Enneagram of Personality… นพลักษณ์แห่งตัวตน #SelfInsight 

Enneagram หรือ Enneagram of Personality หรือ นพลักษณ์ เป็นศาสตร์โบราณที่ค้นคว้าเพื่อใช้ในการทำความเข้าใจผู้คนผ่านบุคลิกลักษณะ ความต้องการ และ กลไกทางจิตใจ… โดยบุคลิกลักษณะ หรือ บุคลิกภาพของมนุษย์ได้ถูกแบ่งออกเป็น 9 จำพวก หรือ 9 ลักษณะ ซึ่งแต่ละจำพวกจะอธิบายลักษณะพื้นฐานทางบุคลิกภาพโดยรวมเอาไว้ เพื่อใช้ทำความเข้าใจ “พฤติกรรม กับ ความคิด และ จิตใจ” ของคนแต่ละจำพวก ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการจัดการผู้คนให้สอดคล้องกับบุคลิกลักษณะ ทั้งในแง่ของการจัดการตนเอง และ จัดการกับผู้อื่น… อย่างสร้างสรรค์

บทความของ Dr.Virginia Wiltse และ Helen Palmer เรื่อง Hidden in Plain Sight: Observations on the Origins of the Enneagram ซึ่งตีพิมพ์ลงวารสาร Enneagram Monthly ประจำเดือนตุลาคม–พฤศจิกายน 2015 ได้อ้างถึง บาทหลวง Evagrius Ponticus ซึ่งเป็นปราชญ์คนหนึ่งในนคร Alexandria ของอียิปต์ผู้ถ่ายทอดแนวคิด Eight Logismoi หรือ เรื่องใคร่ครวญทั้งแปด ซึ่ง บาทหลวง Evagrius Ponticus ใช้จำแนกพื้นนิสัยอันเป็น “บาปคิดร้ายแรง หรือ Deadly Thoughts” ที่มีรากฐานมาจากการรักตนเอง หรือ Love of Self  หรือ Philautia ในภาษากรีก… 

ต่อมา… เมื่อ George Ivanovich Gurdjieff หรือ G. I. Gurdjieff ได้เผยแพร่แนวคิดเรื่อง Law of Three หรือ กฏแห่งสาม ซึ่งอธิบายผ่านเส้นความสัมพันธ์ของ 3 สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่มักจะปรากฏอยู่ในบริบททางสังคมที่เกี่ยวพันธ์ถึงมนุษย์ทุกคภายใต้ความเชื่อนั้น โดยเฉพาะในคริสตศาสนา อันมีพระบิดาพระ–พระบุตร–พระจิต ซึ่ง G. I. Gurdjieff ใช้เลข 3 แทน Holy Affirming หรือ การยืนยันอันศักดิ์สิทธิ์… ใช้เลข 6 แทน Holy Denying หรือ การโต้แย้งอันศักดิ์สิทธิ์ และ ใช้เลข 9 แทน Holy Reconciling หรือ การประนีประนอมอันศักดิ์สิทธิ์… โดย Law of Three หรือ กฏแห่งสาม ของ G. I. Gurdjieff ซึ่งได้ใช้การลากจุดความสัมพันธ์ที่ “ไม่ได้คัดง้าง หรือ ประทะโดยปริยาย” นี่เองในการสร้าง Enneagram หรือ แผนภูมิ 9 ลักษณะที่ถ่วงดุลกันขึ้น… โดยมีนักปรัชญาชาวโบลิเวียผู้ก่อตั้ง Arica School หรือ Arica Institute นาม Oscar Ichazo ได้ใช้ Enneagram ในการสอนผู้คนให้รู้จักปรับปรุงตัว และ พัฒนาตนเองที่ Arica และ เป็นผู้ใช้คำว่า “Enneagram of Personality หรือ นพลักษณ์” เป็นคนแรก… ก่อนจะปรากฏแนวคิดอื่นๆ ที่ใช้แผนภูมิ Enneagram of Personality ในแนวทางประยุกต์อย่างหลากหลายตั้งแต่การประยุกต์ร่วมกับศาสนา และ ศาสตร์ด้านจิตวิญญาณ ไปจนถึงศาสตร์ด้านการจัดการธุรกิจสมัยใหม่ด้วย

กล่าวเฉพาะการใช้ในศาสตร์ด้านการพัฒนาตัวเอง และ ศาสตร์ทางด้านการจัดการธุรกิจ… Enneagram of Personality ถือเป็นพื้นฐานการออกแบบความสัมพันธ์ที่ใช้อธิบายผ่านแนวคิดทางกลยุทธ์แบบ “รู้เขา–รู้เรา” ซึ่งจะนำไปสู่หลักคิด และ หลักปฏิบัติที่สอดคล้องต่อบุคลิกลักษณะของตัวเอง และ คนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

Enneagram of Personality ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันภายใต้ศาสตร์ด้านการพัฒนาตัวเอง และ ศาสตร์ทางด้านการจัดการธุรกิจจะเป็นแผนภาพปัจจัยพื้นฐานที่สร้างบุคลิกภาพ 3 ด้าน อันได้แก่ Acting หรือ การลงมือทำ กับ Thinking หรือ การใช้ความคิด และ Feeling หรือ การใช้ความรู้สึก… ซึ่งพื้นฐานบุคคลิกภาพทั้ง 3 ด้านได้ทำให้ปรากฏเป็น “บุคลิกลักษณะ” ของคนทั้ง 9 จำพวก อันประกอบไปด้วย

  1. Perfectionist หรือ Reformer หรือ พวกนิยมความสมบูรณ์แบบ… จะเป็นคนไม่พอใจใคร หรือ อะไรง่ายๆ ชอบลงมือทำ จริงจัง ตรงไปตรงมา มาตรฐานสูง ทำอะไรต้อง “ดีที่สุด” ขยัน มีวินัย มีการวางแผน และ ตัดสินใจอย่างเป็นระบบ… แต่ก็เครียดง่าย และ ขี้หงุดหงิด
  2. Giver หรือ Helper หรือ พวกเอื้ออารีย์… จะเป็นกลุ่มคนที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ใจดี มีเมตตา สุภาพ ถ่อมตัว ชอบงานอาสา เป็นผู้ที่เสริมความแข็งแกร่งให้กับทีมได้ดี เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น มักเป็นที่รักของสมาชิกกลุ่ม… แต่คนกลุ่มนี้มักจะต้องการให้ผู้อื่นรู้สึกดีกับตนเอง จนบางครั้งทำให้ไม่เป็นตัวของตัวเอง หรือ เอาใจคนอื่นเกินไปจนตัวเองรู้สึกอึดอัดคับข้องได้
  3. Achiever หรือ นักสะสมผลงาน และ พวกนิยมความสำเร็จ… จะเป็นกลุ่มคนที่มีเป้าหมายชัดเจน มุ่งมั่น กระหายความสำเร็จ มีความสุขเมื่อเป้าหมายถูกพิชิต ชอบพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ยุ่งอยู่ตลอด ปรับตัวได้ดี… แต่ก็เป็นพวกท้าทาย และ กดดันตัวเอง รู้สึกแย่เมื่อล้มเหลว หรือ พ่ายแพ้ ขาดความใส่ใจต่อผู้อื่น มักได้รับการยอมรับจากผู้อื่นไม่มาก
  4. Individualist หรือ พวกเอาแต่ตัวเอง หรือ พวกอารมณ์ศิลปิน… เป็นพวกมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว ไม่เหมือนใคร ถูกมองว่าเป็นคนแปลก มีความเป็นตัวของตัวเองสูง เข้าใจในความแตกต่าง ทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้ดี ใช้เวลาในการสะท้อนประสบการณ์ในอดีต และ ใช้อารมณ์สร้างสรรค์ผลงาน… เมื่ออารมณ์ และ ตัวตนเป็นศูนย์กลาง คนกลุ่มนี้จะมีบุคลิกไปตามอารมณ์ตนอย่างมาก ทำงานที่ขัดแย้งกับตัวตน และ อารมณ์ตนได้ไม่ดี… เป็นผู้ตามที่แย่ และ ประเมินคุณค่าตนด้วยอารมณ์ที่อ่อนไหว
  5. Investigator หรือ พวกช่างสังเกต… เป็นพวกคิดละเอียด คิดก่อนพูด ชอบการวิเคราะห์ ชอบค้นคว้าหาความรู้ ช่างสังเกต ใช้แต่เหตุผล และ ข้อมูล เยือกเย็น สันโดษ รักษาระยะห่างกับผู้คน แบ่งขอบเขตความสัมพันธ์ระดับครอบครัว เพื่อน และ การงานอย่างชัดเจน… แต่คนกลุ่มนี้จะเข้ากับคนอื่นได้ยาก ไม่สนใจ “ความรู้สึกของใคร” และ ขัดแย้งกับคนอื่นได้ง่าย
  6. Loyalist หรือ ผู้ศรัทธาเชื่อมั่น… เป็นพวกนิยมระบบระเบียบ ใส่ใจรายละเอียด รอบคอบ นิยมความชัดเจนแน่นอน รับผิดชอบสูง เสียสละภายใต้ศรัทธา และ เชื่อมั่น… แต่คนพวกนี้จะปรับตัวยาก ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวได้น้อย ล้าหลัง และ วิตกกังวลง่าย
  7. Enthusiast หรือ คนกระตือรือร้น… เป็นพวกบ้าพลัง ซุกซน ช่างสงสัย สนใจหลายย่างพร้อมๆ กัน มองโลกในแง่ดี ชอบทดลองทำอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ เข้ากับคนง่าย เป็นที่รักของผู้คนรอบข้าง มองโลกเหมือนเป็นสนามเด็กเล่น คิดเร็ว ทำเร็ว เลิกทำก็เร็ว… จึงเป็นพวกเบื่อง่าย ไม่ชอบทำอะไรจำเจ ถูกมองว่าไม่อยู่กับร่องกับรอย และ ขาดความรับผิดชอบ
  8. Challenger หรือ นักนิยมความท้าทายและการแข่งขัน… เป็นพวกชอบทำอะไรยากๆ มีความรับผิดชอบสูง พึ่งตัวเอง ความสามารถสูง ทักษะสูง ภาวะผู้นำสูง… มักจะเป็นพวกไม่ฟังใคร เป็นสมาชิกทีมที่ไม่ชอบทำตาม หัวแข็ง รั้น กล้าได้กล้าเสียแบบไม่รอบคอบ และ อวดดีในบางครั้ง
  9. Peacemaker หรือ ผู้รักสันติ… จะเป็นพวกถ่อมตัว ใจเย็น เอื้อเฟื้อ สันโดษอย่างแท้จริง รอบคอบ และ เป็นมือประสานสิบทิศที่ได้รับการยอมรับ… แต่มักจะดำเนินชีวิตด้วยเป้าหมายลางเลือน ไม่พัฒนาตัวเอง รับความตึงเครียดได้ไม่มาก 

Enneagram of Personality หรือ นพลักษณ์ทั้ง 9 แบบมักถูกนักจัดการทรัพยากรมนุษย์ยุคใหม่ในหลายๆ องค์กรใช้ออกแบบทีม โดยประเมินการโยกย้ายแต่งตั้ง และ รับสมัครทีมด้วยการประเมินบุคลิกทั้งในแบบ “รวมทีม” ที่มีบุคลิกสอดคล้องกัน และ ที่ต้องมีคนหลากหลายบุคลิกเพื่อสร้างสมดุล… โดยจับคู่ใกล้เคียง และ คู่คานกันตามเส้น Enneagram… แต่ก็ต้องใช้เครื่องมือวิเคราะห์บุคลิกเฉพาะในการประเมินก่อน ซึ่งท่านที่สนใจลองค้นหาโค้ช หรือ สถาบันที่เปิดโปรแกรมฝึกอบรมเกี่ยวกับ Enneagram of Personality และ การใช้ Enneagram Test… สอบถามกันดูครับ

ส่วนการใช้ Enneagram of Personality หรือ นพลักษณ์ในชีวิตส่วนตัว… โดยทั่วไปก็จะใช้ประเมินตัวเอง และ คนใกล้ตัวเพื่อใช้ออกแบบความสัมพันธ์ที่ดีกว่าเดิมครับ… โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่ขาดกันไม่ได้ และ อยากปรับปรุงให้อยู่ดีมีสุขด้วยกัน!

References… 

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts