ในวิกฤต COVID-19 ครั้งนี้… ภาคการศึกษาดูเหมือนจะสาหัสไม่ต่างจากติดหวัดมรณะทั้งระบบ ที่ต้องปรับตัวไปใช้ e-Learning กันถ้วนทั่ว โดยเฉพาะฝั่งมหาวิทยาลัยที่ถูก Disrupted โดยปริยายจนครูบาอาจารย์รุ่น Boomer ดูเคร่งเครียดและโอดครวญกับภาวะจำยอมนี้… แต่ข้อมูลในมือผมหลายชิ้นก็ชี้ว่า มีหลายคนแอบยินดีอยู่ไม่น้อยที่โอกาสคราวนี้ จะได้ปฏิรูปการศึกษาไปในทาง Technology Based Education ที่ได้รับความร่วมมือโดยปริยาย ซึ่งหาไม่ได้อีกแล้ว
Technology Based Education เป็นคำใหญ่ที่ไม่ค่อยมีใครเอามาใช้นัก เพราะมีคำว่า e-Learning ให้ใช้เรียกที่เข้าใจง่ายกว่า… ซึ่งในจังหวะเวลาที่ฉุกละหุกแบบนี้ การลุยกันแบบ “หันซ้ายคว้าหันขวาหยิบ” เพื่อพาภาระงานสอนของครูบาอาจารย์ทุกท่าน ไม่เสียหายร้ายแรงจนกระทบต่อการพัฒนากำลังคนของเราเองเพราะเหตุสุดวิสัยแบบนี้
แต่หลังจากนี้… e-Learning คงทำกันแบบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบนี้ไม่ได้ และในฐานะที่ผมเป็นคนหนึ่งที่คลุกคลีอยู่กับ Learning Management Systems และ CAI หรือ Computer Assisted Instruction มาตั้งแต่ยุค 90… ผมคิดว่าพอมีประเด็นมาเล่าแบ่งปันหลายๆ ท่านที่อาจจะสนใจบ้าง
วันนี้ผมขอเริ่มด้วย ขั้นตอนการออกแบบหลักสูตร e-Learning กันก่อนน๊ะครับ!
1. เริ่มที่วิจัยในชั้นเรียน หรือวิจัยกับผู้เรียนอย่างละเอียด
ประเด็นนี้สำคัญมากที่จะเข้าใจนักเรียนของท่านก่อน ทั้งมิติของพื้นฐานความรู้ก่อนจะเรียนเนื้อหาหลักสูตรของท่าน และมิติของเทคโนโลยีการศึกษาตั้งแต่ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ เครื่องมือสื่อสาร เครือข่ายอินเตอร์เน็ต… ซึ่งท่านต้องรู้จักนักเรียนของท่านจริงๆ เพื่อเตรียมหลักสูตร ที่คนสอนกับคนเรียนอยู่ต่างสถานที่และสิ่งแวดล้อมกัน
นอกจากนั้น… ประเด็นจิตวิทยาการเรียนรู้ และการโน้มน้าวดึงดูดเชิญชวน ของเนื้อหาในหลักสูตรที่จำเป็นมากกว่าการเตรียมการสอนในชั้นเรียนแบบเก่าอย่างมาก… ซึ่งต้องรู้จักนักเรียนของท่านก่อนจึงจะออกแบบบทเรียนและหลักสูตรของท่านได้… ท่านที่มีข้อมูลจากการทำวิจัยในชั้นเรียนอยู่แล้ว ลองงัดออกมาตีความดูน๊ะครับว่า พฤติกรรมของนักเรียนของท่าน เปิดช่องทางไหนให้เจาะใจได้บ้าง… แต่ถ้ายังไม่มีผมแนะนำสองทางเลือกครับในเวลานี้… แบบแรกคือไปทำวิจัยกับนักเรียนของท่านมา ทำแบบสอบถามไปแคะเอา Insight ออกมาให้รอบด้าน… หรือจะใช้แบบที่สองคือการสัมภาษณ์เชิงลึกกับตัวแทนนักเรียนแบบ In-dept Interview และทำ Empathy Map มาด้วยยิ่งดี… ท่านที่ยังไม่ทราบว่า Empathy Map ทำยังไง คลิกที่นี่ได้ครับ
2. วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย
ข้อมูลจากงานวิจัยต้องวิเคราะห์ครับ… และผมอยากแนะนำให้เอา Empathy Map มาถอดจากงานวิจัยในชั้นเรียน หรืองานวิจัยกับผู้เรียน แต่ถ้าทำ Empathy Map จากข้อหนึ่งโดยนักเรียนของท่านมาแล้ว ก็ตรวจดูรายละเอียดว่าข้อมูลถูกต้องมั๊ย… พยายามตอบคำถาม Empathy ทั้ง 6 ประเด็นให้ครบ ซึ่งจะทำให้ท่านเหลืองานในขั้นการออกแบบเนื้อหาและหลักสูตรไม่มาก
3. กำหนดวัตถุประสงค์
โดยทั่วไปในขั้นนี้เราจะใช้ข้อมูลจากช่อง Pain และ Gain ของ Empathy Map มาสร้างวัตถุประสงค์… ถ้าท่านได้ Empathy Map จากนักเรียนหรือกลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก… ท่านอาจจะเจอ Pain และ Gain หลากหลายจนต้องกรอบวัตถุประสงค์โดยเลือกเอาส่วนไหนไว้และทิ้งส่วนไหนไป ซึ่งหลายครั้งต้องใช้กลยุทธ์ในการออกแบบเนื้อหาและหลักสูตรหลายระดับ เพื่อนักเรียนหลากหลาย Pain
4. ทำบทเรียนต้นแบบบนโครงสร้างหลักสูตรต้นแบบ
เราเรียกทั้งหมดว่าต้นแบบเพื่อจะได้เข้าใจตรงกันว่า… นี่ยังไม่ใช่เนื้อหาและหลักสูตรจริง ซึ่งท่านต้องรีบทำออกมาให้เร็วด้วยความเชื่อว่า ต้นแบบชุดแรกตอบวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้แล้ว… ต้นแบบบทเรียนควรสร้างขึ้นด้วยเทคนิคง่ายๆ ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด รวมทั้งใช้สื่อประกอบเนื้อหาที่สร้างขึ้นหรือหาได้ง่ายๆ
5. ทดสอบต้นแบบเนื้อหาการเรียน
การเอาเนื้อหาในบทเรียนที่เตรียมขึ้น ไปทดสอบใช้กับกลุ่มตัวอย่างและขอ Feedback จากนักเรียนอย่างรอบด้านจะสำคัญมาก หลายหลักสูตรอาจจะต้องทดสอบกับนักเรียนหลายกลุ่ม เพื่อให้ครอบคลุมความหลากหลายของ Persona นักเรียน… และนำ Feedback กลับมาปรับเนื้อหาบทเรียนและหลักสูตรต้นแบบ
6. ออกแบบฉากทัศน์ หรือ Scenario และผลิตสื่อประกอบบทเรียน
ขั้นนี้ให้ถือว่าท่านได้รูปแบบการนำเสนอเนื้อหาบทเรียนที่ชัดเจนแล้วว่า… นักเรียนของท่านสามารถรับสารที่เป็นความรู้และทักษะจากท่านด้วยเทคนิคการนำเสนอจากท่านแบบไหนอย่างไร สั้นยาวและเปลืองเวลาแค่ไหน… การออกแบบ Scenario ที่จะส่งสารแต่ละฉาก ต้องการสื่ออย่างวิดีโอ ภาพหรือสิ่งของเครื่องใช้อะไรอย่างไร เช่นการสอนวิทยาศาสตร์เรื่องแม่เหล็กไฟฟ้า ท่านอาจจะต้องเตรียมชุดทดลองอย่างลวดอ่อนแท่งโลหะและถ่านไฟฉายส่งให้นักเรียนที่ลงทะเบียนก่อนเรียนก็ได้ แล้วก็สาธิตการทดลองด้วยคลิปวิดีโอพร้อมอธิบายเนื้อหาบทเรียนไปด้วย… และอย่าลืมออกแบบเครื่องมือประเมินความรู้หลังเรียนเตรียมไว้ด้วย
7. รวบรวมเนื้อหาบทเรียน และออกแบบ Learning Journey ตลอดหลักสูตร

ในขั้นนี้ท่านจำต้องเข้าใจเรื่องบทเรียน วิชาและหลักสูตรเป็นอย่างดี ถ้ายังไม่เข้าใจก็ขอให้ท่านกลับไปศึกษาให้เข้าใจก่อนเพราะผมจะไม่ลงรายละเอียดในมุมนั้นให้… แต่จะแนะนำให้ท่านเอาเนื้อหาบทเรียนที่ออกแบบในทุกๆ บทที่มีและจำเป็นต้องมี… มาเรียงกันเพื่อสร้างลำดับการเรียนรู้ให้นักเรียนว่าต้องรู้อะไรก่อนอะไร และบทเรียนไหนต่อจากบทเรียนเรื่องอะไรจนครบและเข้าใจง่าย… อย่าลืมว่าผู้เรียนต้องเข้าใจและใช้ลำดับเหล่านี้ได้เองโดยไม่สับสน… และถ้าจะให้ดีก็อย่าลืมทำคู่มือการเรียนประกอบให้ชัดเจนด้วย
8. ทดสอบ Beta Courseware
ใช่ครับครั้งนี้ต้องทดสอบชุดใหญ่กับนักเรียนหรือกลุ่มตัวอย่าง… ซึ่งต้องทำเช่นเดียวกันกับการทดสอบต้นแบบบทเรียนคือ… ขอ Feedback จากนักเรียนอย่างรอบด้านเพื่อปรับ Learning Journey ให้ตรงกับกลุ่มนักเรียนมากที่สุด
9. เตรียม Manifest Data และข้อมูลทั่วไปของหลักสูตร
ขั้นสุดท้ายท่านต้องเตรียมข้อมูลเบื้องต้น เพื่อใช้ในการเผยแพร่หลักสูตร e-Learning ของท่าน… ตั้งแต่ชื่อหลักสูตร ชื่อคนทำหลักสูตร คำโปรย คำอธิบาย คำแนะนำหรือแม้แต่ข้อความประชาสัมพันธ์ รวมทั้งคำสำคัญที่ใช้สืบค้น หรือ SEO Keyword… ซึ่งข้อความชุดนี้จะต้องใช้ตอนบรรจุ Courseware ของท่านลงระบบหรือ LMS… ที่ไม่ว่าท่านจะทำเองหรือส่งผ่านผู้ดูแลระบบ ข้อมูลเหล่านี้ล้วนจำเป็นและสำคัญอย่างมากไม่แพ้เนื้อหาในบทเรียนเลย
ขั้นตอนทั้ง 9 เป็นเพียงขั้นตอนคร่าวๆ ที่หลายท่านอาจจะพอเห็นภาพบ้าง ในขณะที่หลายท่านคงยิ่งงงกว่าเดิม เพราะเป็นเนื้อหาค่อนข้างเฉพาะเจาะจงพอสมควร… ซึ่งผมเพียงอยากให้เข้าใจเป็นเบื้องต้นเพียงว่า… การทำ e-Learning ต่างจากการสอนกันผ่าน Video Call หรือ Video Conference อย่างมาก… ซึ่งการผลิตคอร์สเรียนออนไลน์ หรือ e-Learning Course มีมากกว่าการทำ Video Conference Teaching ที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ e-Learning ทั้งหลักสูตรเท่านั้น… ซึ่งจุดอ่อนจุดแข็งของเครื่องมือสื่อสารออนไลน์และ Digital Contents แบบต่างๆ ที่นำมาใช้พัฒนาหลักสูตรเพื่อการสอนออนไลน์นั้น จำเป็นต้องใช้อย่างเหมาะสมและออกแบบไว้อย่างดี หาไม่แล้ว… e-Learning จะเป็นเพียง ความยุงยากซ้ำซ้อนที่ไม่มีอะไรแตกต่างจากการเรียกนักเรียนเข้าห้องแล้วสอนให้จบๆ ชั่วโมงแบบเดิม
จนคุณค่าของ e-Learning ถูกบิดเบือนจากคนที่ไม่เคยสัมผัส หรือเรียนผ่าน e-Learning ที่ถูกต้องครบถ้วนมาก่อนด้วยซ้ำ!!!
ถึงตรงนี้มี 2 ประเด็นที่ต้องเข้าใจก่อนก็คือ… หนึ่งคือ Mindset เรื่อง e-Learning คืออนาคตของการศึกษา… และสองคือ… e-Learning สร้างคนด้วยปรัชญาการศึกษาที่ต่างจากการเรียนในชั้นเรียนจนเทียบกันไม่ได้ในหลายๆ กรณี… จังหวะในวิกฤต COVID-19 คราวนี้จึงเหมาะเหลือเกินที่จะให้ความรู้ความเข้าใจเรื่อง e-Learning ที่ถูกต้อง และนำมาประยุกต์ใช้งานจนกลายเป็น Lifestyle Learning ซึ่งเป็นขั้นต่อไปของยุคสมัยที่การเรียนรู้ จะเกิดขึ้นทุกเช้าวันใหม่ เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงในโลก VUCA ที่ผันผวนไม่แน่นอน ซับซ้อนและคลุมเครืออย่างยิ่ง