เรากำลังอยู่ในยุคที่ “ความเป็นส่วนตัว” มีเพียงม่านบางๆ ที่พร้อมจะหลุดหายฉีกขาด เพียงมีแรงลมจากปีกผีเสื้อที่บินผ่านเท่านั้น… และผมกำลังพูดถึงข้อมูลข่าวสาร ภาพถ่าย คลิปส่วนตัวและการสอดส่องพฤติกรรมผู้คน ผ่านกลไกการรักษาความปลอดภัย ที่ดำเนินไปได้อย่างชอบธรรม… รวมไปถึง การเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวทางตรงและอ้อม หรือข้อมูลส่วนตัวที่เจ้าของข้อมูลรู้ตัวว่ามีการบันทึกจัดเก็บข้อมูล และการบันทึกจัดเก็บข้อมูลโดยที่เจ้าของข้อมูลไม่รู้เห็นและเข้าใจว่า… เก็บข้อมูลของเขาตอนไหนและเอาไปใช้ทำอะไร
กรณีพิพาทระดับสงครามการค้าจีนสหรัฐ โดยมีข้ออ้างเรื่องเทคโนโลยีที่หัวเว่ยใช้ มีการบันทึกจัดเก็บและส่งข้อมูลโดยละเมิดมากมายกลับไปจีน ซึ่งเป็นข้ออ้างที่มีน้ำหนักอย่างมาก… ซึ่งประเด็นการเฝ้าติดตามข้อมูลบุคคล บันทึกและนำไปใช้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสังคม เศรษฐกิจ การค้าและการเมืองการปกครองมานาน การเก็บและใช้ข้อมูลก็มีทั้งด้านดีและด้านมืด ในขณะที่การละเลยไม่บันทึกจัดเก็บข้อมูลก็มีข้อเสียและจุดบกพร่องชัดเจนหลายอย่าง… โดยเฉพาะประเด็นเรื่องข้อมูลที่ควรเป็นความลับ แต่ดันมีคนรู้เห็น จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้เสมอ ทั้งในนิยายและชีวิตจริง
Thomas Brian Reynolds ในฐานะผู้บริหารระดับสูงใน NSA หรือ National Security Agency หน่วยงานข่าวกรองหลักอีกหน่วยหนึ่งที่ก่อตั้งขึ้นภายใต้กฏหมายความมั่นคงของสหรัฐ… และ Thomas Brian Reynolds ได้ไปพบวุฒิสมาชิก Phillip Hammersley ในสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง เพื่อขอเสียงสนับสนุนเพื่อผ่านกฏหมายการเฝ้าฟังคนอเมริกัน หรือกฏหมายสอดแนมประชาชนที่ผลักดันโดย NSA… แต่วุฒิสมาชิก Phillip Hammersley นอกจากจะไม่เอ่อออด้วยแล้ว ยังท้าทายด้วยการบอกจุดยืนที่ต้องการล้มกฏหมายฉบับนี้กับ Thomas Brian Reynolds อย่างท้าทาย… และนั่นนำมาซึ่งเหตุฆาตกรรมอำพรางวุฒิสมาชิก Phillip Hammersley ที่ถูกจัดฉากเหมือนการตายจากโรคประจำตัว ในสวนสาธารณะแห่งนั้น
แต่ภาพทั้งหมดถูกถ่ายไว้จากกล้องถ่ายวีดิโอของนักปักษีวิทยาชื่อ Daniel Leon Zavitz ที่ตั้งกล้องถ่ายวีดิโอเอาไว้อีกฝากหนึ่งของบึงเพื่อบันทึกกิจกรรมของนกน้ำในบึงเพื่อการวิจัย… และความวุ่นวายปั่นป่วนขั้นหายนะก็เริ่มขึ้น เมื่อ Thomas Brian Reynolds รู้ว่าตนถูกแอบถ่ายขณะกำลังฆาตกรรมวุฒิสมาชิก
นั่นเป็นฉากเปิดของหนังเรื่อง Enemy of the State ซึ่งออกฉายช่วงปลายเดือนพฤษจิกายน ปี 1998… หนังฉายภาพกลไกการดักฟังโดยหน่วยงานความมั่นคง ด้วยข้ออ้างความมั่นคงปลอดภัยของชาติ และขอสิทธิ์ “การละเมิดความเป็นส่วนตัว” ของพลเมืองคนไหนก็ได้
เรื่องราวในหนังเข้มข้นขึ้น เมื่อฝ่าย NSA ต้องการทำลายหลักฐานการฆาตกรรมที่ Daniel Leon Zavitz ได้ไป… และการไล่ล่า “ในนามความมั่นคง” ที่ NSA ทำกับ Daniel Leon Zavitz ไปตามถนนก็ทำให้นักปักษีวิทยาเคราะห์ร้าย ถูกรถดับเพลิงชนตายบนถนนระหว่างถูกไล่ล่า… แต่เรื่องก็ไม่ได้จบง่ายๆ แค่นั้น เพราะก่อนหน้านั้น Daniel Leon Zavitz ไปเจอเพื่อนเก่าจากมหาวิทยาลัยเดียวกันในร้านขายชุดชั้นในสตรี ชื่อ Robert Clayton Dean ผู้กำลังเลือกของขวัญให้ภรรยาเป็นชุดชั้นในราคาแพงอยู่… กล้องวงจรปิดในร้านจับภาพหลักฐานสำคัญถูกย่อนใส่ถุงของขวัญในมือ Robert Clayton Dean… และทนายความคดีแรงงานอย่าง Robert Clayton Dean ผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ก็กลายเป็นเป้าหมายลำดับต่อมา
จะว่าไปแล้วบทหนังเรื่องนี้ ก็ไม่ได้มีอะไรใหม่หรือน่าตื่นเต้น แต่เทคนิคการถ่ายทำที่มุ่งนำเสนอเทคนิคการแอบถ่าย ดักฟังและหาประโยชน์ในทางมิชอบจากการใช้ “เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคง” และทำให้ผู้ชมเห็นเหรียญทุกด้านของการ “สอดแนม แอบถ่ายและดักฟัง” ที่เป้าหมายสามารถกลายเป็น “เหยื่อ” ได้ในชั่วพริบตา ซึ่งการสอดแนม แอบถ่ายและดักฟัง เป็นเรื่องอ่อนไหวระดับสิทธิมนุษยชน ที่ใครก็ไม่สามารถหาเหตุผลมากล่าวอ้างเพื่อ “ละเมิดความเป็นส่วนตัวของคนอื่น โดยเฉพาะการกระทำโดยอำนาจรัฐต่อพลเมือง”
คำพูดของวุฒิสมาชิก Phillip Hammersley ก่อนถูกฆาตกรรมที่ว่า… “ความมั่นคงของชาติ ไม่ใช่สิ่งเดียวที่สำคัญกับประเทศนี้” ถือว่าถูกต้องที่สุด หากใครก็ตามที่ต้องการทำเรื่องไม่ถูกต้องดีงามภายใต้ข้ออ้าง “ความมั่นคงของชาติ” จนสร้างปัญหาให้ชาติมากมายเสียเองอย่างโง่เขลา
Enemy of State เป็นหนังดูสนุกเรื่องหนึ่ง… ได้ Will Smith มารับบท Robert Clayton Dean พร้อมดาราเบอร์ใหญ่อย่าง Gene Hackman… Jon Voight และอำนวยการสร้างโดย Jerry Bruckheimer… ได้ Tony Scott มากำกับการแสดง หนังใช้ทุนสร้างอลังการถึง 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็ทำเงินได้ถึง 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน…
สุขสันต์วันอาทิตย์ครับ!