เป้าหมายของหลายๆ คนที่ไม่ง่ายจะทำให้เป็นจริง แม้จะเป็นเป้าหมายที่ “มีเงินก็ซื้อได้” แต่เพราะเงินยังมีไม่พอจึงยังซื้อไม่ได้ก็มากมาย ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะมีเป้าหมายที่ทำได้ไม่ง่าย ทั้งที่เป็นความยากมีอยากได้ทั่วไป หรือที่เป็นความหวังและความฝัน ซึ่งอยู่ไกลกว่าระดับเป้าหมายมาก
เป้าหมายสำหรับหลายคนที่อยู่บนหลักคิดอันเป็นเหตุบนผล ซึ่งมักจะเป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้ เพียงแต่ต้องพยายาม หรือ Effort กันหน่อย…
ความพยายามต่อเป้าหมายของหลายๆ คน จึงต้องการ “เหตุผลเพื่อเป็นแรงจูงใจในความพยายาม” ซึ่งในทางเทคนิคจะเป็นการหาเหตุผลที่มีน้ำหนักจนเป้าหมายดึงดูดใจสูงสุดถึงขั้น “เสียสละบางสิ่ง” เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย… หลายกรณีเป็นความพยายามถึงขั้น “ทนทุกข์” เพื่อให้เป้าหมายที่ว่าสำเร็จและได้มา ซึ่งคนที่ใส่ความพยายามเข้าไปจนบรรลุวัตถุประสงค์ ส่วนใหญ่จะหลงรักเป้าหมายที่ได้ครอบครองด้วยความพยายามหรือทนทุกข์เพื่อให้ได้มา
ในขณะที่ตำราจิตวิทยาสังคมกลับระบุว่า… ความพยายามของคนเราเป็นพฤติกรรมไม่ลงรอยกันของตัวตนกับความคิดตน โดยมีทฤษฎีความขัดแย้งทางปัญญา หรือ Cognitive Dissonance Theory ของ Professor Dr.Leon Festinger ซึ่งอธิบายว่า… มนุษย์มีความพยายามที่จะไม่ขัดแย้งกับตัวเอง ถึงขั้นที่การรับรู้ข้อมูลใหม่ๆ ที่ขัดแย้งความเชื่อในจิตใจตน ก็จะเกิดเป็นความขัดแย้งทางปัญญาเห็นเป็นความไม่สบายใจ และ หาทางลดระดับความขัดแย้งไม่ลงรอยกับความเชื่อนั้น โดยหลีกเลี่ยงข้อมูลความเชื่อที่จะสร้างความขัดแย้งทางปัญญาให้ตนเองทั้งหมด… นั่นทำให้ผู้คนส่วนใหญ่เชื่ออย่างไรก็เชื่ออย่างนั้น แม้ลึกๆ จะรู้อยู่เต็มอกว่าตนเชื่อมาผิดๆ
กรณีลัทธิความเชื่อที่กล้าประกาศว่าโลกจะแตกเมื่อนั่นเมื่อนี่ และ มีสาวกมากมายกราบไหว้นับถือและเชื่อตาม แต่เมื่อถึงกำหนดวันโลกแตกที่เชื่อกันเป็นตุเป็นตะ ยังคงพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเหมือนเมื่อวาน และ ไม่มีอะไรเปลี่ยนนอกจากทรัพย์สินมากมายหายไปเพราะบริจาคตามความเชื่อไปก่อนหน้า… แต่สาวกส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อต่อได้ว่า อาจเป็นเพราะแรงกุศลของพวกเขาที่บริจาคขนาดนั้นจึงทำให้โลกมีเช้าวันที่โลกควรจะแตกดับไปแล้ว เป็นเหมือนวันที่ผ่านมา
ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… ความขัดแย้งทางปัญญา หรือ Cognitive Dissonance ซึ่งอยู่เบื้อหลังความพยายาม หรือ Effort ขั้นดันทุรังนั้น… ในทางปฏิบัติจะถือว่าเป็น “พลังใจ” ที่ให้แรงขับเคลื่อนสู่เป้าหมายด้วยความเชื่อเดียวสูงมาก ซึ่งถ้าใช้เพื่อขับดันเป้าหมายเชิงบวก หรือ เป้าหมายที่เกิดประโยชน์กับตนโดยตรง เช่น อยากจบดอกเตอร์ก็อดทนเรียนจนจบแม้จะไม่ง่ายสักขั้นตอน… หรืออยากมีบ้านชานเมืองเป็นของตัวเองก็พยายามเก็บเงินจนพอวางดาวน์และหางานทำที่รายได้พอค่าผ่อนโดยไม่เดือนร้อน แม้จะต้องอดออมใส่เสื้อผ้าเก่า หรือ มือถือตกรุ่น
ส่วนความขัดแย้งทางปัญญา หรือ Cognitive Dissonance ที่ผลักข้อมูลอื่นๆ ที่รบกวนความเชื่อในตน โดยทุ่มเทความพยายาม หรือ Effort ขั้นดันทุรัง “ตามเป้าหมายของกลุ่ม” ซึ่งบางกรณีเกิดความขัดแย้งท้าทายกับกลุ่มความเชื่อแนวทางอื่นๆ จนเห็นเป็นความวุ่นวาย… แต่ก็ยังพยายามดันทุรังเชื่อต่อไปได้เป็นตุเป็นตะ เพื่อสร้างความชอบธรรมในใจตน ในการสร้างขัดแย้งให้จบด้วยเป้าหมายการมีชัยชนะเหนือกลุ่มความเชื่ออื่น…
References…