร่วมลงนาม… และความตกลง EIP1 คราวนั้นก็นำมาซึ่ง การศึกษาค้นคว้าและพัฒนา Effective Institutions Platform โดยมี Center for International Development, Harvard University เป็นศูนย์กลาง
ปี 2015… โครงร่าง หรือ Draft แรกของรายงานการศึกษาในกรอบ EIP1 ก็ถูกเผยแพร่ในหัวข้อ Mapping peer learning initiatives in public sector reforms in development โดยมีชื่อ Matt Andrews และ Nick Manning บนปกรายงานฉบับนี้
ผมยกเอาเหตุการณ์และเอกสารอ้างอิงชุดนี้มากล่าวถึงเพื่อจะพูดต่อว่า… ในบรรดาทฤษฎีทางการศึกษาทั้งที่ปรับปรุงขึ้นใหม่บนบริบทดิจิทัล และทฤษฎีที่สร้างขึ้นจากกรอบแนวคิดแบบดิจิทัลล้วนๆ มากมายนั้น… ดูเหมือน Peer Learning Theory จะได้รับโอกาสในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาระดับนานาชาติ เพื่อแก้ปม “เท่าเทียมและทั่วถึง” และแก้ไขผลกระทบจากแนวทาง “หนังสือเล่มเดียวสอนเด็กทุกคนทุกรุ่น” จนเห็นภาพ One Size Fits All ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายิ่งกว่าสภาวะดั้งเดิมที่เป็นอยู่
ปี 2016… รายงานการค้นคว้าวิจัยฉบับสมบูรณ์ชื่อ A Guide to Peer-to-Peer Learning: How to make peer-to-peer support and learning effective in the public sector? ฉบับ FOR CONSULTATION ก็ถูกแจกจ่ายสู่หน่วยงานต่างประเทศของชาติภาคี… เอกสารรวมปกขนาด 32 หน้า อัดแน่นด้วยข้อมูลจากการวิจัยภายใต้ความร่วมมือของ Center for International Development, Harvard University และ Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD
ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… EIP หรือ Effective Institutions Platform ถูกสร้างขึ้นบน Peer-To-Peer Learning ชัดเจน และมุ่งมั่นพัฒนาระบบการศึกษาครอบคลุม 3 เสาหลัก หรือ EIP’s 3 Pillars… ซึ่งเป็นทางลัดในการยกระดับมาตรฐานการศึกษา ที่มีโครงสร้างเชิงดิจิทัลที่ดีที่สุดในปัจจุบัน อันหมายถึง… ความสามารถในการ Scale หรือปรับขนาดการให้บริการด้านการศึกษาในระดับสาธารณะ ซึ่งเชื่อว่าจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า “ระบบการศึกษายุคเก่า” ที่หลายๆ ประเทศยังติดหล่มผลประโยชน์จากงบประมาณด้านการศึกษา ตั้งแต่ค่าก่อสร้างป้ายโรงเรียนด้วยหินแกรนิต ไปจนถึงงบอาหารกลางวันเด็กอนุบาล
ปัจจุบัน… Effective Institutions Platform ขับเคลื่อนผ่านเวบไซต์ EffectiveInstitutions.org ภายใต้ธงของ UNDP หรือ United Nations Development Programme ไปแล้ว… โดยมีชาติสมาชิกเข้าร่วมแล้วกว่า 60 ประเทศ รวมทั้งเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างอินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์และกัมพูชาครับ… ผมไม่เห็นชื่อประเทศไทยจากข้อมูลในมือผมที่มีอยู่ทั้งหมดตอนนี้… รวมทั้งยังไม่เห็นแนวทางหรือแผนปฏิรูปการศึกษาในยุค Digital Disrupted ระดับโครงสร้างและนโยบายของประเทศไทย ที่แตะต้องได้เลยในตอนนี้เช่นกัน… โดยความเห็นส่วนตัวผมเชื่อ Peer-To-Peer Learning อยู่แล้ว และคิดว่าแนวทาง EIP ของ UNDP และ OECD น่าสนใจอย่างมากในห้วงเวลานี้!
ยินดีแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูล/องค์ความรู้ที่มีอยู่เช่นเดิมครับ… Ad Line ด้วย QR-Code ใต้บทความนี้… ทักเข้ามาได้ครับ
References…