รายงานผลการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลประยุทธ์ 2 และ ข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลใหม่จาก TDRI #FridaysForFuture

รายงานเผยแพร่ระดับสาธารณะจาก TDRI เรื่อง การประเมินผลงานของรัฐบาลประยุทธ์ 2 และข้อเสนอแนะทางนโยบายต่อรัฐบาลใหม่ โดยคณะผู้ประเมินจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ซึ่งเผยแพร่ไว้ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2566… โดยรายงานฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารชุด “ข้อสังเกตนโยบายช่วงเลือกตั้งและประเมินผลงานรัฐบาล-ผู้ว่าฯ” ที่คณะผู้วิจัยจาก TDRI ได้นำเสนอต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การประเมินผลงาน 5 ปี รัฐบาลประยุทธ์ 1 ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 ต่อด้วยรายงาน การประเมินผลงานกลางเทอมรัฐบาลประยุทธ์ 2: การควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีน ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564… รวมทั้งรายงานการประเมินผลงานผู้ว่าฯ อัศวินและข้อเสนอแนะสำหรับผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ที่เผยแพร่เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 โดยรายงานนี้มุ่งประเมินผลงานของรัฐบาลประยุทธ์ในด้าน “มั่งคั่งและยั่งยืน” แต่ไม่รวมด้านความมั่นคงซึ่งคณะผู้ประเมินไม่มีชำนาญ

ทั้งนี้ การประเมินให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ผู้ประเมินเห็นว่าเป็นนโยบายหลัก หรือ Flagship ของรัฐบาล ทั้งในด้านความมั่งคั่ง ซึ่งรวมถึง เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC… การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม… การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล… การพัฒนาภาคเกษตร… การปฏิรูปการศึกษา และ การแก้ปัญหาแรงงาน…  ตลอดจนในด้านความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการคุ้มครองทางสังคม การต่อต้านคอร์รัปชัน และการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ… โดยข้อสรุปของรายงานด้านสิ่งแวดล้อมมีข้อมูล และ ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจหลายประการ… โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ หรือ Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy หรือ LT-LEDS

โดยข้อมูลจาก TDRI ชี้ว่า… รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้ให้คำมั่นของประเทศไทยในที่ประชุม COP26 เมื่อปี 2021 โดยประกาศเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และ เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2065 และ จะเร่งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ หรือ Nationally Determined Contribution หรือ NDC จากการลดการปล่อยลงร้อยละ 20-25 เป็นร้อยละ 30-40 เมื่อเทียบกับแนวโน้มการปล่อยตามปกติภายในปี 2030

นอกจากนี้รัฐบาลยังได้จัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ หรือ Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy หรือ LT-LEDS ซึ่งวางเส้นทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยใช้มาตรการต่างๆ โดยในทางปฏิบัติ… รัฐบาลได้ดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจผ่านกลไก T-VER  และ คณะรัฐมนตรียังได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสนับสนุนให้ภาคส่วนต่าง ๆ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย

อย่างไรก็ดี… เป้าหมายและยุทธศาสตร์ด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของรัฐบาลยังขาดความชัดเจนอีกมาก ทั้งในด้านการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อจูงใจให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ การแก้ไขปัญหากฎระเบียบด้านการซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และ การสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในราคาเหมาะสม

โดยในส่วนของการปรับตัวเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ… ร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเน้นการสร้างความตระหนักรู้และสนับสนุนการปรับตัวในระดับพื้นที่นำร่องเท่านั้น โดยยังขาดการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น แรงงานที่ทำงานกลางแจ้ง และ กลุ่มที่ผลกระทบจากนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น แรงงานในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง และผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีรายได้น้อย

TDRI จึงเห็นว่า รัฐบาลใหม่ควรมีนโยบายดังต่อไปนี้… 

  • ประการแรก ควรเร่งนำกลไกราคาคาร์บอนมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นภาษีคาร์บอนหรือตลาดคาร์บอนภาคบังคับ 
  • ประการที่สอง ควรเร่งปลดล็อคกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะการเปิดให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแบบ Peer-to-Peer 
  • ประการที่สาม ควรสนับสนุนการเข้าถึงเงินทุนและเทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในราคาที่เหมาะสม 
  • ประการที่สี่ ควรปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เข้มข้นมากขึ้น ทั้งในส่วนของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการสนับสนุนการปรับตัวของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง 
  • ประการที่ห้า ควรเร่งสร้างความตระหนักรู้ต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในส่วนของปัญหา PM2.5 รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้กำหนดให้การจัดการปัญหาดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ  และ ได้จัดทําแผนปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562  นอกจากนี้ รัฐบาลยังตั้งคณะทำงานวิชาการเฉพาะกิจเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการไฟป่า และ การเผาในที่โล่ง เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยใช้ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำให้ทราบอย่างชัดเจนว่า การเผาฟาง และ ตอซังข้าวเป็นต้นเหตุอันดับสำคัญ  รองลงมาคือ ข้าวโพด ส่วนอ้อยมีสัดส่วนที่น้อยกว่าที่เข้าใจ… คณะทำงานดังกล่าวได้เสนอแนะนโยบายที่เป็นรูปธรรมในมิติต่างๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน 

อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว  โดยรวมแล้ว รัฐบาลยังเน้นจัดการปัญหาเฉพาะหน้าในแต่ละปี โดยไม่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในส่วนของเมืองใหญ่ เช่นกรุงเทพมหานคร รัฐบาลมีมาตรการเฉพาะหน้าต่างๆ เช่น ห้ามรถบรรทุกเข้าเขตเมืองในชั่วโมงเร่งด่วน กวดขันและตรวจจับควันดำ ล้างถนนและฉีดละอองน้ำบนยอดตึกซึ่งไม่ใช่มาตรการที่ได้ผล  ส่วนในพื้นที่ชนบท รัฐบาลมีมาตรการห้ามเผาป่าและเศษวัสดุทางการเกษตรในบางช่วง

จุดอ่อนสำคัญของการแก้ไขปัญหานี้คือ… รัฐบาลไม่มีนโยบายแก้ไขปัญหาในระยะกลางและระยะยาวอย่างจริงจัง ทั้งการจัดการกับรถยนต์เก่าโดยเฉพาะรถบรรทุกและรถโดยสารประจำทางที่ปล่อยไอเสียเกินมาตรฐานยูโร 3 และ การให้เกษตรกรเลิกเผาเศษวัสดุทางการเกษตร โดยสนับสนุนการใช้เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวหรือจัดการเศษวัสดุทางการเกษตร  นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่ได้บัญญัติกฎหมายที่สามารถเอาผิดกับผู้ที่ก่อมลพิษข้ามพรมแดนในลักษณะของกฎหมาย Transboundary Haze Pollution Act ของสิงคโปร์

รัฐบาลใหม่ควรดำเนินนโยบายที่มีประสิทธิผลมากขึ้นในการแก้ไขปัญหา PM2.5 โดยดำเนินการดังนี้… 

  • ประการแรก ควรเร่งจัดการกับรถยนต์เก่าโดยเฉพาะรถบรรทุก รถโดยสารประจำทางโดยเฉพาะรถโดยสารของ ขสมก. โดยสนับสนุนให้เจ้าของรถปรับเปลี่ยนมาใช้รถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถที่มีมาตรฐานการระบายไอเสียระดับยูโร 5 หรือ ยูโร 6 ขึ้นไป โดยให้มาตรการจูงใจเช่นสิทธิในการลดหย่อนภาษี
  • ประการที่สอง ควรสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเครื่องจักรทางการเกษตรหรืออุปกรณ์ในการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดการเผา รวมถึงสร้างอาชีพทางเลือกแก่ผู้ที่เผาป่าเพื่อทำการเกษตรหรือเก็บของป่า
  • ประการที่สาม ควรกำหนดให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่เปิดเผยข้อมูลการผลิตฝุ่น PM2.5 ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสร้างแรงกดดันทางสังคมให้ลดการก่อมลพิษ และควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อลดการผลิตฝุ่น PM2.5 ที่มาจากแหล่งกำเนิดในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วยท่านที่สนใจรายงานฉบับเต็มที่มีข้อมูลทุกด้านการุณาคลิกที่นี่ครับ!

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts